xs
xsm
sm
md
lg

เทอมฟันด์ขายดี นักลงทุนพักเงินรอตัดสินใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กองเทอมฟันด์ขายดี บลจ.กสิกรไทยเปิดขายเพิ่ม ระบุเฟดอาจชะลอขึ้นดอกเบี้ยหลังตัวเลขเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามคาด ส่วนปัจจัยการโหวตของอังกฤษกดดันตลาดหุ้นผันผวน นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงพักเงินรอจังหวะการลงทุนใหม่

นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา บลจ.กสิกรไทยได้มีการเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศประเภทกำหนดอายุโครงการต่อเนื่องเป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนมาโดยตลอด และล่าสุดที่ได้เปิดเสนอขายกองทุนเปิดเค เอ็นแฮนซท์ ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน ดีเอ (KEFF6MDA) ซึ่งมีอายุโครงการประมาณ 6 เดือน

โดยกองทุนดังกล่าวสามารถปิดการเสนอขายหน่วยลงทุนได้ก่อนระยะเวลาที่กำหนดในช่วงเปิดเสนอขายครั้งแรก เนื่องจากมีผู้ลงทุนจองซื้อเข้ามาเต็มจำนวนมูลค่าโครงการรวมกว่า 5,000 ล้านบาท บลจ.กสิกรไทยจึงเตรียมเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศประเภทกำหนดอายุโครงการต่อเนื่องอีกในระหว่างวันที่ 14-20 มิถุนายน 2559 กองทุนเปิดเค เอ็นแฮนซท์ ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน ดีบี (KEFF6MDB) ประมาณการผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนคาดว่าจะได้รับที่ 1.85% ต่อปี และกองทุนเปิดเค เอ็นแฮนซท์ ตราสารหนี้ต่างประเทศ 3 เดือน เอเอช (KEFF3MAH) ประมาณการผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนคาดว่าจะได้รับที่ 1.70% ต่อปี โดยทั้ง 2 กองทุนดังกล่าวมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน และสำหรับผู้ลงทุนบุคคลธรรมดาไม่ต้องเสียภาษี

“สาเหตุที่กองทุนตราสารหนี้ประเภทกำหนดอายุโครงการยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี คาดว่ามาจากมุมมองของนักวิเคราะห์กรณีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีโอกาสชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยออกไป เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาพรวมที่ยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่ออกมาต่ำกว่าที่คาด ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว โดยธนาคารโลกได้ปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้เหลือ 2.4% จากเดิม 2.9% ทำให้นักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ไม่มากนักยังคงหันเข้ามาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อรอดูจังหวะความชัดเจนของตลาด ขณะที่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำทั่วโลก การลงทุนในตราสารหนี้ก็ยังคงให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ทั้งนี้มีปัจจัยที่นักลงทุนควรติดตามในช่วงนี้ ได้แก่ ผลการประชุมของ FED ในวันที่ 14-15 มิถุนายนนี้ เกี่ยวกับสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ และผลการทำประชามติของอังกฤษในเรื่องการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญทำให้ตลาดมีความผันผวนในระยะสั้น ดังนั้น ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยและต้องการพักเงินประมาณ 3-6 เดือนเพื่อรอดูความชัดเจนพร้อมโอกาสล็อกผลตอบแทนที่แน่นอน ก็สามารถเลือกลงทุนกับกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีกำหนดอายุโครงการ ซึ่งบลจ.กสิกรไทยยังคงเปิดเสนอขายเป็นประจำทุกสัปดาห์” นายชัชชัยกล่าว

นายชัชชัยกล่าวเพิ่มเติมถึงรายละเอียดของกองทุนต่อไปว่า สำหรับตราสารหนี้ที่กองทุนเปิดเค เอ็นแฮนซท์ ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน ดีบี (KEFF6MDB) เบื้องต้นคาดว่าจะลงทุนในเงินฝาก PT Bank Rakyat Indonesia (Persero) Tbk, ประเทศอินโดนีเชีย, เงินฝาก Agricultural Bank of China, สาขาฮ่องกง และเงินฝาก Commercial Bank of Qatar, ประเทศกาตาร์ นอกจากนี้ยังลงทุนในตราสารหนี้ Isbank และตราสารหนี้ VakifBank, ประเทศตุรกี ด้านกองทุนเปิดเค เอ็นแฮนซท์ ตราสารหนี้ต่างประเทศ 3 เดือน เอเอช (KEFF3MAH) เบื้องต้นคาดว่าจะลงทุนในเงินฝาก PT Bank Rakyat Indonesia (Persero) Tbk, ประเทศอินโดนีเชีย, เงินฝาก Commercial Bank of Qatar, ประเทศกาตาร์, ตราสารหนี้ Isbank และตราสารหนี้ VakifBank, ประเทศตุรกีเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังลงทุนในเงินฝาก China Construction Bank Corporation, สาขาฮ่องกง โดยทั้ง 2 กองทุนดังกล่าวมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน และเป็นกองทุนที่เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่มีสินทรัพย์ในการลงทุนสูงและสามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน โดยผู้ลงทุนต้องลงทุนด้วยเงินขั้นต่ำ 1,000,000 บาท

ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทยยังได้เพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนต่อเนื่องให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนกับกองทุนตราสารหนี้แบบที่มีกำหนดอายุโครงการ (Fixed Term Fund) ของ บลจ.กสิกรไทย ซึ่งเมื่อกองทุนครบกำหนดอายุโครงการ บริษัทจัดการจะนำเงินค่าขายคืนอัตโนมัติไปซื้อหน่วยลงทุนที่ผู้ลงทุนเลือกได้กองทุนใดกองทุนหนึ่งใน 3 กองทุน คือ กองทุนเปิดเค ตลาดเงิน (K-MONEY) กองทุนเปิดเค ตราสารรัฐระยะสั้น (K-TREASURY) หรือกองทุนเปิดเค เอ็มพลัส (K-MPLUS) ซึ่งอยู่ในกลุ่มกองทุนรวมตราสารหนี้ของ บลจ.กสิกรไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น