xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนจากประชามติ BREXIT ของชาวสหราชอาณาจักรให้ออกจาก EU

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาชาวโลกติดตามการลงประชามติ BREXIT ของชาวสหราชอาณาจักรให้ออกจาก EU กันอย่างตื่นเต้น และเมื่อผลออกมาค่อนข้างพลิกความคาดหมายก่อนหน้านี้ ด้วยการที่ผลประชามติออกมาให้ “ออก” จริง จากก่อนหน้านี้ได้มีการประเมินผ่านโพลต่างๆ ว่าจะ “อยู่”

โดยผลการนับคะแนนปรากฏว่าเสียงรวมทั้งสหราชอาณาจักรลงประชามติให้สหราชอาณาจักร “ออก” จากสหภาพยุโรป 17.4 ล้านเสียง ต่อเสียงโหวตให้สหราชอาณาจักร “อยู่” กับสหภาพยุโรป 16.1 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 51.9 ต่อ 48.1 เปอร์เซ็นต์

หากแบ่งเป็นประเทศ
อังกฤษลงประชามติให้ “ออก” 15.1 ล้านเสียง ต่อเสียงให้ “อยู่” 13.2 ล้านเสียง หรือ คิดเป็น 53.4 ต่อ 46.6 เปอร์เซ็นต์

เวลส์ลงประชามติให้ “ออก” 8.55 แสนเสียง ต่อเสียงให้ “อยู่” 7.72 แสนเสียง หรือ คิดเป็น 52.5 ต่อ 47.5 เปอร์เซ็นต์

สกอตแลนด์ลงประชามติให้ “ออก” 1.01 ล้านเสียง ต่อเสียงให้ “อยู่” 1.66 ล้านเสียงหรือคิดเป็น 38 ต่อ 62 เปอร์เซ็นต์

ไอร์แลนด์เหนือลงประชามติให้ “ออก” 3.5 แสนเสียง ต่อเสียงให้ “อยู่” 4.4 แสนเสียงหรือคิดเป็น 44.2 ต่อ 55.8 เปอร์เซ็นต์

ผลคือ ตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับตัวลงทั่วโลกมหาศาล มูลค่าหลักทรัพย์ทั่วโลกหายไปกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และค่าเงินตกต่ำเป็นสถิติอ่อนค่าที่สุดในรอบ 31 ปี!

นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ประกาศลาออก! เพื่อเปลี่ยนผู้นำประเทศสำหรับทิศทางใหม่

โลกคงต้องจับตามองประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส หรือ เยอรมนี จะขยับตามจนเกิดผลกระทบแบบโดมิโนหรือไม่? หากมีภาพความไม่ชัดเจนของโดมิโนนี้ อาจทำให้ภาวะการลงทุนทั่วโลกชะงักงัน

แต่หากประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปได้แสดงจุดยืนเรื่องความคงอยู่ของสหภาพยุโรปต่อไป ก็น่าจะทำให้ความเสี่ยงของความไม่แน่นอนนั้นมีน้อยลง

จะว่าไป ประวัติของความผูกพันของประเทศต่างในสหภาพยุโรป เทียบกับการเข้าร่วมของสหราชอาณาจักรแล้วก็มีความแตกต่างกัน เพราะว่าสหราชอาณาจักรได้ขอเข้าร่วมภายหลังดำเนินไปแล้วระยะหนึ่ง และเคยถูกปฏิเสธไปแล้ว 2-3 ครั้ง จึงทำให้ปัญหาเรื่องโดมิโนนั้นอาจจะไม่มากนัก

จากคำสัมภาษณ์ของผู้นำประเทศในสหภาพยุโรป มีบทเรียนที่จะต้องอธิบายให้คนในประเทศเข้าใจเรื่องประโยชน์ของความร่วมมือในภูมิภาคมากขึ้น

ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา หรือจีน ถือได้ว่าได้รับประโยชน์มหาศาลจากความเป็นประเทศใหญ่ ซึ่งเทียบได้กับเป็นทวีปที่มีหลายๆ ประเทศ ทำให้มีขนาดที่ใหญ่ เอกชนมีกำลังทำธุรกิจได้ดี ขนาดใหญ่ ต้นทุนต่ำ แข่งขันได้ดี และประชาชนก็มีกำลังซื้อ สินค้าก็ราคาไม่แพง แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ของแต่ละภูมิภาคก็ต่างกัน จึงทำให้ระดับความร่วมมือร่วมใจในภูมิภาคยังแตกต่างกันอยู่

สิ่งที่ผมได้รับแรงบันดาลใจประเด็นหนึ่งคือ ผลประชามตินี้สะท้อนอารมณ์ประชาชนส่วนมากของสหราชอาณาจักร ที่รู้สึก “หงุดหงิด” กับสภาวะเศรษฐกิจ ไม่เติบโตเร็วอย่างที่คาดหวังเมื่อได้มีโอกาสเข้าร่วมในสหภาพยุโรป ผู้คนยังตกงานไม่น้อย และมีปัญหาชาวอพยพที่ทำให้ประชาชนรู้สึกเสียความเป็นอิสระของชาวสหราชอาณาจักรเหมือนอดีต

อารมณ์นี้คล้ายๆ กันทั่วโลก และคล้ายประเทศไทย ทำให้ยืนยันว่าปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวที่ผ่านมา ส่งออกตกต่ำในปีที่แล้วของประเทศไทย ไม่ใช่เพราะประเทศไม่เป็นที่ยอมรับ ประเทศไทยถอยหลังเหมือนที่มีบางคนอยากให้เข้าใจไปอย่างนั้น แต่เป็นเพราะสภาวะของตลาดโลกต่างหาก อย่างที่เคยเสนอไปว่า ปี 2015 ไทยส่งออกเติบโต -5.8% ก็จริง แต่สหราชอาณาจักรส่งออก -9% สหรัฐอเมริกา -7% ฝรั่งเศส -13% เยอรมนี -11.1% เนเธอร์แลนด์ -18% ในภูมิภาคเรา สิงคโปร์ -14.5% มาเลเซีย -14.6% อินโดนีเซีย -14.6% ฟิลิปปินส์ -5.6% ดังนั้นส่งออกตกต่ำของไทยเราจึงไม่ใช่เพราะประเทศไทย แต่เพราะโลกต่างหาก

อีกบทเรียนสำหรับผมคือ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการลงประชามติ ประชาชนควรพิจารณาเนื้อหา และมองข้อดีข้อเสียให้กระจ่าง เพราะจะกำหนดทิศทางสำคัญของประเทศ

หากตัดสินใจผิด เศรษฐกิจอาจตกต่ำคล้ายกรณีที่กำลังเกิดขึ้นกับสหราชอาณาจักร และอาจเป็นผลเสียโดยส่วนรวมได้

มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com; www.oknation.net/blog/richwithlove; @montrees)
กำลังโหลดความคิดเห็น