xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.บัวหลวงคาด GDP ไทยปี 59 แตะ 3.0%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.บัวหลวงประเมินปีหน้า GDP ไทยขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ 3.0% คาดอีก 4-5 ปีข้างหน้าการเติบโตก็ยังอยู่ที่ 3-4% เหตุปัจจัยพื้นฐานเดิมยังมีขนาดใหญ่ คาดต้องมีการปรับเปลี่ยนฐานอีกมากเพื่อก้าวกระโดดไปสู่เศรษฐกิจวงจรใหม่ พร้อมเผยแผนการบริหารงานในอีก 5 ปีข้างหน้า

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2559 นั้น หากไม่มีเหตุปัจจัยอื่นที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นจนส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ เศรษฐกิจโลกก็น่าจะขยายตัวได้ที่ประมาณ 3.6% ด้วยการขับเคลื่อนจากประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเป็นหลัก ในขณะที่จีนยังต้องปรับตัวตามเป้าหมายของเขา ทำให้ตลาดเกิดใหม่ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของจีน เช่น อาเซียน จะขยายตัวไม่ต่างจากปีนี้มากนัก

ส่วนประเทศไทย GDP น่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปีนี้ที่ประมาณ 2.5% มาอยู่ที่ประมาณ 3.0% ในปี 2559 โดยอัตราการเติบโตของ GDP ไทยจากนี้ไป 4-5 ปีน่าจะอยู่ที่ 3-4% เพราะปัจจัยพื้นฐานเดิมยังมีขนาดใหญ่ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนนวัตกรรมกับการผลิต/บริการอีกมาก ซึ่งประเทศกำลังปรับฐานเพื่อก้าวกระโดดไปสู่เศรษฐกิจวงจรใหม่ในอนาคต

สำหรับมุมมองด้านการลงทุนในปีหน้าตลาดหุ้นไทยน่าจะมีลักษณะ Sideways up ถ้ารัฐบาลสามารถทำให้ความมั่นใจกลับคืนมาได้และไม่มีความรุนแรงอะไรเกิดขึ้นอีก ซึ่งหากประชาชนมีกำลังซื้อที่ดีขึ้นได้ก็จะช่วยให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเติบโต โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือภัยแล้งกับกำลังซื้อของรากหญ้าที่ยังไม่ดีขึ้น ถ้าแก้ไขตรงนี้ได้จะไปได้เร็วขึ้น และจะช่วยลดความเสี่ยงจากความไม่สงบภายในประเทศลงไปได้ด้วย

ส่วนเรื่อง FED ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นตลาดได้รับรู้ไปมากแล้ว ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ว่าจะขึ้นหรือไม่ แต่อยู่ที่จะเริ่มขยับขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งเมื่อเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกก็น่าจะเป็นเหมือนอดีตคือขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ติดต่อกันไป ทำให้ราคาตลาดตราสารหนี้ในปีหน้าจะผันผวนมากขึ้น เพราะมีความแตกต่างทางนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักๆ โดย FED มีแผนจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ ECB และจีนจะทำตรงกันข้าม คือผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้น ซึ่งดูไปแล้วการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ REITs และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจจากอัตราเงินปันผลที่ดีในภาวะอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ

นางวรวรรณ กล่าวต่อว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานี้ผู้บริหารและพนักงานกองทุนบัวหลวงได้ร่วมกันระดมความคิดและทำแผนกลยุทธ์ธุรกิจสำหรับอีก 5 ปีจากนี้ ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่โลกและประเทศไทยกำลังไปสู่อีกยุค หลังจากผ่านยุคแรกเมื่อ 5 ปีก่อน โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของกองทุนบัวหลวงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยกลยุทธ์ต่างๆ เหล่านี้เกิดจากการระดมสมองของพวกเราที่ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ระดมสมองจากหลากหลายเจเนอเรชัน คือ Baby Boomer, Generation X และ Generation Y ในบริษัทรวมๆ แล้วประมาณ 50 คน เราทำงานแบบ Bottom Up โดย กำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจแบบ Top Down ลงไปก่อน แล้วทีมงานของเราจะนำประสบการณ์ในสนามจริง กับความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ มาผนวกแบบ Bottom Up คล้ายๆ กับวิธีบริหารกองทุนของเรา ทำให้ได้ผลที่ทุกคนจะเข้าใจว่าจากนี้ไปเป้าหมายร่วมกันของเราคืออะไร จะทำงานกันอย่างไรเพื่อตอบโจทย์ใหม่ที่ท้าทาย

สำหรับพันธกิจใหม่ใน 5 ปีข้างหน้า พ.ศ. 2559-2563 ที่จะทำให้ครอบครัวไทยมีความมั่นคงทางการเงินหลังจากพันธกิจเดิมที่กำหนดไว้เมื่อ 5 ปีก่อน ที่ว่า เราจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่สร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ ลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน และสังคม สำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี โดยทั้งสองพันธกิจอยู่บนวิสัยทัศน์ขององค์กร (Vision) ที่ถือเป็นเป้าหมายสูงสุด นั่นคือการเป็นสถาบันการเงินที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ลงทุนให้บริหารเงินลงทุนด้วยความยึดมั่นในผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ

ทางด้านนายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา Managing Director และ Chief Investment Officer กล่าวว่า Theme การลงทุนในปีหน้า คือ “สูงวัย สุขสำราญ บริการ ปัจจัย 4” ซึ่งยังคงเน้นโครงสร้างประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงและเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาใหม่ๆ อยู่ได้ตลอด ทำให้เกิดโอกาสการลงทุนในหลายๆ ด้าน ได้แก่ การขยายตัวของชนชั้นกลาง การก้าวเข้าสู่สังคมเมือง (Urbanization) ของประเทศตลาดเกิดใหม่ทำให้รายได้ของประชาชนสูงขึ้น มีการคาดการณ์ว่าประชากรชนชั้นกลางในเอเชียจะเพิ่มจำนวนจากราว 1,200 ล้านคนในขณะนี้ เป็นกว่า 3,000 ล้านคนในปี ค.ศ. 2030 และการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการที่เป็นปัจจัย 4 ของคนกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ โดยประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนกับอินเดียจะมีประชากรกลุ่มวัยทำงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจซื้อในอนาคต จึงจะเป็นแรงผลักดันและอุดหนุนการบริโภคในระยะยาว

สังคมผู้สูงวัย นอกจากการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มคนวัยทำงานแล้ว ประชากรอีกกลุ่มที่จะเป็นกำลังหลักของการอุปโภคบริโภคได้แก่กลุ่มผู้สูงวัยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกลุ่ม Baby Boomer ที่มีกำลังซื้อมหาศาล โดยในสหรัฐอเมริกานั้นกลุ่ม Baby Boomer มีสัดส่วนกว่า 40% ของประชากร และมีศักยภาพในการใช้จ่ายถึง 70% ของกำลังซื้อในประเทศ ซึ่งไทย สิงคโปร์ หรือจีน ต่างมีแนวโน้มในลักษณะเดียวกัน

อยู่ดี กินดี ดูดี สุขภาพดี อยู่ดี - เมื่อมีกำลังซื้อมากขึ้น และมีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น การตกแต่งบ้านหรือการปรับปรุงบ้านก็จะมีสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่ม Baby Boomer ที่กำลังอยู่ในช่วงระหว่างวัยเกษียณจะมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะลงทุนตกแต่งและปรับปรุงบ้าน

กินดี - ความสามารถในการจับจ่ายที่มากขึ้น และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะคนเมือง ทำให้อุตสาหกรรมอาหารได้รับประโยชน์จากหลายๆ ส่วน คนในชุมชนเมืองทำอาหารเองน้อยลง ออกไปใช้บริการร้านอาหารที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งคนเมืองต้องการความสะดวกสบาย ทำให้อาหารประเภท Ready Meal จะเป็นที่นิยม

ดูดี - ใครๆ ก็ต้องการให้ตัวเองดูดีอยู่เสมอ สังเกตได้จากรูปใน Social Media ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนให้ความสำคัญต่อการดูดี ดังนั้นจึงต้องการสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการดูดี เช่น การใช้สินค้าที่เสริมบุคลิก เสื้อผ้า เครื่องสำอาง และสินค้า Anti-aging ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มฐานลูกค้าที่มีอายุมากขึ้นพร้อมจะลงทุนให้ตัวเองดูดีอยู่เสมอ และมีกำลังซื้อสูง

สุขภาพดี - เทรนด์การดูแลสุขภาพยังคงมาแรง และไม่ใช่แค่การรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอาหารเพื่อสุขภาพ ยาบํารุง รวมทั้งบริการอื่นๆ เช่น Fitness ศัลยกรรมความงาม การชะลออายุ การดูแลสุขภาพฟัน ฯลฯ และเมื่อประชากรสูงอายุมีมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น

“การเลือกหุ้นลงทุนของเราจะเน้น Theme การลงทุนในปี 2559 ด้วยการต่อยอดปีก่อนๆ โดยเรา Update Theme การลงทุนใหม่ทุกปีเพื่อให้เข้ากับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต และเพื่อทำให้ประสบความสำเร็จจากการลงทุนในระยะยาว อย่างไรก็ดี เรายังคงลงทุนต่อเนื่องใน Theme เดิมที่ผ่านมาด้วย ไม่ได้ Liquidate ออกไปทั้งหมด เช่น กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานก็ยังอยู่ โดยเราได้ลงทุนไปก่อนหน้าแล้ว ไม่ต้องรอจนราคาขึ้นจึงค่อยมาลงทุน และเมื่อโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้นจริง ผลของมันก็ไม่ใช่เพียงปีหรือสองปี แต่จะต่อเนื่องไปอีกนาน ด้วยเหตุนี้เราจึงยังคงลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพอร์ตของเราอย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อผลในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เราจึงให้น้ำหนักการลงทุนไปทางด้านภาคบริการที่เกี่ยวกับปัจจัย 4 เป็นพิเศษ”

ขณะที่นายวินัย หิรัณย์ภิญโญภาศ Deputy Managing Director, Head of Operation & System กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และการเปลี่ยนแปลงด้าน Digital Technology ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องท้าทายสำหรับกองทุนบัวหลวงที่จะต้องตอบสนองทั้ง 2 เรื่องให้ได้

ในด้านการให้บริการ กองทุนบัวหลวงมีแผนการพัฒนาบริการให้เกิดระบบที่ง่าย รวดเร็ว และมีทางเลือกให้ลูกค้าเลือกใช้บริการได้หลายช่องทางตามความเหมาะสมของตนเอง เช่น การพัฒนาช่องทางการซื้อขายหน่วยผ่านทางโทรศัพท์ เพื่อรองรับกลุ่มคนที่ไม่ชอบการใช้สื่อดิจิตอลมากนักอย่างผู้สูงวัย และจะใช้ Application สำหรับลูกค้าบาง segment เช่นลูกค้ากองทุนรวมบัวหลวงร่วมทุน หรือลูกค้าที่ไม่ใช่ลูกค้าของธนาคารกรุงเทพ เพื่อเป็นการสร้างฐานลูกค้าใหม่ให้กับธนาคารด้วย ในอนาคตเราจะมี Application สำหรับผู้ใช้ Smart Phone หรือ Tablet บนระบบปฏิบัติการทั้งที่เป็น IOS, Android และเราจะให้ความสำคัญต่อเรื่องของ Digital marketing เราจะมีช่องทางการสื่อสาร เช่น Line@ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เรามี Facebook

ในส่วนของตัวแทนขาย (Selling Agent) จะมีการพัฒนา Platform ที่ให้ความสะดวกแก่ตัวแทนในการทำงาน พัฒนาระบบต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสำหรับลูกค้าของ Agent ต่างๆ ทั้งเรื่องช่องทางการชำระค่าซื้อหน่วยลงทุน ช่องทางการทำรายการผ่าน Online (iBanking) และสนับสนุนให้มีตัวแทนขายเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี บล.บัวหลวง บล.โนมูระพัฒนสิน และตัวแทนขายหน่วยลงทุนของ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต

“นอกจากการพัฒนาไปข้างหน้าเพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านบริการแล้ว การเตรียมพร้อมรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่จะกระทบต่อผู้ลงทุนก็เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะหัวใจของเราคืองานบริการ เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันก็ต้องมั่นใจได้ว่าธุรกิจเราจะต้องเดินต่อไปได้ โดยเราได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพในฐานะบริษัทแม่ที่ช่วยดำเนินการจัดทำระบบบริหารจัดการธุรกิจให้มีความต่อเนื่อง Business Continuity Management (BCM) ที่จะทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้ในทุกๆ สถานการณ์ และเพื่อให้สามารถฟื้นกลับสู่สภาพปกติหลังเกิดเหตุการณ์ทำให้หยุดชะงักได้อย่างรวดเร็ว”

นายหรรสา สุสายัณห์ Managing Director, Head of Corporate & High Net Worth Business กล่าวถึงการทำธุรกิจในอนาคตว่า กองทุนบัวหลวงให้ความสำคัญต่อเรื่อง ESG และ Social Responsibility Investment (SRI) เนื่องจากเรามั่นใจว่าการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การมีบรรษัทภิบาล กับการให้ความสำคัญต่อการต่อต้านคอร์รัปชัน (ESGC) จะเป็นการทำธุรกิจที่ยั่งยืน ทำให้ได้รับการยอมรับจากลูกค้าและนักลงทุน เป็นการสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็งเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้ลงทุนและสาธารณชน ดังนั้น กระบวนการลงทุนของเราจึงให้ความสำคัญต่อเรื่องเหล่านี้ เรานำเรื่องการมีบรรษัทภิบาลที่ดีของบริษัทต่างๆ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลงทุนในทุกๆ กองทุน โดยมี กองทุนบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาล ที่ระบุชัดเจนถึงการเลือกลงทุนที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้

“สิ่งที่เราภูมิใจคือเรามีกองทุนที่ให้ความสำคัญต่อเรื่อง ESGC (Environment / Social Responsibility / Governance / Anti-Corruption) โดยเฉพาะ อย่าง กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND) โดยหวังให้เป็นกลไกที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้สนับสนุนบริษัทที่มีการกำกับกิจการที่ดีตามเกณฑ์ ESGC ทำให้บริษัทต่างๆ เห็นความสำคัญถึงเรื่องเหล่านี้ให้มาก เพราะจะมีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ใส่ใจและเลือกลงทุน เลือกซื้อสินค้าและบริการด้วยเรื่องเหล่านี้เช่นกัน ทั้งนี้ กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND) ได้นำเงินถึง 40% ของรายได้ในการบริหารกองทุนไปสนับสนุนโครงการที่แก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคมไทยประเภทต่างๆ ซึ่งปัจจุบันได้จัดสรรเงินส่วนนี้เพื่อช่วยเหลือโครงการต่างๆ แล้วกว่า 17 โครงการ”


กำลังโหลดความคิดเห็น