บลจ.เปิดขายกองตราสารหนี้ต่างประเทศเพิ่ม กรุงไทยเปิดกองใหม่ อายุโครงการ 6 เดือน ชูยิลด์ 1.35% ต่อปี ระบุเหมาะสำหรับนักลงทุนพักเงินก่อนตัดสินใจลงทุนรอบใหม่ ด้านเอ็มเอฟซีลงทุน 6 เดือน ชูยิลด์ 1.425% ต่อปี
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 165 (KTFF165) ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2560 เน้นลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 อายุโครงการ 6 เดือน ลงทุนในบัตรเงินฝาก Bank of China, Agricultural Bank of China, China Construction Bank, Industrial and Commercial Bank of CHINA, ในสัดส่วนสถาบันการเงินละ 19% ส่วนที่เหลือลงทุนในบัตรเงินฝาก Bank of Communications 10% และ Abu Dhabi Commercial Bank PJSC 14% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ผลตอบแทนประมาณ 1.35% ต่อปี โดยบุคคลธรรมดาไม่เสียภาษี และเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการพักเงินเพื่อหาจังหวะการลงทุนในโอกาสต่อไป
สำหรับแนวโน้มอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศอายุคงเหลือตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแรงขายทำกำไรของนักลงทุนในประเทศ ทำให้อัตราผลตอบแทนได้ปรับตัวลดลงจนอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาและสถานการณ์ตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี โดยตลาดตอบรับการประมูลพันธบัตรอายุคงเหลือ 30 ปี (LB466A) ค่อนข้างดี โดยมี Bid Coverage Ratio ถึง 3.42 เท่า สัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเป็นยอดซื้อสุทธิจำนวน 23,042 ล้านบาท
ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกามีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนตามความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา สถานการณ์ตึงเครียด (Geopolitical Tensions) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือ และจากการที่คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีความเห็นว่าเฟดไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากเงินเฟ้อยังต่ำกว่าเป้าหมายและอัตราค่าจ้างยังไม่เพิ่มมากนัก โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวลดลง 6 bps มาอยู่ที่ 1.29% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวลดลง 8 bps มาอยู่ที่ 1.74% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวลดลง 7 bps มาอยู่ที่ 2.19% ต่อปี
ด้าน นางสาวประภา ปูรณโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอ็มเอฟซีเปิดขายกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี กาญจนทรัพย์ 6 ซีรี่ส์ 37 หรือ MK6S37 อายุโครงการประมาณ 6 เดือน เป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ ซึ่งจะลงทุนในต่างประเทศไม่เกินร้อยละ 79 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน และรับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติในอัตราร้อยละ 1.425 ต่อปี พร้อมโอนไปยังกองทุนเปิด MM-GOV โดยลงทุนในตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งชาติ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ตราสารหนี้ที่ออกโดยนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ตราสารหนี้ เงินฝากที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารต่างประเทศ หรือตราสารหนี้เอกชนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่ต่ำกว่า BBB-
ตัวอย่างตราสารที่คาดว่าจะลงทุน เงินฝากประจำ Bankof China rating A1 สัดส่วนลงทุน 15.50% ผลตอบแทนตราสาร 1.40% ต่อปี ผลตอบแทนที่กองทุนคาดว่าจะได้รับ 0.21% ต่อปี, เงินฝากประจำของ Agricultural Bank of China rating A1 สัดส่วนลงทุน 19% ผลตอบแทนของตราสาร 1.50% ต่อปี ผลตอบแทนที่กองทุนคาดว่าจะได้รับ 0.28% ต่อปี, เงินฝากประจำ PT Bank Rakyat Indonesia (Persero) Tbkrating Baa3 สัดส่วนลงทุน 5% ผลตอบแทนตราสาร 1.50% ต่อปี ผลตอบแทนที่กองทุนคาดว่าจะได้รับ 0.08% ต่อปี, ตราสารหนี้ระยะสั้นบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) rating BBB+ สัดส่วนลงทุน 17.50% ผลตอบแทนตราสาร 1.95% ต่อปี ผลตอบแทนที่กองทุนคาดว่าจะได้รับ 0.34% ต่อปี, ตราสารหนี้ระยะสั้นบริษัท เอเซียเสริมกิจลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) rating BBB+ สัดส่วนลงทุน 17.50% ผลตอบแทนตราสาร 1.95% ต่อปี ผลตอบแทนที่คาดว่ากองทุนจะได้รับ 0.34% ต่อปี, ตราสารหนี้ระยะสั้นของบริษัท ภัทรลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) rating A- สัดส่วนลงทุน 12.50% ผลตอบแทนของตราสาร 1.50% ต่อปี ผลตอบแทนที่กองทุนคาดว่าจะได้รับ 0.19% ต่อปี และตราสารหนี้ระยะสั้นของบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) rating BBB + สัดส่วนลงทุน 13% ผลตอบแทนของตราสาร 1.90% ต่อปี ผลตอบแทนที่กองทุนคาดว่าจะได้รับ 0.25% ต่อปี ทั้งนี้ กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในตราสารอื่นแทนหรือเพิ่มเติม โดยมี Rating ไม่ต่ำกว่า BBB-
ประมาณการผลตอบแทนรวมที่ได้รับจากการลงทุน 1.69% ต่อปี ประมาณการค่าใช้จ่าย 0.265% ต่อปี และประมาณการผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่าย 1.425% ต่อปี หากไม่สามารถลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้เนื่องจากสภาวะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป บริษัทจัดการอาจไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามอัตราดังกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทจัดการจะใช้ดุลพินิจในการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินที่ลงทุนหรือสัดส่วนการลงทุนได้ต่อเมื่อเป็นการดำเนินการภายใต้สถานการณ์ที่จำเป็นและสมควรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ โดยไม่ทำให้ความเสี่ยงของทรัพย์สินที่ลงทุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ