xs
xsm
sm
md
lg

COVID-19 กับโอกาสการลงทุนที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ทีมจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 พัฒนารุนแรงขึ้นจนทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็น "การระบาดใหญ่" หรือ “Pandemic” เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา จนนำไปสู่มาตรการควบคุมโรคระบาดอย่างเด็ดขาดของนานาประเทศ เช่น การกำหนดระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การปิดกั้นการเดินทางของประชาชน รวมไปถึงการปิดประเทศของหลายๆ ประเทศ โดยนโยบายดังกล่าวช่วยชะลอการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้เป็นอย่างดี เมื่อประกอบกับความรู้ความเข้าใจในตัวเชื้อไวรัสที่มีมากขึ้น ความก้าวหน้าในการตรวจเชื้อที่เร็วขึ้น แม่นยำขึ้น การพัฒนายารักษาซึ่งก้าวหน้าตามลำดับ ทำให้การควบคุมแพร่ระบาดเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และเห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศที่มีการระบาดรุนแรงเริ่มลดลง

อย่างไรก็ดี เพื่อสะท้อนผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทิสโก้ได้ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลดลงจากขยายตัว 0.8% เป็นหดตัว 6.9% ทั้งนี้ ผลกระทบจะรุนแรงที่สุดในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจกิจไทยจะหดตัวถึง 10.5%

นักลงทุนทั่วโลกมีความพยายามที่จะหาจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19 โดยมีปัจจัย 2 ประการที่ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง ได้แก่ 1) อัตราการติดเชื้อของผู้ป่วยใหม่ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ตัวเลขดังกล่าวจะปรับตัวสู่ระดับสูงสุดในช่วงกลางเดือนเมษายนนี้เป็นอย่างเร็ว โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยุโรป และสหรัฐฯ 2) การค้นพบวัคซีน/ยารักษา ซึ่งต้องยอมรับว่ามีความก้าวหน้าไปค่อนข้างมาก

หากสมมติฐานของตลาดถูกต้อง ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงสู่จุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2/2020 นี้ ซึ่งในแง่ของตลาดหุ้นที่โดยปกติจะเป็นตัวสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตที่ดี น่าจะทำจุดต่ำสุดล่วงหน้าประมาณ 1-2 ไตรมาส โดยในเคสของตลาดหุ้นไทยนั้น เราคาดว่า SET Index น่าจะทำจุดต่ำสุดไปเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

เพื่อลดความตื่นตระหนกอันเป็นผลกระทบจาก COVID-19 ธนาคารกลางและรัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังชุดใหญ่เพื่อรองรับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักอย่างฉับพลัน (Sudden Stop) ผ่านการเสริมสภาพคล่องในตลาดการเงิน พร้อมทั้งช่วยชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจ และบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ อาทิ สหรัฐฯ ซึ่งมีการลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 2 ครั้ง สู่ระดับ 0-0.25% พร้อมอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) แบบไม่จำกัดวงเงิน ขณะเดียวกันรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังรวมมูลค่าเกือบ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่า 10% ของ GDP สหรัฐฯ) ในส่วนของประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงินก็ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 0.75% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้านกระทรวงการคลังก็มีการวางแผนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับไม่ต่ำกว่า 10% ของ GDP เช่นกัน

เรามองว่าผลกระทบจากโรค COVID-19 แตกต่างจากวิกฤตหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา โดยเป็นการกระทบทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานพร้อมกันจากทั้งตัวโรคระบาดเอง และมาตรการของภาครัฐเพื่อหยุดยั้งการระบาด ดังนั้น ในระหว่างที่การติดเชื้อยังคงขยายตัว พอร์ตการลงทุนหลักของเรายังคงเน้นลงทุนในบริษัทที่แทบไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อยต่อรายได้และกำไรจากโรค COVID-19 เมื่อการติดเชื้อเริ่มเข้าสู่ระยะชะลอตัว ซึ่งอาจพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มลดลง การลงทุนระยะหลังโรคระบาด (Post-COVID-19) จะหันไปเน้นบริษัทฯ ที่สามารถฟื้นตัวได้ดี ซึ่งอาจพิจารณาจากมิติของรายได้/กำไร โดยผู้จัดการกองทุนคาดว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นไม่ทางใดทางหนึ่ง ที่อาจจะเป็นรายได้เติบโต หรือกำไรเติบโต หรือเติบโตทั้งรายได้และกำไร ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากความได้เปรียบด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ต่ำกว่า ความรู้ความสามารถของผู้บริหารและบุคลากรในองค์กร อำนาจต่อรองกับคู่ค้า/ลูกค้า เป็นต้น ทั้งนี้ ในแต่ละอุตสาหกรรมก็จะมีความแตกต่างกันไป ซึ่งวิกฤตครั้งนี้จะเป็นบททดสอบที่ดีของแต่ละองค์กรที่จะเปลี่ยนเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตที่สูงขึ้นในระยะยาวหลังวิกฤตผ่านพ้นไป

ด้วยเหตุนี้ บลจ.ทิสโก้คาดว่าแนวโน้มตลาดหุ้นจะยังคงผันผวนตลอดช่วงไตรมาสที่ 2/2020 ตามกระแสข่าวพัฒนาการของโรค COVID-19 แต่คาดว่าความเสี่ยงขาลงของ SET Index มีไม่มาก เนื่องจากการแพร่ระบาดได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น ด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็จะรุนแรงที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 2/2020 และจะน้อยลงในช่วงครึ่งปีหลังเช่นกัน จากมุมมองดังกล่าว ทำให้ บลจ.ทิสโก้คาดว่าตลาดหุ้นในครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวจากช่วงครึ่งปีแรก ซึ่ง ณ ระดับ SET Index ปัจจุบัน SET Index ซื้อขายที่ระดับ 1.2 เท่า ของ P/BV ของปี 2020 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤต Subprime ในปี 2551 ดังนั้น สำหรับการลงทุนที่มีระยะเวลาในการลงทุนยาวนาน ควรใช้โอกาสในช่วงที่ตลาดปรับตัวลดลงนี้เป็นโอกาสสะสมหุ้นเพิ่มเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น