xs
xsm
sm
md
lg

คปภ.เร่งปูพรมความรู้ประกันภัยข้าวนาปี พร้อมบรรเทาสาธารณภัยเพื่อช่วยเหลือชาวนาเต็มพิกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ.เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเรื่องการประกันภัยข้าวนาปีในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากที่ ครม.มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 สำนักงาน คปภ.ได้เร่งเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อนำระบบประกันภัยไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวนา ซึ่งในฐานะนายทะเบียน ได้ให้ความเห็นชอบในแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัย ข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 และอัตราเบี้ยประกันภัย แล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ซึ่งให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 7 ประเภท ได้แก่ ภัยที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ฝนแล้งฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น อากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และไฟไหม้ จำนวนเงินความคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่

สำหรับภัยที่เกิดจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด จำนวนเงินความคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่ ซึ่งภัยดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยมีเบี้ยประกันภัย 97.37 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษี) ซึ่งรัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 61.37 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส.อุดหนุนส่วนที่เหลือ 36 บาทต่อไร่ ดังนั้น เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส.จะไม่เสียเงินค่าเบี้ยประกันภัยเลย แต่ถ้าไม่ได้เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.จะจ่ายเบี้ยประกันภัยเพียง 36 บาทต่อไร่

แต่ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะสามารถซื้อประกันภัยข้าวนาปีได้ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร หรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปีการผลิต 2560/2561 กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยซื้อได้ตั้งแต่ก่อนเพาะปลูกจนถึงวันสุดท้ายของการขายไม่เกิน 30 สิงหาคม 2560 ของทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ไม่เกินวันที่ 15 ธันวาคม 2560 โดยเกษตรกรชาวนาสามารถซื้อประกันภัยข้าวนาปีได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป

สำหรับโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) ปี 2560 ได้เลือกจัดในจังหวัดที่ไม่ซ้ำกับปีก่อนจำนวน 9 จังหวัด โดยได้มีการจัดไปแล้ว 6 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น นครสวรรค์ สุโขทัย ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี บุรีรัมย์ และจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดที่ 7 ต่อจากนั้นก็จะจัดที่จังหวัดสกลนคร และปิดท้ายที่จังหวัดสงขลา ตามลำดับ

โดยเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 ตนได้นำคณะผู้บริหารจากส่วนกลาง พร้อมด้วยผู้อำนวยการภาค 5 ผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ.จังหวัดร้อยเอ็ด และบุคลากรในสังกัดสำนักงาน คปภ.ภาค 5 ร่วมกับนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยและคณะฯ ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรค รวมทั้งข้อเสนอแนะจากเกษตรกรชาวนาในพื้นที่เกี่ยวกับโครงการประกันภัยข้าวนาปีในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงข้อสงสัยให้แก่ชาวนาเกี่ยวกับขั้นตอน วิธีการในการทำประกันภัยข้าวนาปี ประจำปี 2560 ซึ่งเริ่มรับประกันภัยแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 ทั้งนี้เพื่อให้ชาวนาได้เข้าใจถึงรูปแบบกรมธรรม์ ความคุ้มครอง ตลอดจนค่าเบี้ยประกันภัยตามที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและนำข้อมูลที่ได้รับมาปรับปรุงการดำเนินงานตามโครงการฯ ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีนายสมเกียรติ ขันสะอาด ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาเกษตรวิสัยให้การต้อนรับและกล่าวรายงานสภาพปัญหาการรับประกันภัยนาข้าวในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีชาวนาเข้ารับฟังการชี้แจงในครั้งนี้กว่า 200 คน ณ ศาลาการเรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้านของนายแสวง มะโนลัย ตำบลดงคลั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

“การลงพื้นที่ในแต่ละครั้งได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากเกษตรกรในพื้นที่ ได้มีการตอบชี้แจง ประเด็นคำถามที่เกษตรกรไม่เข้าใจให้เกิดความเข้าใจ จะมีการบอกเล่าปากต่อปาก สร้างความรู้ความเข้าใจในพื้นที่อย่างทั่วถึง อันเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์โครงการประกันภัยข้าวนาปีให้ถึงกลุ่มเป้าหมายได้มาก คำถาม เช่น ถ้าที่นาติดจำนองกับ ธ.ก.ส. สามารถทำประกันภัยข้าวนาปีได้ หรือในกรณีนาข้าวได้รับความเสียหาย เป็นวงกว้าง แต่ไม่เพียงพอที่จังหวัดจะประกาศเป็นพื้นที่เขตภัยพิบัติ ให้เกษตรกรแจ้งทางเกษตรอำเภอมาตรวจสอบ ก่อนจะมีหนังสือแจ้งยืนยันไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยว่าเกษตรกรมีความเสียหาย เกิดขึ้นจริง เพื่อที่จะได้ดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบประกันภัยได้เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรหรือชาวนาไทยในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง”

เลขาธิการ คปภ.กล่าวด้วยว่า ส่วนในวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 เป็นการจัดอบรมความรู้ประกันภัย ตามโครงการการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) ซึ่งเป็นการอบรมความรู้เพื่อสร้างวิทยากร ซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีความใกล้ชิดกับเกษตรกร เช่น เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอ จังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอ จังหวัด เจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เจ้าหน้าที่จากสำนักงาน คปภ. เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมฯ ไปต่อยอดความรู้ให้แก่เกษตรกรชาวนาในพื้นที่ต่อไป ซึ่งจัดที่โรงแรมเพชรรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีเลขาธิการ คปภ.เป็นประธานเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เข้าร่วมและกล่าวต้อนรับ และมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับการอบรมฯ ในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดได้กล่าวขอบคุณที่สำนักงาน คปภ.เห็นความสำคัญและเลือกจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นสถานที่จัดการอบรมความรู้ประกันภัย ซึ่งโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าวที่จะสามารถนำเอาระบบประกันภัยเข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยงกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้เพื่อจะขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวนาปีให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำนักงาน คปภ.ยังได้มีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลออนไลน์อย่างเป็นระบบกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรณีมีการประกาศภัยเพื่อให้สำนักงาน คปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธ.ก.ส. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย รับทราบข้อมูลอย่างรวดเร็วและนำไปใช้ได้ทันที ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดในการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่เกษตรกรต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น