ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com
สวัสดีครับ ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว สัปดาห์นี้มาต่อกันในเรื่องจุดเด่นของตลาดในแต่ละประเทศในอาเซียนกันบ้าง
ในด้านสิงคโปร์
ผมมองว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ในปีนี้จะปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและสาธารณสุข ซึ่งในช่วงต้นปีเศรษฐกิจสิงคโปร์ก็สามารถขยายตัวได้ดีกว่าคาด ประกอบกับในปีนี้ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้มีการใช้นโยบายการเงินโดยการปรับลดค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ลงผ่าน Policy Band เพื่อสนับสนุนการส่งออกให้เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันผ่านราคาสินค้าให้ต่ำลง ประกอบกับเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐที่ยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องก็คาดว่าจะผลักดันสิงคโปร์ปีนี้มีโอกาสฟื้นตัวได้ประมาณ 3% และปรับตัวดีขึ้นในปีหน้าตามทิศทางเศรษฐกิจโลกเนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่ผูกติดกับการค้าขายระหว่างประเทศค่อนข้างมาก
โดยอุตสาหกรรมที่น่าสนใจในสิงคโปร์ ผมมองว่าอุตสาหกรรมในด้านบริการ อย่างเช่น สถาบันการเงินต่างๆ เนื่องจากสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญ และสินค้าโทรคมนาคมหรือเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งการขนส่งขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำ เนื่องจากสิงคโปร์ถูกล้อมรอบด้วยทะเลขนาดใหญ่ทำให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการขนส่งทางน้ำที่สำคัญของภูมิภาค เช่น บริษัทในกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ทั้งให้บริการและจัดจำหน่ายโทรศัพท์พื้นฐานและเคลื่อนที่ ซึ่งมีมูลค่าตลาดที่ใหญ่ที่สุดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และบริษัท Yangzijiang Shipbuilding Holdings Limited ซึ่งเป็นบริษัทต่อเรือขนส่งขนาดใหญ่ เป็นต้น
มาเลเซีย
มองว่าปีนี้เศรษฐกิจอาจชะลอลงเล็กน้อยเนื่องจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่ปรับลดลงและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอลงหลังรัฐบาลมีการปรับขึ้นอัตราภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ภาครัฐ แต่อย่างไรก็ดี ผมมองว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติของมาเลเซียที่อุดมสมบูรณ์และฐานการผลิตที่ค่อนข้างแข็งแกร่งของประเทศก่อนหน้าจะผลักดันให้มาเลเซียพลิกกลับมาเติบโตที่ดีขึ้นได้ในปีถัดไป โดยผมคาดว่ามาเลเซียปีนี้น่าจะมีโอกาสขยายตัวที่ประมาณ 4.9% ซึ่งชะลอลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวประมาณ 6.0% ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นในปีถัดไปจากการจับจ่ายใช้สอยที่ดีขึ้นของกำลังซื้อของชนชั้นกลาง (Middle Income) ที่เพิ่มขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมที่โดดเด่นของมาเลเซีย ได้แก่ กลุ่มการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการผลิตใดๆ ก็ตามที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เช่น เคมีภัณฑ์ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคาร AMMB Holdings Berhad และ Hap Seng Consolidated Berhad
ไทย
ในปีนี้แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอลงต่ำกว่าที่หลายแห่งคาดการณ์ในช่วงก่อนหน้าเนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้าและการบริโภคการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนยังคงชะลอตัวกว่าที่คาด แต่มองว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าในช่วงครึ่งแรกของปีจากการส่งออกที่มีโอกาสดีขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีขึ้น ประกอบกับหากมีการเร่งผลักดันลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐแล้วนั้นก็จะผลักดันให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมและสนับสนุนให้การบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศฟื้นตัวดีขึ้นตามโดยเฉพาะการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจากการที่ไทยมีจุดเด่นจากการเป็นฐานการผลิตและแหล่งการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเพื่อส่งออก รวมทั้งเป็นแหล่งศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค ทำให้อุตสาหกรรมที่น่าสนใจของไทย ได้แก่ ภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ รวมทั้งภาคธนาคารพาณิชย์ เช่น บริษัท ปตท. และบริษัท Delta Electronics เป็นต้น
ฟิลิปปินส์
มีแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่เร่งตัวสูงขึ้นจากการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานผ่านการใช้งบประมาณของภาครัฐและการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาฟิลิปปินส์มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและมีการใช้จ่ายภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจดีขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้ ดังนั้น อุตสาหกรรมที่น่าสนใจของฟิลิปปินส์จะเป็นกลุ่มที่เน้นการก่อสร้างทั้งวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง รวมทั้งกลุ่มสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า เพื่อรองรับเศรษฐกิจและการลงทุน การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เติบโตมากขึ้นในอนาคต เช่น Manila Electric Company
อินโดนีเซีย
เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มองว่ามีโอกาสเติบโตได้สูงหลังมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ เนื่องจากมีนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันใช้งบลงทุนพื้นฐานเพียง 1-1.5% ต่อ GDP ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันและมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2% ต่อ GDP ในช่วงที่เหลือของปี และมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 5% ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินมหาศาลที่กำลังจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน หลังภาครัฐมีการปฏิรูปคอร์รัปชันซึ่งส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นตาม ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตจะสอดคล้องไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจดังกล่าว เช่น การผลิตภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้างและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เช่น พลังงานและ Material ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น PT Indocement Tunggal Prakarsa Tbk เป็นต้น
สำหรับกลุ่ม CLMV ได้แก่ พม่า เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ผมมองว่ายังต้องใช้เวลาในการพัฒนาประเทศอีกช่วงเวลาหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มนี้จะไม่มีความน่าสนใจนะครับ ผมมองว่ากลุ่มนี้จะมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นในช่วงถัดไป เนื่องจากฐานเศรษฐกิจของประเทศที่ต่ำและยังมีการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศที่เข้าสู่ประเทศกลุ่มนี้อย่างจำกัดในช่วงเวลานี้ ขณะที่กลุ่มนี้กลับมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและมีข้อได้เปรียบทางด้านแรงงานพอสมควร ทำให้ผมมองว่าในอนาคตหากมีการพัฒนาอย่างจริงจังแล้วนั้นจะผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มนี้สามารถเติบโตได้ปีละกว่า 10%
โดยในปัจจุบันประเทศที่เริ่มเห็นสัญญาณการเติบโตมากที่สุดในกลุ่ม ได้แก่ เวียดนาม ซึ่งมีการเติบโตของจีดีพีกว่า 6% ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และยังมีการขยายตัวของภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งยังมีการผลักดันของภาครัฐที่ชัดเจนมากที่สุดในด้านการบริโภคและการลงทุน ทำให้มองว่าการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจในเวียดนาม ได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรม โรงงานต่างๆ และการก่อสร้าง เพื่อตอบรับการลงทุนของประเทศและการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น Kinh Do Corporation ซึ่งเป็นบริษัทผลิตขนมที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามซึ่งมียอดขายเติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา
จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศต่างมีความสามารถในการแข่งขันที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นเฉพาะตัว ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรและอัตราการเติบโตของบริษัทต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นเราจึงสามารถหาความโดดเด่นของหุ้นในแต่ละตลาดที่สามารถมีอัตราการเติบโตที่ดีและมีอัตราการจ่ายปันผลในระดับสูงได้ ซึ่งจะมีหุ้นอะไรบ้างสัปดาห์หน้ามาติดตามกันต่อครับ
•นักลงทุนสามารถสอบถามเพิ่มเติมและขอรับร่างหนังสือชี้ชวนได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจที่หมายเลข 0-2659-8888 ต่อ 1 ครับ
•“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”