นายเสริมศักดิ์ วงศ์สิทธิโชค ผู้อำนวยการ ฝ่ายค้าตราสารการเงิน บล.บัวหลวง เปิดเผยถึงการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นทั่วโลกในรอบนี้ว่า เป็นเพียงการปรับฐานเท่านั้น หลังจากราคาหุ้นขยับตัวขึ้นต่อเนื่องจากความคาดหวังแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และการกระจายฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในหลายประเทศที่มีประสิทธิภาพที่ดี ทำให้เชื่อว่าจะมีการเปิดเมืองขึ้นในอนาคต ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้น และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวสหรัฐฯ พุ่งขึ้นจากการปรับฐานรอบนี้
"เรามองว่าเป็นเรื่องปกติ และยังช่วยลดความร้อนแรงของราคาหุ้นบางตัวได้ โดยบางตลาดราคาลดลงมาแล้วประมาณ 10% จากระดับสูงสุดของปีนี้ ดังนั้นในเวลานี้ถือเป็นจังหวะเหมาะสมที่จะทยอยเข้าลงทุนระยะยาวในหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีระดับโลก"
เนื่องจากหุ้นกลุ่มเทคฯ ยังคงมีพื้นฐานแข็งแกร่งเติบโตล้อไปกับเมกะเทรนด์ของโลก แม้ในช่วงกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ราคาหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่หลายตัวจะปรับตัวลงแรง สะท้อนได้จากดัชนี Nasdaq 100 ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นเทคโนโลยีที่ขยับตัวลงมาแล้วประมาณ 10% หลังมีความกังวลเรื่องอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี จากระดับ 0.7% มาอยู่ที่ 1.5% ทำให้นักลงทุนต่างพากันปรับพอร์ตลดสินทรัพย์เสี่ยง
รายงาน BLS Top Funds ของหลักทรัพย์บัวหลวง แนะนำลงทุน 2 กองทุนหุ้นเทคโนโลยีต่างประเทศที่มีจุดเด่นสำคัญในเรื่องค่าธรรมเนียมการจัดการ และค่าธรรมเนียมซื้อกองทุนที่ต่ำ เมื่อเทียบกองทุนที่ลงทุนต่างประเทศ (FIF) ทั่วไป ประกอบด้วย
1.กองทุนเปิดบีแคป หุ้นยูเอส เอ็นดี 100 หรือ กองทุน BCAP-USND100 ที่มีการลงทุนล้อไปกับดัชนี Nasdaq 100 โดยจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นหลัก Nasdaq ที่มีมูลค่าตลาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก ซึ่งประเภททรัพย์สินที่ลงทุนจะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ 100 บริษัทในกลุ่มเทคโนโลยี เช่น หุ้น Apple, Tesla และ Amazon ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี ทั้งนี้ กองทุน BCAP-USND100 มีนโยบายลงทุนผ่าน Invesco QQQ trust ETF ที่มีผลการดำเนินงานใกล้เคียงดัชนี Nasdaq 100 มากที่สุด ทำให้ง่ายต่อการติดตาม และยังมีค่าธรรมเนียมขาซื้อเพียง 0.16% ขณะที่มีค่าธรรมเนียมการจัดการ 0.321% ต่อปี ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับการลงทุนกองทุนต่างประเทศทั่วไป
2.กองทุนเปิดบีแคป ไชน่า เทคโนโลยี หรือ BCAP-CTECH ที่ลงทุนเติบโตไปพร้อมกับเทคโนโลยีของจีนที่มีโมเดลธุรกิจโดดเด่นและมีศักยภาพสูง ครอบคลุมหุ้นเทคโนโลยีจีนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง และนิวยอร์ก โดยกองทุน BCAP-CTECH จะเน้นกระจายการลงทุนผ่าน ETF 2 กอง คือ Invesco China Technology ETF (CQQQ) และกอง KraneShares CSI China Internet ETF (KWEB) ที่ลงทุนในหุ้นไอที สื่อสาร และอีคอมเมิร์ซ เป็นหลัก เช่น หุ้น Alibaba, Meituan, Tencent และ Pinduoduo เป็นต้น
"นักลงทุนที่ไม่ใช่สายเทคโนโลยี แนะนำให้ลงทุนในกลุ่มประเทศ ASEAN ที่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่ยังไม่ปรับขึ้นตามตลาด (Laggard) และหุ้นกลุ่มวัฏจักรอย่างธนาคาร และพลังงาน ที่ฟื้นตัวจากวัฏจักรขาขึ้นของเศรษฐกิจ โดยกองทุนที่แนะนำ คือ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นอาเซียน หรือ กองทุน B-ASEAN" นายเสริมศักดิ์ กล่าว
นายเสริมศักดิ์ กล่าวถึงกลยุทธ์การลงทุนในกองทุนรวมว่า ในช่วงนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้นจากวัคซีนต้านโควิด-19 ที่เริ่มฉีดกันในหลายประเทศ ทำให้กลุ่มที่ยังไม่ปรับขึ้นตามตลาด (Laggard) และได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองในช่วงที่ผ่านมาอย่างกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเริ่มสามารถกลับมาดำเนินการได้อย่างเต็มที่ และได้ค่าเช่าให้แก่ผู้ถือหน่วยได้มากขึ้น ดังนั้นเราแนะนำลงทุนใน "กองทุนเปิดบีแคป โกลบอล พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซ์" หรือ BCAP-GPROP ที่มีนโยบายกระจายการลงทุนในกลุ่มอสังหาฯ REIT และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก เพราะเมื่อแต่ละประเทศเปิดเมืองมากขึ้นรายได้จากค่าเช่าของกลุ่มนี้จะมีความน่าสนใจและสามารถที่จะจ่ายเงินปันผลได้
ปัจจุบัน นักลงทุนให้ความสนใจลงทุนในกองทุนรวมทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น ทางทีม BLS Mutual Fund จึงได้มีการจัดทำรายงาน BLS Top Fund เพื่อคัดเลือก "กองทุนตัวท็อป" ให้เข้ากับความต้องการของนักลงทุน โดยทีมงานมืออาชีพ พร้อมประเมินจุดเด่น และจุดเสี่ยงของแต่ละกองทุนจาก บลจ.ชั้นนำทั่วประเทศ ที่สำคัญยังดูแลเฝ้าติดตามเกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อแนะนำการลงทุนให้แก่ลูกค้าเป็นประจำทุกสัปดาห์