นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า KTAM เตรียมต้อนรับปีใหม่ด้วยการเปิดเสนอขายกองทุนเปิดเคแทม ธีมเมติก ทริกเกอร์ ฟันด์2 (KT-TMT2) ระหว่างวันนี้ ถึง 14 มกราคม 2564 โดยกองทุนมีนโยบายลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ เช่น หน่วย CIS และ/หรือกองทุนรวมอีทีเอฟ และ/หรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และ/หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (กองทุนปลายทาง) ตั้งแต่ 2 กองทุนขึ้นไป
ทั้งนี้ การลงทุนในกองทุนปลายทางดังกล่าวมีนโยบายลงทุนทั้งในตราสารแห่งทุน ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ทรัพย์สินทางเลือก และ/หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นใดตามที่กฎหมาย ก.ล.ต.กำหนด และกองทุนนี้จะพิจารณาปรับสัดส่วนการลงทุนได้ตั้งแต่ร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 100 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ซึ่งสัดส่วนการลงทุนขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน และกองทุนจะมีการลงทุนที่ส่งผลให้มี Net Exposure ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่างประเทศโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน และ/หรือการบริหารความเสี่ยงรวมทั้งกองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน
ทั้งนี้ นางชวินดายังกล่าวเสริมว่า กองทุนนี้มีความน่าสนใจตรงที่มีการบริหารแบบยืดหยุ่นและกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงโดยใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบกำหนดธีมการลงทุน Thematic Investment ตามดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน ซึ่งจะวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก หรือ Mega Trends เพื่อค้นหากลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จาก Mega Trends เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการลงทุนที่ 7% ในระยะเวลา 7 เดือน รวมถึงมุ่งเน้นกลุ่มหุ้นวัฏจักรที่เคลื่อนไหวตามแนวโน้มของภาวะโดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นผู้นำในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม และตัวชี้วัดภาพรวมของเศรษฐกิจได้ดี เช่น ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ที่ราคาขยับขึ้นต่ำกว่าดัชนีตลาด (Laggard) จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนในการลงทุนระยะสั้นจากการจับจังหวะตลาด (Market Timing)
นอกจากนี้ ยังรับประโยชน์จากแนวโน้มการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งจากความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จึงทำให้ธีม Post Covid-19 Recovery ซึ่งหมายถึง กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ Covid-19 เช่น หุ้นกลุ่มการเงิน กลุ่มพลังงาน ค้าปลีก กลุ่มโรงแรม เป็นต้น และธีม US Recovery ซึ่งหมายถึงหุ้นในตลาดสหรัฐฯ กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว เช่น ห้างค้าปลีกในสหรัฐฯ มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ