xs
xsm
sm
md
lg

คปภ.คาดธุรกิจประกันภัยปี 59 โต 8.02%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คปภ.เผยธุรกิจประกันภัยปี 58 โตร้อยละ 5.46 คาดปี 59 โตต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.02 พร้อมกางแผนงานปี 59 เน้นการกำกับดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า แนวทางการกำกับดูแลของ คปภ.ในปีนี้เราจะเน้นเรื่องของการดูแลคุ้มครองและให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประกันให้แก่ประชาชนเป็นหลัก โดยจะเน้นในทางเชิงรุกและเชิงรับแบบครบวงจร ได้แก่ 1. การปรับปรุงรูปแบบกรมธรรม์ที่มีความซับซ้อนให้ง่ายขึ้นเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดของประชาชน ซึ่งจะมีรายละเอียดให้ประชาชนอ่านเข้าใจมากขึ้นโดยเฉพาะใบปะหน้าแรกของกรมธรรม์ 2. กำกับดูแลอัตราเบี้ยประกันให้เหมาะสม โดยเฉพาะตารางมรณะ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ คนไทยมีอายุยืนยาวมากขึ้น ซึ่งการปรับอัตราเบี้ยประกันที่เหมาะสมนั้นจะทำให้ผู้เอาประกันชำระเบี้ยประกันได้ถูกลง 3. ส่งเสริมประกันภัยรายย่อยแบบง่ายๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเทศกาลสุขใจ (ไมโครอินชัวรันซ์) ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน

4. ดูแลและกำกับพฤติกรรมทางการตลาดของบริษัทประกัน เช่น ช่องทางขายผ่านธนาคารพาณิชย์ (Bancassurance) เป็นต้น นอกจากนี้ คปภ.ยังได้มีการจับมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เพื่อเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ให้แก่ประชาชน รวมไปถึงการกำกับดูแลเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การกำกับดูแลเรื่องการขายประกันทางโทรศัพท์ โดย คปภ.กำลังจะมีการลงนามกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยให้ทาง กสทช.เป็นผู้ดูแลเรื่องโทรคมนาคม ส่วน คปภ.จะดูแลเรื่องการขายประกัน และ 5. การแก้ปัญหาและการกำกับดูแลผู้บริโภค โดยจะปรับปรุงระบบการรับเรื่องร้องเรียนและกระบวนการจัดการปัญหาต่างๆ ให้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ทางรัฐบาลได้มีการผลักดันประกันภัยพืชผล โดย คปภ.เองก็เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานครั้งนี้ด้วย

คาดธุรกิจประกันภัยปี 59 โตต่อเนื่องที่ 8.02%

ดร.สุทธิพล กล่าวต่อว่า ในส่วนของธุรกิจประกันภัยปี 2558 (มกราคม-ธันวาคม 2558) มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 742,408 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 7.84 ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ เป็นผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4/2558 ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 2.8 จากการขยายตัวในอัตราเร่งของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุปโภคบริโภคของทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการลงทุน

สำหรับภาวะธุรกิจประกันภัยปี 2558 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมจากธุรกิจประกันชีวิต จำนวนทั้งสิ้น 533,211 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.91 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด ได้แก่ การประกันชีวิตประเภทสามัญ จำนวน 462,532 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.75 รองลงมาเป็นประเภทกลุ่มจำนวน 57,761 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.19 ตามด้วยประเภทอุตสาหกรรม จำนวน 7,245 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 6.14 และประเภทอุบัติเหตุ จำนวน 5,673 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีเบี้ยประกันภัยรับจากสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ จำนวนทั้งสิ้น 45,413 ล้านบาท เติบโตในอัตราเร่งที่ร้อยละ 13.77 สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น

ขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 209,197 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 1.92 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด ได้แก่ การประกันภัยรถ จำนวน 120,405 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.12 ซึ่งแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากการประกันภัยรถภาคบังคับ จำนวน 16,294 ล้านบาท ขยายตัว 5.89 และจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ 104,111 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 1.56 จากยอดการขายรถยนต์ในประเทศที่ขยายตัวลดลง รองลงมาคือ การประกันภัยเบ็ดเตล็ด จำนวน 72,970 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.79 ตามด้วยการประกันอัคคีภัย จำนวน 10,484 ล้านบาท หดตัวลดลงร้อยละ 5.20 และการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง จำนวน 5,338 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.84

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ธุรกิจประกันภัยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 3,040,887 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.50 เป็นสินทรัพย์ลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 2,764,066 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีหนี้สินจำนวน 2,339,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.59 มีหนี้สินต่อผู้เอาประกันภัย จำนวน 2,154,798 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.07 และส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 701,557 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับปี 2559 สำนักงาน คปภ.ได้วางมาตรการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไว้หลายมิติ ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 (ปี 2559-2563) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะกลุ่มฐานราก เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยมีความหลากหลาย รวมถึงการพัฒนาช่องทางการเข้าถึงการประกันภัยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการประกันภัยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดปัจจัยส่งเสริมต่อธุรกิจประกันภัย ทั้งนี้ คาดว่าสิ้นปี 2559 ธุรกิจประกันภัยจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้นประมาณ 801,923 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.02

“นับจากนี้ไปธุรกิจประกันภัยจะมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ในขณะเดียวกันก็จะเป็นหลักประกันความมั่นคงให้แก่ประชาชน ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้ก้าวสู่ความแข็งแกร่ง มีคุณภาพ เสถียรภาพ และมีธรรมาภิบาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นสำคัญเพื่อให้ธุรกิจประกันภัยเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป”


กำลังโหลดความคิดเห็น