เลขาฯ คปภ.เผยบอร์ดไฟเขียวแผนพัฒนาประกันภัยฉบับที่ 3 ลุยยกระดับธุรกิจใน 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปีนี้ถึงปี 2563 คาดดันเบี้ยประกันภัยต่อจีดีพีเพิ่มเป็นร้อยละ 6.20 และจำนวนกรมธรรม์ต่อประชากรไทยอยู่ที่ร้อยละ 50 ระบุกลยุทธ์ 4 ด้านหลัก ประเดิมเพิ่มศักยภาพและความมั่นคงของบริษัทประกันภัยก่อน รวมถึงการให้ความสำคัญต่อกระบวนการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นหลัก
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า บอร์ด คปภ.ได้เห็นชอบหลักการ “แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3” โดยกำหนดยุทธศาสตร์ ทิศทางการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไทยในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2559-2563) มีเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนระบบประกันภัยไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและได้รับความเชื่อถือ ไว้วางใจจากประชาชน โดยคาดหวังให้ระบบประกันภัยมีความมั่นคงและดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ในตลาดเสรี ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยและสามารถใช้ประโยชน์จากการประกันภัยได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ เชื่อว่าภายหลังจบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 คาดหวังว่า Insurance Penetration อยู่ที่ร้อยละ 6.20 จำนวนกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อประชากรอยู่ที่ร้อยละ 50 มูลค่าเบี้ยประกันภัยต่อหัว (Insurance Density) เท่ากับ 18,000-23,000 บาท และสัดส่วนเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน คปภ.ต่อจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยไม่เกินร้อยละ 0.016 ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ.จะได้เร่งผลักดันแผนการปฏิบัติงานร่วมกับธุรกิจประกันภัยและหน่วยงาน ตลอดจนกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 บรรลุเป้าหมายต่อไป
สำหรับแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2559-2563) ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลักๆ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทประกันภัยมีความมั่นคง เข้มแข็งทางการเงิน มีการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณภาพ โดยเร่งพัฒนากรอบการกำกับเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะที่ 2 และการลดต้นทุนโดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เพื่อมุ่งสู่การเป็น Digital Business มุ่งเน้นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ การเปิดเผยข้อมูล และรวมถึงการคัดกรองบุคคลที่มีคุณภาพในการเข้ามาดำเนินธุรกิจประกันภัย มีการยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจประกันภัย เช่น ยกระดับการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย ยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานในกิจกรรมหลักของธุรกิจประกันภัย ยกระดับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลในการดำเนินธุรกิจ
รวมทั้งยกระดับพฤติกรรมทางการตลาดของระบบประกันภัย โดยให้ความสำคัญต่อกระบวนงานที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ประกอบด้วยการพัฒนาการกำกับช่องทางการจำหน่าย และการยกระดับมาตรฐานระบบจัดการสินไหม และการจัดการเรื่องร้องเรียนที่เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และมาตรฐานเดียวกัน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างความรู้และการเข้าถึงการประกันภัย เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย ด้วยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย ผ่านการพัฒนาเครื่องมือ รูปแบบ วิธีการ และสื่อประชาสัมพันธ์ในการให้ความรู้ด้านการประกันภัยที่เหมาะสมกับทุกกลุ่มเป้าหมาย ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยง โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรายย่อย รวมถึงผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพ รวมทั้งขยายช่องทางการเข้าถึงการประกันภัยของประชาชน ผ่านการพัฒนากระบวนการขายประกันภัยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ปลอดภัย และช่องทางการเข้าถึงสำหรับรายย่อยและประชาชนในท้องถิ่น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน เพื่อให้บริษัทประกันภัยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเสริมสร้างการแข่งขันผ่านการผ่อนคลายการกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความยืดหยุ่นและอิงกลไกตลาดมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้มีการพัฒนาความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้ตามความเสี่ยงและความเชี่ยวชาญของบริษัท ให้มีการพัฒนาการกำกับ และกระบวนการให้ความเห็นชอบ/อนุมัติผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล ส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการประกันภัยใน CLMV รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการในกลุ่ม CLMV โดยการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อพัฒนาธุรกิจประกันภัย
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย เพื่อให้ระบบประกันภัยมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจประกันภัย โดยพัฒนาและยกระดับบุคลากรประกันภัยให้เป็นมืออาชีพ ด้วยการสร้างมาตรฐานวิชาชีพของบุคลากรประกันภัย ผลักดันให้สถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูงเป็นศูนย์กลางการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรม เสริมสร้างศักยภาพการวิจัยและสารสนเทศ เพื่อให้ระบบประกันภัยมีฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัยที่สมบูรณ์และมีการเชื่อมโยงข้อมูลที่สามารถรองรับการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งผลักดันให้การประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะการประกันภัยพืชผลสำหรับเกษตรกร การประกันภัยรถโดยสารสาธารณะ อาคารสาธารณะ เรือโดยสาร และสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงการประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ อีกทั้งจะเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานกำกับ โดยปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัย เช่น ปรับปรุงพระราชบัญญัติประกันชีวิตและพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พัฒนากฎหมายประกันภัยทางทะเล ฯลฯ รวมถึงพัฒนาการบังคับใช้กฎหมาย และเตรียมความพร้อมเพื่อการประเมิน Financial Sector Assessment Program (FSAP)