บัวหลวง Money Tips
โดย พิชชาภา ศุภวัฒนกุล
กองทุนบัวหลวง
เมื่อเป็นธุรกิจบริการที่มีความต้องการสูง จึงเชื่อแน่ว่าธุรกิจจัดพิธีแต่งงานแบบอินเดียจะยังเป็น “แม่เหล็ก” ดึงดูดคนอินเดียให้มาใช้บริการท่องเที่ยวและแต่งงานบ้านเราไปอีกนาน แต่ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็มิได้หยุดเพียงแค่นี้ เพราะเขาวางแผนขยายตลาดให้กว้างขึ้น โดย ททท.เล็งตลาดใหม่ที่มีขนาดใหญ่ไม่แพ้กัน นั่นคือคู่สมรสและท่องเที่ยวฮันนีมูนจากประเทศจีนนั่นเอง
การท่องเที่ยวฯ หวังไว้กับนักเดินทางจีนว่าจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในตลาดที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต แต่กว่าจะสำเร็จก็ไม่ง่ายเหมือนคิด เนื่องด้วยธรรมเนียมการแต่งงานของคนจีนยุคใหม่ต่างจากคนอินเดียแบบคนละขั้วกัน
ในพิธีแบบอินเดียนั้น เจ้าภาพต้องเชื้อเชิญเพื่อนสนิทมิตรสหายและครอบครัวทั้งหมดเดินทางมาไทย แต่สำหรับคู่บ่าวสาวจีนกลับนิยมพิธีแต่งแบบโรแมนติก เน้นความเป็นส่วนตัวโดยไม่จำเป็นต้องเชิญแขกมากมาย หนุ่มสาวจีนจึงมักจะบินมาไทยเพื่อเข้าพิธีสมรส แล้วจะเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อถ่ายภาพแห่งความทรงจำไว้เป็นที่ระลึก จากนั้นก็บินกลับเมืองจีน เพื่อจัดงานฉลองในหมู่เพื่อนและญาติมิตรตามอัตภาพ
อุปสรรคสำคัญอาจมาจากค่านิยมของคนจีนที่กำหนดให้ครอบครัวเจ้าภาพต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้เพื่อนและญาติที่มาร่วมงาน ต่างจากชาวอินเดียซึ่งค่านิยมทำนองนี้ไม่รุนแรงนัก ยังเปิดโอกาสให้แขกควักกระเป๋าจ่ายค่ากินอยู่ หรือซื้อความสะดวกสบายเพื่อตัวเองได้บ้าง
ด้วยขนบประเพณีที่แตกต่างกันเช่นนี้ ทำให้ ททท.ต้องทำการตลาดแตกต่างกันตามไปด้วย จนเกิดเป็นแพกเกจแต่งงานแบบหมู่คณะเพื่อสร้างแรงจูงใจหรือเจาะตลาดบ่าวสาวจีนเป็นกรณีเฉพาะ โดยทั้งหมดจะเข้าพิธีและร่วมเดินทางท่องเที่ยวเป็นกลุ่มใหญ่เกือบร้อยคน โดยในปี 2011 มีคู่สมรสจีนเข้าร่วมโปรแกรมนี้ราว 500 ถึง 600 คู่ และหวังว่าตลาดนี้จะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับนักท่องเที่ยวอเมริกันและยุโรป แม้จะมีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่รายงานย้ำให้ใส่ใจที่สุด เนื่องด้วยเสน่ห์ของประเทศไทยที่จูงใจนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คือสภาพอากาศอบอุ่นสบายเกือบทั้งปี มีชายหาดงดงาม มีธรรมชาติน่าตื่นตาตื่นใจ รวมถึงความมีน้ำใจของคนไทย
คู่สมรสชาวตะวันตกมักเน้นพิธีสมรสเรียบง่ายและเป็นส่วนตัวบนชายหาด ท่ามกลางเพื่อนสนิทหรือญาติเพียงไม่กี่คน ทว่าความสำคัญของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ก็คือการขายแพกเกจแต่งงาน ซึ่งมักรวมค่าใช้จ่ายในการเดินทางฮันนีมูนระยะยาวไว้ด้วย โดยตลาดกลุ่มนี้จะมาจากอังกฤษและเยอรมนีเป็นส่วนใหญ่ จึงควรโหมประชาสัมพันธ์และสร้างโปรโมชันจูงใจให้พวกเขาท่องเที่ยวฮันนีมูนหลังพิธีแต่งงานให้ยาวนานยิ่งขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ
ทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยเพิ่งเริ่มโปรโมตธุรกิจสาขานี้ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่กลับได้รับการตอบสนองมากขึ้นเป็นลำดับ กว่าครึ่งของพิธีสมรสจัดขึ้นในกรุงเทพฯ อีกหนึ่งในสามจัดที่ภูเก็ต ส่วนที่เหลือกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ในเมืองไทย จนนับว่าเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงตามอัตราการเติบโต และในวันนี้เรามีบริษัทหรือผู้รับจัดงานหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายเพื่อเกาะให้ทันกระแส แม้จะพิจารณาเฉพาะลูกค้าในประเทศก็ตาม
นสพ.สยามธุรกิจประเมินอุตสาหกรรมรับจัดงานแต่งภายในประเทศว่ามีมูลค่าปีละ 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายปีละ 400,000 คู่ ในจำนวนนี้กว่า 80-90% ใช้จ่ายเงินเพื่อจัดงานเฉลี่ยแล้วตกงานละ 500,000-1,000,000 บาท จึงไม่น่าแปลกที่จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 10-20% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าคนใน หรือรับงานจากคนต่างชาติ ต่างก็ช่วยย้ำว่านี่คืออุตสาหกรรมภาคบริการที่กำลังเติบโตและก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าธุรกิจรับจัดงานมงคลสมรสและกิจกรรมต่อเนื่องจะเป็นหนึ่งใน “เครื่องยนต์หลัก” ที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศต่อไปในภายหน้า