นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า 6 เดือนแรกปี 2563 (มกราคม-มิถุนายน) ธุรกิจประกันชีวิตมีผลงานเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 285,942.47ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 3.27 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา จำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่จำนวน 76,196.28 ล้านบาท อัตราเติบโตลดลงร้อยละ 9.29 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไปจำนวน 209,746.19 ล้านบาท อัตราเติบโตลดลงร้อยละ 0.88 และมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตร้อยละ 81 สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย
(1) เบี้ยประกันภัยรับปีแรก จำนวน 49,559.58 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.77
(2) เบี้ยประกันภัยรับชำระครั้งเดียว จำนวน 26,636.70 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 24.55
ทั้งนี้ อัตราการเติบโตที่ลดลงในช่วงครึ่งแรกปี 2563 เนื่องจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ผนวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เกิดมาตรการป้องกันระหว่างประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ทำให้ขาดสภาพคล่อง หลายธุรกิจปิดตัวลงมีคนจำนวนมากว่างงาน สูญเสียรายได้ ผู้บริโภคต้องปรับตัวโดยการประหยัดรายจ่ายส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว เช่นเดียวกับธุรกิจประกันชีวิต โดยเฉพาะช่องทางตัวแทนประกันชีวิตซึ่งเป็นช่องทางหลักที่ไม่สามารถออกไปเสนอขายด้วยวิธี face to face ได้
สมาคมฯ ได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในการแก้ปัญหาเบื้องต้น โดยการเสนอแนวทางการเสนอขายแบบ Digital face to face ที่ให้ผู้เสนอขายสามารถเสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้เสียงและภาพให้ถือเสมือนเป็นการพบลูกค้าในระหว่างสถานการณ์จำเป็น และได้รับความยินยอมจากลูกค้า เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยแวดล้อมของธุรกิจที่ส่งผลให้ยอดขายผ่านช่องทางธนาคารลดลง ภาวะความกดดันจากเรื่องมาตรฐานรายงานทางบัญชีและการเงิน IFRS 17 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และการเผชิญกับอัตราความเสียหายจากคนกลางและการฉ้อฉลประกันภัย (Fraud & Abuse) สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่ออัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในครึ่งปีแรกทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2563-2564 ภาคธุรกิจยังคงเผชิญกับความท้าทายจากหลากหลายปัจจัย เช่น สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกหลังไวรัสโควิด-19 ระบาดยังคงมีความเปราะบาง ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและมีแนวโน้มที่จะเกิดจุดต่ำสุดใหม่ได้อีก (New low-Yield) ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันชีวิตในทุกมิติ
อีกทั้งยังมีเรื่องมาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS 17 ที่จะถูกนำมาใช้ในประเทศไทย ปี 2567 ส่งผลให้บริษัทต้องลงทุนเม็ดเงินจำนวนมาก ทั้งระบบการจัดเก็บข้อมูลการคำนวณทางคณิตศาสตร์ฯ กระบวนการทำงาน และบุคลากรที่ปรึกษาในการจัดทำ IFRS 17 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสังคม
สำหรับปัจจัยส่งเสริมที่เป็นตัวสนับสนุนให้ธุรกิจประกันชีวิตในปี 2563-2564 มีการเติบโต ปัจจัยแรกมาจากภาครัฐ สืบเนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด ประกอบกับการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาทำให้ประชาชนหันมาตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของการมีประกันชีวิตและประกันสุขภาพมาใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและบรรเทาผลกระทบให้แก่บริษัทประกันชีวิต เช่น การปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ การปรับปรุงร่างประกาศเสนอขายให้เป็น Digital face to face เพื่อลดขั้นตอนและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการเสนอขายให้กับตัวแทนประกันชีวิตมากขึ้น
ปัจจัยที่สองมาจากภาคธุรกิจ ที่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารช่องทางการขายและการบริการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การพัฒนาช่องทางการขายในรูปแบบ Digital และการบริหารผ่านระบบออนไลน์ในรูปแบบแพลตฟอร์มต่างๆ อีกทั้งยังมุ่งพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้มีความหลากหลาย ให้สามารถตอบสนองความต้องการและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของทุกกลุ่มเป้าหมาย