xs
xsm
sm
md
lg

สภาพคล่องล้นหนุนหุ้นโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์
ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด

ในช่วงเดือนที่ผ่านมานักลุงทุนคงอดสงสัยในความร้อนแรงของตลาดหุ้นทั่วโลกไม่ได้ หลังจากที่ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างก็ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เปรียบเสมือนได้ว่าตลาดหุ้นและสภาพเศรษฐกิจนั้นได้แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง โดยสาเหตุหลักในการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นนั้นคงหนีไม่พ้นในเรื่องสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก นโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางมักจะถูกหยิบมาใช้ในช่วงเวลาที่กำลังจะเกิดสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเครื่องมือหลักที่ธนาคารกลางมักจะใช้คือการลดอัตราดอกเบี้ย รวมไปถึงการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเฉพาะกิจอย่าง QE ซึ่งเป็นการที่ธนาคารกลางขยายขนาดงบดุลโดยการเพิ่มสภาพคล่องในระบบผ่านการซื้อสินทรัพย์อย่างเช่นพันธบัตรรัฐบาลหรือการซื้อตราสารหนี้ที่อยู่อาศัยเพื่อเป็นการกระตุ้นให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้


ที่มา Talis Asset Managment

หากเราลองดูในรูปที่ 1 เราจะเห็นได้ว่าหากย้อนกลับไปในอดีตนั้นในแต่ละช่วงที่ธนาคารกลางทั่วโลกต่างทำ QE มักจะส่งผลให้ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นในทุกๆ ครั้ง โดยในครั้งแรกที่ได้มีการทำ QE นั้นดัชนี SP500 และ SET Index ได้ปรับตัวขึ้น 15% และ 98% ตามลำดับ ในขณะที่ QE รอบที่ 2 นั้นดัชนี SP500 และ SET Index ได้ปรับตัวขึ้น 12% และ 4% ตามลำดับ ส่วน QE รอบที่ 3 ดัชนี SP500 และ SET Index ได้ปรับตัวขึ้น 43% และ 28% ตามลำดับ และสำหรับรอบล่าสุดนับตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือนมีนาคมนั้นดัชนี SP500 และ SET Index ต่างปรับตัวขึ้น 23% และ 24% ตามลำดับ


ผลตอบแทนจนถึงวันที่ 11 มิ.ย. 2020

เหตุผลในการปรับตัวขึ้นของดัชนีนั้นเป็นผลมาจากสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นรวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงส่งผลให้เงินลงทุนไหลออกจากสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนต่ำอย่างพันธบัตรหรือเงินฝากธนาคารไปเข้าสู่สินทรัพย์อย่างเช่นหุ้นหรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่มีผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยหากเราติดตามถึงพัฒนาการของนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางที่ออกมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ของ COVID นั้นเราจะเห็นได้ถึงการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างเต็มที่เพื่อประคองเศรษฐกิจ

นอกจากประเด็นในเรื่องของสภาพคล่องแล้ว พัฒนาการทางด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการมากขึ้นรวมไปถึงการแพร่กระจายของ COVID-19 ก็ดูมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเช่นกัน หลังจากที่มีบริษัทยาบางแห่งเริ่มทดลองวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันไวรัส COVID-19 มากขึ้น นอกจากนี้แล้วราคาน้ำมันที่ได้เริ่มปรับตัวขึ้นมาก็ส่งสัญญาณที่ดีว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินต่อและน่าจะเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัวแล้วเช่นกัน แม้ว่าผลประกอบในระยะสั้นของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งจะได้รับผลกระทบทางลบจากวิกฤตครั้งนี้แต่ปริมาณเงินที่มหาศาลจากสภาพคล่อง รวมไปถึงข่าวพัฒนาการที่ดีขึ้นจะเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เราควรเลือกลงทุนอย่างมีวินัยไม่ละเว้นจากการพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานรวมถึงราคาที่เหมาะสมอยู่เช่นเคยครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น