โดย ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
ท่านนักลงทุนคงคุ้นเคยกับกลยุทธ์การลงทุนแบบ active และ passive กันมาบ้างแล้ว โดยกลยุทธ์การลงทุนแบบ active นั้นมีการบริหารเชิงรุก และส่วนมากมีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนเหนือดัชนีอ้างอิง จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ข้อมูลตลาด และการคัดเลือกหลักทรัพย์ แต่ท่านนักลงทุนอาจจะเข้าถึงข้อมูลได้ไม่เต็มที่ อาจมีกลยุทธ์ที่ซับซ้อน และมีค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง ในขณะที่กลยุทธ์การลงทุนแบบ passive นั้นมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงดัชนีอ้างอิงมากที่สุด โดยส่วนมากลงทุนผ่าน Exchange Traded Fund หรือ ETF ที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง ซึ่งมีเกณฑ์การคัดเลือกและการให้น้ำหนักหลักทรัพย์อย่างชัดเจน รูปแบบการลงทุนของ ETF ที่เราคุ้นเคยกันส่วนใหญ่คัดเลือกและให้น้ำหนักจากขนาดของบริษัท (Market-cap Weighted) นั่นหมายถึง บริษัทที่มีขนาดใหญ่จะได้น้ำหนักมากกว่าบริษัทที่มีขนาดเล็ก การลงทุนประเภท passive มักมีค่าธรรมเนียมถูก สภาพคล่องสูง และท่านนักลงทุนยังสามารถเข้าถึงข้อมูลและผลการดำเนินงานได้อย่างครบถ้วน
กลยุทธ์การลงทุนแบบ Smart Beta นั้นอยู่ตรงกลางระหว่าง active และ passive โดยมีความคล้ายคลึงกับกลยุทธ์แบบ active ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเหนือตลาด ในขณะเดียวกันมีความคล้ายคลึงกับกลยุทธ์แบบ passive ที่กำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกและให้น้ำหนักหลักทรัพย์อย่างชัดเจนและเป็นระบบ (Rule-Based) แต่คัดเลือกและให้น้ำหนักหลักทรัพย์ตามปัจจัย (Factor) ที่มีผลต่อการสร้างผลตอบแทน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมาจากการค้นคว้าและศึกษาแหล่งที่มาของผลตอบแทนของหลักทรัพย์ โดยสามารถแบ่งได้เป็นหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยด้านมูลค่า (Value) ซึ่งให้ความสำคัญกับบริษัทที่มูลค่าปัจจุบันต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน เมื่อเทียบกับรายได้ กระแสเงินสดรับ และระดับการจ่ายเงินปันผล เป็นต้น ปัจจัยด้านมูลค่าพื้นฐานมีโอกาสสร้างผลตอบแทนโดดเด่นในสภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวและขยายตัว ปัจจัยด้านคุณภาพ (Quality) เน้นคุณภาพและเสถียรภาพของรายได้และกำไร รวมถึงคุณภาพในการบริหาร ปัจจัยด้านคุณภาพมักทำได้ดีในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอย ปัจจัยด้านแนวโน้มราคา (Momentum) พิจารณาแนวโน้มและทิศทางของราคาหลักทรัพย์ ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมและมุมมองของนักลงทุนในตลาดโดยรวม สามารถให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจในช่วงที่ตลาดมีแนวโน้มชัดเจน เช่น ช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวและขยายตัว ปัจจัยด้านขนาด (Size) ให้น้ำหนักกับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้นำตลาดและมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง มักสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวและถดถอย ปัจจัยด้านการกระจายความเสี่ยง (Equal Weight) กระจายน้ำหนักการลงทุนในพอร์ตเท่ากัน และเพิ่มความสำคัญให้กับบริษัทขนาดเล็ก มีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนสูงกว่าตลาดในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวและขยายตัว
Smart Beta จับกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีแหล่งที่มาของผลตอบแทนจากปัจจัยเดียวกัน เพื่อให้ท่านนักลงทุนสามารถเลือกปัจจัยที่ต้องการลงทุนได้ชัดเจนและสะดวกขึ้น หากพอร์ตของท่านนักลงทุนกระจุกตัวในหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ ก็สามารถเลือกลงทุนในปัจจัย Equal Weight เพื่อกระจายความเสี่ยง หรือใช้ Smart Beta เพื่อการลงทุนระยะยาว (Strategic Allocation) หากท่านนักลงทุนเชื่อว่าปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง เช่น ปัจจัยด้านมูลค่าพื้นฐาน (Value) จะสามารถสร้างผลตอบแทนเหนือตลาดได้ในระยะยาว นอกจากนี้ยังสามารถลงทุนระยะสั้น (Tactical Allocation) โดยเลือกปัจจัยที่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เช่น สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปัจจุบัน อาจเลือกลงทุนในปัจจัยด้านคุณภาพ (Quality) เพื่อลดความผันผวนและเพิ่มเสถียรภาพจากบริษัทที่มีคุณภาพสูงในเชิงรายได้ กำไร และการบริหารจัดการ
แนวคิดด้าน Smart Beta หรือการให้ความสำคัญกับปัจจัยที่ส่งผลต่อผลตอบแทนนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เริ่มได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา จากกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน สภาพคล่องสูง ค่าธรรมเนียมต่ำ และมีปัจจัยการลงทุนให้เลือกหลากหลาย โดย ณ สิ้นปี 2561 กลยุทธ์ประเภท Smart Beta มีมูลค่ารวมกันเกือบ 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ที่มา Morningstar ณ ธันวาคม 2561)
กลยุทธ์การลงทุน Smart Beta เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเหนือกว่าตลาดโดยรวมแบบ active แต่มีการคัดเลือกและให้น้ำหนักหลักทรัพย์ตามปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างผลตอบแทนที่ชัดเจนและเป็นระบบ อีกทั้งค่าธรรมเนียมที่ใกล้เคียงกับกลยุทธ์แบบ passive นอกจากนี้กลยุทธ์ Smart Beta สามารถนำไปใช้ได้หลากหลายตามความประสงค์ของท่านนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการกระจายความเสี่ยง การลงทุนระยะสั้นและยาว โดยเลือกสับเปลี่ยนปัจจัยการลงทุนให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ ตลาดการลงทุนจะมีการนำเสนอกลยุทธ์ Smart Beta มากขึ้น เพื่อมาเพิ่มสีสันให้แก่การลงทุน ท่านนักลงทุนลองจับตาทิศทางการลงทุนในรูปแบบนี้ดูนะครับ จะได้ไม่พลาดเทรนด์การลงทุนที่กำลังจะมาเร็วๆ นี้ครับ