บลจ.พรินซิเพิลเชื่อแนวโน้มวิกฤตไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่เริ่มลด ทุกประเทศมีมาตรการที่เห็นผลพร้อมการกระตุ้นเศรษฐกิจ แนะทยอยลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่ม โดยเฉพาะหุ้นทั่วโลกหลังราคาปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหุ้นไทยทยอยลงทุนได้หากย่อตัวอีก แต่ยังคงผันผวนจากการขายของต่างชาติหลังค่าเงินบาทอ่อนตัว ขณะที่รีท-อสังหาฯ-อินฟราฯ ยังน่าสนโดยเฉพาะสินทรัพย์ในสิงคโปร์
นายวิน พรหมแพทย์, CFA ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทำให้แบงก์ชาติประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบถึง 5.3% อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อว่ามาตรการของภาครัฐวงเงินรวมกว่า 1.9 ล้านล้านบาทจะช่วยลดแรงกดดันจากผลกระทบที่เกิดขึ้นและทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้
ส่วนสถานการณ์การลงทุนทั้งในและต่างประเทศคาดว่าจะยังคงผันผวนในระดับสูง โดยสิ่งที่จะต้องติดตามคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และการแก้ปัญหาในการล็อกดาวน์ในพื้นที่ต่างๆ ถือว่ามาถูกทางและน่าจะเห็นผลดีในระยะต่อไป
ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ใน Italy และ Spain ก็เริ่มลดลงเช่นกัน แสดงให้เห็นว่ามาตรการเข้มแข็งของภาครัฐและความร่วมมือของประชาชนคือปัจจัยสำคัญที่ช่วยชะลอการแพร่กระจายของเชื้อ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในสหรัฐฯ ยังไม่น่าไว้วางใจ แต่ก็เชื่อว่าน่าจะคลี่คลายได้ในต้นเดือน พ.ค. ทั้งนี้ มีรายงานวิจัยว่า “อุณหภูมิ” และ “ความชื้น” เป็นหนึ่งในปัจจัยการอยู่รอดของไวรัส จึงมีโอกาสสูงที่การแพร่ระบาดจะคลี่คลายลงเมื่อเข้าสู่ Summer
"ความช่วยเหลือของภาครัฐในส่วนของการแจกเงิน 5 พันบาทส่งผลตรงถึงแรงงานนอกระบบได้อย่างดี และน่าจะดีกว่าการแจกเงิน 2,000 บาทในช่วงปี 2008 รวมถึงมาตรการส่งเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้-บลจ.พรินซิเพิล ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พบว่ามาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานภาครัฐ ในการส่งเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ ได้ผลดีในระดับหนึ่ง ทำให้ตลาดตราสารหนี้มีการซื้อขายคล่องตัวขึ้น โดยยอดการซื้อสุทธิของบริษัทจัดการกองทุนในช่วง 1-8 เมษายน มีมากกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ" นายวินกล่าว
นายวินกล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันบริษัทเชื่อว่าการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นไทยเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาหลังจากหุ้นไทยปรับตัวลดลงมากสุดในกลุ่มเอเชีย ส่งผลให้ราคาในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบภูมิภาคเดียวกันเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น จากเดิมที่ราคาหุ้นไทยก่อนการแพร่ระบาดจะค่อนข้างแพงสำหรับนักลงทุน นอกจากนี้ การลงทุนในหุ้นทั่วโลกถือเป็นทางเลือกระจายการลงทุนที่ดี ซึ่งหุ้นในกลุ่มเอเชียอย่าง เกาหลี อินโดนีเซีย ฮ่องกง รวมถึงหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปถือว่าอยู่ในกลุ่มที่มีราคาปรับตัวลดลงมากในระดับที่น่าลงทุนแล้วเช่นกัน
ทั้งนี้ การลงทุนในตลาดหุ้นไทย-SET Index ปรับลงมามากเป็นทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้ระดับราคาหุ้นปัจจุบันน่าสนใจลงทุนมากขึ้น เริ่มเห็นการทำ Share Buyback ของบริษัทจดทะเบียน และการเข้าซื้อหุ้นของเจ้าของกิจการ และมีหลายฝ่ายคาดว่าตลาดผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว (969 จุด วันที่ 13 มี.ค.) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยังคงผันผวนมาก แต่ก็มี downside risk ไม่มากนัก คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะอยู่ในกรอบ คือ 825-950 จุด หรือที่ P/E ประมาณ 10 เท่าในกรณีที่สถานการณ์ค่อนข้างเลวร้าย
นอกจากนี้ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน-ตลาด REITs ปรับลงทั่วโลกจากการที่นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภท ทำให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลคาดหวังปรับเพิ่มจาก 4-5% เมื่อปีก่อน เป็น 6-9% ในปัจจุบัน ส่งผลให้การลงทุนใน REITs และ Infrastructure มีความน่าสนใจมากขึ้น โดย บลจ. พรินซิเพิล ให้น้ำหนักสิงคโปร์ มากกว่าไทย และเน้นลงทุนในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยจาก COVID-19 ได้แก่ คลังสินค้า ออฟฟิศ ลอจิสติกส์
"สินทรัพย์เสี่ยงเป็นการลงทุนที่เรากลับมาแนะนำโดยเฉพาะหุ้นทั่วโลกที่กลับมาถูกและนักลงทุนทยอยกลับเข้าลงทุนอีกครั้ง ส่วนหุ้นไทยอยากให้เข้าลงทุนในจังหวะที่หุ้นย่อตัวอีกครั้ง หรือทยอยลงทุนเป็นรอบๆ หากดัชนีต่ำกว่า 1,100 จุด หรือทยอยเข้าไปลงทุนทุกครั้งที่หุ้นปรับตัวลดลง 100 จุด แต่ในระยะสั้นหุ้นไทยยังคงผันผวนและมีโอกาสปรับตัวลดลงได้อีกครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมาต่างชาติทยอยขายหุ้นไทยออกไป และไม่แนวโน้มที่จะขายอีกจากการอ่อนค่าของเงินบาท โดยจะต้องประเมินอีกครั้งว่าค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใด" นายวินกล่าว