โดย สมิทธ์ พนมยงค์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บลจ.ไทยพาณิชย์
การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) เป็นการกำหนดสัดส่วนเงินลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น เงินสด พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ หุ้น ตลอดจนสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ น้ำมันโลหะมีค่าต่างๆ รวมถึงกองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น โดยวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมต่อระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ตามเป้าหมาย และระยะเวลาการลงทุนที่กำหนดไว้ของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ การจัดสรรเงินลงทุนถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า 90% มาจากผลของการจัดสรรเงินลงทุนที่ดี
ปัจจุบัน การจัดสรรเงินลงทุนมีการพัฒนา และเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้น เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension Fund) ของสหรัฐฯ ในอดีตมีกลยุทธ์ในการจัดสรรเงินลงทุน 60/40 คือ หุ้น 60% และตราสารหนี้ หรือเงินฝาก 40% แต่ ณ ปัจจุบัน ตลาดมีสินทรัพย์ทางเลือกและวิธีการลงทุนหลากหลาย เช่น การลงทุนในตลาดเกิดใหม่/ตลาดประเทศกำลังพัฒนา, สินค้าโภคภัณฑ์, อสังหาริมทรัพย์ หรือการลงทุนในหุ้นนอกตลาด ผลตอบแทนเป้าหมาย Pension Fund ดังกล่าวจึงได้เปลี่ยนการจัดสรรเงินลงทุนผ่านการทำ Efficient Frontier โดยสร้างแบบจำลอง Mean variance optimization เพื่อหาพอร์ตการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงสุดภายใต้ระดับความเสี่ยงที่กำหนด ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้รับอิทธิพลมาจากทฤษฎี Modern Portfolio ของProf. Harry Markowitz (ได้รับรางวัลNobel Prizeปี1990) มีการใช้ข้อมูลผลตอบแทนคาดหวัง, ค่าความเสี่ยง (Volatility)รวมถึงค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ในแต่ละสินทรัพย์ด้วย
อย่างไรก็ตาม การจัดสรรเงินลงทุนโดยวิธีดังกล่าวก็มีข้อจำกัดนะครับ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนคาดหวัง และความเสี่ยงของพอร์ตส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในสินทรัพย์บางประเภท เช่น กรณีลงทุนในตราสารทุน (หุ้น) หากเป็นช่วงระยะเวลาที่ตลาดหุ้นตก ทำให้ผลตอบแทนไม่ดีก็ส่งผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนส่วนใหญ่ให้มีผลตอบแทนไม่ดีด้วย เช่น ในปี 2008 เมื่อตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากวิกฤต Subprime พอร์ตการลงทุนส่วนใหญ่ของกองทุนก็จะได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด หรือบางกรณีอาจให้ผลตอบแทนติดลบได้เช่นกันครับ
นอกจากการจัดสรรเงินลงทุนข้างต้นแล้ว ยังมีการจัดสรรเงินลงทุนแบบ Risk Parity ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีการควบคุมความเสี่ยง และเน้นการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนที่เกิดจากแต่ละสินทรัพย์ให้มีค่าเท่าๆ กัน เพื่อแก้ไขข้อจำกัดของการทำ Mean variance optimization แนวความคิดนี้เกิดขึ้นใน ปี1996 ของ Ray Dalio และBob Prince แห่ง Bridgewater Associates ผู้จัดการกองทุน Hedge Fund ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกองหนึ่ง ได้ออกกองทุน All Weather Asset Allocation Strategy ซึ่งเป็นกองทุนแรกที่มีการการลงทุนด้วยวิธี Risk Parity เพื่อให้พอร์ตการลงทุนมีความสมดุล และสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน และกองทุนดังกล่าวยังใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อทำการ leverage (การลงทุนเท่าเดิม แต่มีความเสี่ยงน้อยกว่า และมีโอกาสได้เงินคืนเยอะกว่า) เช่น การจัดสรรเงินลงทุนแบบ 60/40 ที่ความเสี่ยงของพอร์ตส่วนใหญ่อยู่ที่ตราสารทุน ก็สามารถใช้ตราสารอนุพันธ์ในการลดความเสี่ยง ทำให้พอร์ตการลงทุนมีความเสี่ยงใกล้เคียง หรือเท่ากับพอร์ตที่มีการลงทุนในตราสารหนี้
ในทางกลับกันเมื่อภาวะเศรษฐกิจหดตัว พอร์ตการลงทุนมักลงทุนเฉพาะในตราสารหนี้ หากเพิ่มการจัดสรรเงินลงทุนไปในตราสารอนุพันธ์ก็จะทำให้พอร์ตมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ต้องลงทุนในตราสารทุนโดยตรง นอกจากกองทุนดังกล่าวแล้วบริษัทจัดการอื่นๆ ในต่างประเทศก็มีการออกกองทุนในลักษณะเดียวกัน เช่น Invesco, Blackrock ซึ่งการจัดสรรเงินลงทุนแบบ Risk Parity แม้ว่าจะเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นหลังจากวิกฤต Subprime แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ว่าสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกันหรือไม่
จากที่เขียนมาทั้งหมดผมก็ยังเห็นว่าไม่ว่าเราจะจัดสรรเงินลงทุนจะด้วยวิธีใดก็ตาม คงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุน นอกจากจะเป็นการลดความเสี่ยงแล้วยังเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนตรงด้วยตนเอง หรือลงทุนผ่านบริษัทจัดการ ซึ่งปัจจุบันเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเพราะนอกจากจะมีผู้เชี่ยวชาญดูแลเรื่องการลงทุนให้แล้ว ยังมีกองทุนมากมายหลายประเภทให้เลือกสรรด้วยนะครับ ซึ่ง บลจ.ไทยพาณิชย์ ก็ได้มีโอกาสนำเสนอกองทุนที่หลากหลายด้วยเช่นกัน เช่น กองทุน Asset Allocation, กองทุนตราสารหนี้, กองทุนตราสารทุน หรือกองทุนสินทรัพย์ทางเลือกต่างๆ แต่ไม่ว่าจะลงทุนด้วยวิธีใดก็ตาม นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดด้วยนะครับ
อย่าลืมนะครับ การจัดสรรเงินลงทุนเป็นสิ่งจำเป็นที่นักลงทุนต้องคำนึงถึงเพื่อเป้าหมายที่ตั้งไว้นะครับ