โดย ทีมผู้จัดการกองทุน
บลจ.ทิสโก้
ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2016 เป็นต้นไปยังคงต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งจากภาพรวมการขยายตัวเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและมีความผันผวนค่อนข้างสูง ส่งผลให้ภาคการส่งออกไทยมีการฟื้นตัวในระดับต่ำ ประกอบกับรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ยังคงเน้นในเรื่องของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน, การปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม ไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี
โดยตัวเลขอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2015-2018 นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 2.0-3.5% ต่อปี เทียบกับในอดีตประมาณ 5.0-6.0% ต่อปี ซึ่งเป็นยุคที่การส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนมีการขยายตัวค่อนข้างสูงและเป็นสัดส่วนหลักของ GDP (g) คำถามคือ ในยุคเศรษฐกิจ New Normal แบบนี้เราจะมีกลยุทธ์การลงทุนอย่างไร?
ปัจจุบันแนวทางที่ผู้จัดการกองทุนนิยมใช้เพื่อตัดสินใจการลงทุนมีอยู่ 2 วิธี คือ
1) วิธีวิเคราะห์แบบบนลงล่าง (Top-Down Approach) กล่าวคือ ใช้ข้อมูลภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคเป็นจุดตั้งต้นเพื่อหาอุตสาหกรรมที่น่าสนใจเข้าลงทุน แล้วจึงเข้าไปเลือกหุ้นรายบริษัทในกลุ่มที่เราสนใจ สำหรับวิธีนี้พบว่าเริ่มทำได้ยากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีความผันผวน การยึดติดในภาพเศรษฐกิจมหภาคมากเกินไปอาจทำให้นักลงทุนพลาดโอกาสในการลงทุนในบริษัทที่ดี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เศรษฐกิจโดยรวมไม่เอื้ออำนวย
เมื่อดูจากกราฟที่เทียบ GDP(g) ของไทยกับอัตราขยายตัวของกำไรบริษัทใน ตลท. และผลตอบแทน SET Index ต่อปีในช่วงปี 2010-2015 พบข้อสังเกตว่าอัตราการขยายตัวของกำไรบริษัทใน ตลท.ไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับ GDP (g) กล่าวคือ แม้ว่าเศรษฐกิจมหภาคจะไม่เอื้ออำนวย แต่ก็ยังมีบริษัทไม่น้อยที่สามารถสร้างผลกำไรที่ดีได้
ด้วยเหตุนี้ แนวทางการลงทุนอีกวิธีคือ 2) วิธีวิเคราะห์จากล่างขึ้นบน (Bottom-Up Approach) ซึ่งปัจจุบันทีมจัดการลงทุนทิสโก้ใช้ในการบริหารพอร์ตการลงทุน เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น วิธีนี้ผู้จัดการกองทุนจะเริ่มต้นวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทเป็นหลักก่อน
โดยเน้นในเรื่องของข้อมูลงบการเงิน, โมเดลธุรกิจ, แนวคิดจากผู้บริหาร, ความสามารถในการทำกำไรและการแข่งขัน และ Valuation ของหุ้น เพื่อกำหนดราคาเข้าซื้อและผลตอบแทน หลังจากวิเคราะห์เรียบร้อยแล้ว จึงค่อยกลับไปดูแนวโน้มภาพอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยรวมเพื่อประกอบการตัดสินใจ
ในปี 2015 ถือว่าเป็นปีที่แนวทางดังกล่าวมีความชัดเจนและมีความสำคัญมาก กล่าวคือ ผลตอบแทน SET Index ปี 2015 เท่ากับ -14.00% หลักๆ เป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงมากกว่าคาดการณ์ และมี Fund Flows ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกันก็มีบริษัทอยู่เป็นจำนวนมากที่ราคาหุ้นไม่ได้ปรับตัวลงเท่ากับค่าเฉลี่ย และบางบริษัทราคาหุ้นมีการปรับตัวขึ้นและให้ผลตอบแทนเป็นบวกเสียด้วย เนื่องจากบริษัทดังกล่าวยังคงมีผลกำไรที่ขยายตัวต่อเนื่องนั่นเอง
สำหรับปี 2016 เรายังคงเน้นเลือกลงทุนในบริษัทที่มีอัตราการขยายตัวของกำไรอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ธีมการลงทุนดังต่อไปนี้
1) บริษัทที่ได้รับอานิสงส์จากการปฏิรูปประเทศและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางรัฐบาล
2) บริษัทที่เป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ดำเนินอยู่มีความสามารถในการเพิ่ม Market Share อย่างต่อเนื่อง
3) บริษัทที่ผ่านพ้นจุดต่ำสุดของระดับผลประกอบการไปแล้วและปัจจุบันมี Valuation ที่ถูกกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
4) บริษัทที่มีอัตราการขยายตัวของกำไรที่โดดเด่นจากการเติบโตเศรษฐกิจกลุ่ม CLMV และ AEC