ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ประเมินราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งน้ำมัน และทองคำ ยังอยู่ในช่วงขาลง พร้อมปรับลดสัดส่วนการลงทุน แนะลงทุนหุ้นยุโรป ญี่ปุ่น และจีน เชื่ออีก 12 เดือนข้างหน้ามีโอกาสเป็นขาขึ้น
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า ทิสโก้ยังลดน้ำหนักการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งทองคำ และน้ำมัน ในส่วนของน้ำมันเองปัจจัยลบมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. ประเทศสมาชิกในกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (OPEC) มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อชดเชยการขาดดุลการคลัง
2. อิรัก และอิหร่าน มีความเสี่ยงที่จะผลิตน้ำมันเพิ่มมากขึ้น
และ 3. อุปสงค์น้ำมันในตลาดล่วงหน้าชะลอตัว ดังนั้น โอกาสที่จะเห็นราคาในระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเช่นในอดีตค่อนข้างยาก ในอดีตซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ปรับอุปทานของน้ำมันโลก แต่ในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนมาเป็นสหรัฐฯ แทน โดยสหรัฐฯ ทำผ่านกลไกราคา
ถ้าราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิตสหรัฐฯ ก็ชะลอการขุด แต่ถ้าราคาขึ้นมากกว่าต้นทุนก็จะกลับมาผลิตอีกครั้ง จะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาพอราคาต่ำกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แหล่งผลิตในสหรัฐฯ ก็ลดการขุดเจาะ แต่พอราคามากกว่า 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก็กลับมาผลิตอีกครั้ง ดังนั้นกรอบของราคาน้ำมันน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 50-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
“ปัจจุบันสหรัฐฯ ก็เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่รายหนึ่งเช่นกัน และดีมานด์ความต้องการใช้ในโลกก็ยังไม่ได้มากมายพอที่จะผลักดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นได้ เพราะเศรษฐกิจในโลกโดยรวมยังคงมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอยู่ จะมีเพียงสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจดูดีกว่าที่อื่นในโลก ถ้าจะลงทุนน้ำมันน่าจะต้องเล่นในลักษณะเทรดตามกรอบแนวรับ-แนวต้านมากกว่า แต่ทิสโก้เองยังลดน้ำหนักการลงทุนอยู่”
นายคมศร กล่าวต่อว่า พอร์ตการลงทุนที่แนะนำให้นักลงทุนในช่วงนี้ยังไม่มีกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์แต่ประการใด ในส่วนของทองคำยังคงไม่ดี เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวทำให้แนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์เป็นทิศทางที่จะแข็งค่าขึ้น ราคาทองจึงยังไม่น่าจะดี ในส่วนของอุปสงค์ทองคำโลกในไตรมาสที่ 1 ลดลง 1% โดยอุปสงค์ในเครื่องประดับซึ่งเป็นหมวดใหญ่ที่สุดคิดเป็น 55% ของอุปสงค์รวม ลดลง 3% ในขณะที่อุปสงค์ทองคำเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้น 4% จากการที่กองทุนอีทีเอฟ (ETF) ถือครองทองคำเพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 แต่ในไตรมาสที่ 2 กองทุนอีทีเอฟได้ลดการถือครองทองคำลงต่อเนื่อง จนล่าสุดอยู่ในระดับต่ำกว่าตอนต้นปี โดย ณ วันที่ 8 มิ.ย. กองทุนอีทีเอฟถือครองทองคำจำนวน 1,592 ตัน ซึ่งน้อยกว่าปริมาณทองคำที่กองทุนอีทีเอฟถือครอง ณ วันที่ 1 ม.ค. ที่ราว 1,600 ตัน
อย่างไรก็ตาม ปริมาณความต้องการทองคำโดยรวมที่ลดลงสะท้อนว่าอุปสงค์ทองคำในไตรมาสที่ผ่านมายังคงชะลอตัวต่อเนื่อง เมื่อราคาน้ำมันยังไม่ปรับตัวขึ้นมาร้อนแรง โอกาสที่จะเห็นอัตราเงินเฟ้อสูงตามมาก็ยาก ราคาทองคำก็ยังไปไหนไม่ได้ มองว่ากรอบราคาทองจะแกว่งตัวในช่วงต่ำกว่า 1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์เล็กน้อยไปจนถึง 1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และยังมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับลงได้อีก จึงยังไม่แนะนำให้นำกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์มาจัดพอร์ต แต่แนะนำให้ไปลงทุนในการลงทุนทางเลือกผ่านกลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์แทน
ในส่วนของธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่น่าจะรีบขึ้นดอกเบี้ย โดยทางดอยช์แบงก์มองว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกจะมีขึ้นในเดือน ก.ย. และไปจนถึงช่วงไตรมาสที่ 1/59 จะมีการขึ้นรวมทั้งหมด 3 ครั้ง ไปจบสิ้นไตรมาสที่ 1/59 ที่ระดับ 1.0% ซึ่งปกติก่อนขึ้นดอกเบี้ย 6 เดือนตลาดจะปรับตัวขึ้น หลังจากนั้น 1-3 เดือนตลาดจะปรับตัวลง ซึ่งหากปรับตัวลงไม่มากตลาดก็ยังไปต่อได้ และก็ถือเป็นจังหวะให้เข้าลงทุนด้วยเช่นกันในช่วงที่ตลาดหุ้นย่อตัวลงมา
“หุ้นต่างประเทศยังน่าสนใจกว่าหุ้นไทย โดยเฉพาะยุโรป ญี่ปุ่น และจีน โดยโอกาสในขาขึ้นช่วง 12 เดือนข้างหน้าในหุ้นเยอรมนีมีประมาณ 17% หุ้นจีน 16% และหุ้นญี่ปุ่น 12% แนวโน้มดอลลาร์ที่แข็งค่าจะส่งผลดีต่อค่าเงินยูโรและญี่ปุ่นซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นได้ประโยชน์ไปด้วย” นายคมศรกล่าว