คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
พิชา เลียงเจริญสิทธิ์
กองทุนบัวหลวง
หากติดตามข่าวสารของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่างสม่ำเสมอ จะได้ยินเรื่อยๆ ว่าบริษัทมหาชนรายนั้นรายนี้แตกไลน์-เพิ่มสายงานธุรกิจใหม่ๆ หรือขยับขยายการลงทุนจากธุรกิจหลักดั้งเดิมของตนเอง (core business)
ข่าวจำพวกนี้บางทีก็ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อผลประกอบการของบริษัทโดยรวมเลย เรียกได้ว่าพอให้เกิดเป็นข่าวเสียมากกว่า แต่ในบางบริษัทกลับนับว่าจริงจังอย่างยิ่ง ขนาดของธุรกิจใหม่นั้นใช้เงินลงทุนเทียบเท่าหรืออาจจะมากกว่ามูลค่าของธุรกิจเดิมเลย William J. O’Neal ผู้แต่งหนังสือ How to Make Money in Stocks อันโด่งดัง ได้ให้ความสำคัญต่อ “สิ่งใหม่ๆ” ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหม่ (New Companies) ผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Products) รวมทั้งตลาดใหม่ (New Markets) เขาย้ำว่า “ความใหม่” เหล่านี้มีส่วนช่วยผลักดันให้บริษัทเจริญเติบโตอย่างโดดเด่น
ตัวอย่างในระดับโลกที่เราคุ้นชินกันดีก็คือบริษัท Apple ที่แรกเริ่มจับธุรกิจเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจนมั่นคงและเป็นที่รู้จักไปทั่ว ก้าวต่อมาก็กระโจนเข้าสู่ตลาดโทรศัพท์มือถือ เรียกว่ามาครบทั้ง “ธุรกิจใหม่-ผลิตภัณฑ์ใหม่-ตลาดใหม่” ช่วยให้ตัวเองเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ จนมูลค่าตลาดของบริษัท 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2005 กลายเป็น 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ หรือในกรณีบริษัท Netflix ที่เมื่อก่อนประกอบกิจการให้เช่าแผ่นดีวีดีผ่านระบบออนไลน์ ได้หันมาดำเนินธุรกิจ video streaming จนโด่งดัง ทำให้มูลค่าตลาดของบริษัทเติบโตกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ความสำเร็จที่ยกมานี้ช่วยพลิกโฉมหน้าบริษัทจากเดิม ทลายกรอบจำกัดที่เชื่อว่าบริษัทนั้นทำแต่เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือบริษัทนี้ให้เช่าแต่แผ่นหนังจนหมดสิ้น
แน่นอนว่าความสำเร็จในบางกรณีย่อมเป็นที่สนใจ มีคนกล่าวขานและจดจำ จนอาจทำให้นักลงทุน “เหมารวม” ไปถึงทุกบริษัทที่เตรียมแผนเริ่มธุรกิจใหม่ ว่าคงจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน จนมูลค่าหุ้นยกระดับกลายเป็นพรีเมียม ทั้งที่จริงแล้วการขยายหรือเปิดสายงานธุรกิจใหม่ของบริษัทส่วนใหญ่แล้วมักไม่ได้ให้ผลลัพธ์อันโดดเด่นแต่อย่างใดในแง่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรธุรกิจ ในทางกลับกัน บริษัทบางแห่งใช้เงินลงทุนเกินตัวเพื่อรุกธุรกิจใหม่ แต่สุดท้ายกลับไม่ประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้ อาจส่งผลกระเทือนต่อฐานะการเงินจนถึงขั้นล้มละลายได้เลยทีเดียว
สำหรับบริษัทจดทะเบียนของไทย เรามักพบว่าบริษัทที่ขยายงานหรือสร้างธุรกิจใหม่ โดยยังได้รับผลตอบแทนที่ดีนั้น มักจะประกอบด้วยลักษณะเฉพาะบางประการ ได้แก่
1. ธุรกิจใหม่มีแหล่งรายได้อย่างสม่ำเสมอ เช่น มีสัญญารับซื้อที่ชัดเจน หรือเป็นธุรกิจอันดับต้นๆ ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีฐานลูกค้าเก่าอยู่แล้ว (กรณีเข้าซื้อกิจการ)
2. ธุรกิจใหม่ต่อยอดจากธุรกิจเดิมของบริษัท ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้และยังหนุนธุรกิจเดิมให้แข็งแกร่งตามไปด้วย
3. ธุรกิจใหม่ของบริษัทสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นจากคู่แข่งขันในตลาดได้อย่างแจ้งชัด
ในกรณีที่ 1 และ 2 นั้นจะช่วยให้ธุรกิจใหม่เติบโตอย่างยั่งยืน เพราะเป็นโมเดลธุรกิจที่ไม่ได้เร่งเร้าให้เกิดการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมเดียวกันอย่างรุนแรง แต่ในกรณีที่ 3 อาจช่วยให้ธุรกิจใหม่มียอดขายที่หวือหวา เติบโตได้อย่างรวดเร็วทันใจเจ้าของกิจการในช่วงแรก แต่เมื่อการแข่งขันในตลาดทวีความรุนแรงมากขึ้น อัตราการเติบโตอาจจะค่อยๆ ชะลอตัว
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ หลายท่านอาจเห็นหุ้นของหลายบริษัทที่พุ่งทะยานด้วยข่าวลือ ว่าด้วยแนวโน้มว่าจะลงทุนเริ่มธุรกิจใหม่ จากนั้นไม่นานก็ถูกเก็งกำไรจนมูลค่าสูงเกินมูลค่าพื้นฐานของกิจการ นักลงทุนบางท่านหวั่นไหวกลัวจะ “ตกรถ” ขาขึ้นรอบใหญ่ของหุ้นตัวนั้น จึงรีบเร่งเข้าลงทุนโดยหาได้พิจารณาข้อมูลให้ถี่ถ้วน จนเมื่อสถานการณ์ผ่านไปสักพัก ข้อมูลต่างๆ ชัดเจนมากขึ้นก็จะกลับเป็นปกติ หุ้นเข้าสู่ช่วงปรับฐาน หรือที่นักวิเคราะห์มักเรียกว่า Sell on Fact นอกจากนี้แล้ว ช่วงแรกของการก้าวไปสู่ธุรกิจใหม่ บริษัทมักจะมีค่าใช้จ่ายจำเป็นหรือต้องแบกรับผลขาดทุน ซึ่งกระทบต่อผลประกอบการและจะกดดันราคาหุ้นอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง
ถ้าหากนักลงทุน “ชั่งใจ” เพื่อรอทิศทางของธุรกิจใหม่ให้ชัดเจน หรือติดตามความคืบหน้าของกิจการที่แสดงผ่านผลประกอบการประจำไตรมาส ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะตัดสินใจลงทุนในระยะยาว เพราะหากเป็นธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตเสียแล้ว ความจริงจะค่อยๆ เผยตัวผ่านทางงบการเงินอย่างต่อเนื่อง และมูลค่าหุ้นก็จะปรับขึ้นตามไปด้วย ท่านยังจะเก็บเกี่ยวประโยชน์ได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของกิจการโดยไม่ต้องสุ่มเสี่ยงเกินจำเป็น (แม้จะไม่ได้หุ้นในราคาต่ำที่สุดก็ตาม)
สุดท้ายนี้ ขอให้จำคำของคุณปู่ Warren Buffett ไว้ให้มั่น 1. อย่าขาดทุน และ 2. อย่าลืมกฎข้อ 1 เด็ดขาด!