xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ออกมาด้วยเจตนาดี...หากตีความให้ดีจะไม่มีปัญหาต่อ “ตลาดทุน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ (พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก) ได้ออกมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2558 มีสาระสำคัญที่ทำให้ชาววงการตลาดทุนต้องกังวลกันพอสมควร ด้วยหลายคนอาจตีความไปว่า การยื่นข้อมูลเพื่อขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนทั่วไป

สิ่งที่ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกนี้ออกมาก็เพื่อหวังอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน โดยคาดหวังว่าในการพิจารณาอนุญาตใบอนุญาตใดๆ นั้น ทางหน่วยงานราชการไม่ควรมีการหน่วงเหนี่ยว ร้องขอข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไม่สิ้นสุด อันนำไปสู่กรณีอื้อฉาวของใบ รง.4 ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา

จึงกำหนดตามมาตรา 7 ให้การยื่นข้อมูลต่างๆ นั้นต้องมีความครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชนของหน่วยราชการนั้นๆ และกำหนดตามมาตรา 8 ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ในการรับคำขอจะต้องตรวจสอบคำขอและรายการเอกสารหรือหลักฐานที่ยื่นพร้อมคำขอให้ถูกต้องครบถ้วน หลังจากนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมอื่นใดอีกไม่ได้

หลักการกำหนดข้อจำกัดเวลานี้จะเป็นเงื่อนไขที่ขัดกับหลักการอนุญาตการเสนอขายหลักทรัพย์ เนื่องจาก ก.ล.ต.ต้องใช้เวลาพิจารณาอนุญาตประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งข้อมูลของบริษัทจะมีการปรับปรุงตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อผ่านแต่ละไตรมาส (3 เดือน) ก็จะต้องมีการปรับปรุงข้อมูลการเงินใหม่รายไตรมาสเพื่อให้ประชาชนผู้ลงทุนได้รับรู้ข้อมูลที่ปรับปรุงทันสมัยตามเวลา

การกำหนดให้ต้องหยุดรับข้อมูลจึงทำให้การเปิดเผยข้อมูลอันเป็นประโยชน์แก่นักลงทุนต้องด้อยลงไป หรืออาจจะต้องทำให้ภาคเอกชนหยุดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ หรือต้องเตรียมข้อมูลโดยไม่สามารถเพิ่มเติมงานรายละเอียดได้เลย ทั้งๆ ที่ในอดีตข้อมูลหลักอาจสามารถส่งให้ ก.ล.ต.ทั้งหมด โดยยังมีความยืดหยุ่นให้เพิ่มเติมข้อมูลบางส่วนตามมาได้

เท่าที่ได้รับฟังบุคลากรในวงการ ทั้ง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้กำกับดูแล ที่ปรึกษาการเงิน บริษัทจดทะเบียน และบริษัทที่เตรียมตัวเป็นบริษัทจดทะเบียน พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกนี้จะสร้างความไม่สะดวกหากนำมาใช้กับการอนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์

หากเป็นไปได้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) หรือหน่วยงานต่างๆ ควรจะดำเนินการยกเว้นกระบวนการพิจารณาอนุญาตการเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนทั่วไป ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ดังเดิม โดยไม่ต้องมีกระบวนการที่เปลี่ยนไปตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฉบับนี้ครับ

หมายเหตุ : ผมได้แนบข้อความสำคัญในมาตรา 7 และมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก มาด้วยดังนี้

มาตรา 7 ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้การกระทำใดจะต้องได้รับอนุญาต ผู้อนุญาตจะต้องจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข (ถ้ามี) ในการยื่นคำขอ ขั้นตอน และระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตและรายการเอกสารหรือหลักฐานที่ผู้ขออนุญาตจะต้องยื่นมาพร้อมกับคำขอ ...

มาตรา 8 ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ในการรับคำขอจะต้องตรวจสอบคำขอและรายการเอกสารหรือหลักฐานที่ยื่นพร้อมคำขอให้ถูกต้องครบถ้วน หากเห็นว่าคำขอไม่ถูกต้องหรือยังขาดเอกสารหรือหลักฐานใดให้แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบทันที ถ้าเป็นกรณีที่สามารถแก้ไขหรือเพิ่มเติมได้ในขณะนั้น ให้แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอดำเนินการแก้ไขหรือยื่นเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ถ้าเป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินการได้ในขณะนั้นให้บันทึกความบกพร่องและรายการเอกสารหรือหลักฐานที่จะต้องยื่นเพิ่มเติม พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาที่ผู้ยื่นคำขอจะต้องดำเนินการแก้ไขหรือยื่นเพิ่มเติมไว้ในบันทึกดังกล่าวด้วย และให้พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ยื่นคำขอลงนามไว้ในบันทึกนั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มอบสำเนาบันทึกตามวรรคหนึ่งให้ผู้ยื่นคำขอไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอได้จัดทำคำขอถูกต้องและแนบเอกสารหรือหลักฐานครบถ้วนตามที่ระบุในคู่มือสำหรับประชาชนตามมาตรา 7 แล้ว หรือได้แก้ไขหรือยื่นเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมครบถ้วน ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่แนะนำหรือตามที่ปรากฏในบันทึกตามวรรคหนึ่งแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะเรียกเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมอื่นใดอีกไม่ได้ และจะปฏิเสธการพิจารณาคำขอนั้นโดยอาศัยเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์ของคำขอหรือความไม่ครบถ้วนของเอกสารหรือหลักฐานไม่ได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ความไม่สมบูรณ์หรือความไม่ครบถ้วนนั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือทุจริตของพนักงานเจ้าหน้าที่ และเป็นผลให้ไม่อาจอนุญาตได้ ในกรณีนี้ให้ผู้อนุญาตสั่งการตามที่เห็นสมควร และให้ดำเนินการทางวินัยหรือดำเนินคดีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยไม่ชักช้า

หัวใจสำคัญคงเป็นการตีความมาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ ในนิยามของ “การอนุญาต”

“อนุญาต” หมายความว่า การที่เจ้าหน้าที่ยินยอมให้บุคคลใดกระทำการใดที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมก่อนกระทำการนั้น และให้หมายความรวมถึงการออกใบอนุญาต การอนุมัติ การจดทะเบียน การขึ้นทะเบียน การรับแจ้ง การให้ประทานบัตร และการให้อาชญาบัตรด้วย

ถ้าเป็นไปได้ การอนุญาตการเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งมีรายละเอียดมากมายตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงควรที่จะไม่นับรวมตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกนี้ เพราะตีความได้ว่าไม่เป็น การออกใบอนุญาต การอนุมัติ การจดทะเบียน การขึ้นทะเบียน การรับแจ้ง การให้ประทานบัตร หรือการให้อาชญาบัตรแต่อย่างใด เป็นเพียงการอนุญาตการเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น

ส่วนการอนุญาตให้เป็นการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น อาจเริ่มรับข้อมูลหลังจาก กลต. จนสมบูรณ์ก่อนแล้วก็อาจจะตีความได้ครับ

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันคิดเพื่อประโยชน์ต่อตลาดทุน และจะได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างเต็มที่ต่อไปครับ

มนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com; www.oknation.net/blog/richwithlove; @montrees)


กำลังโหลดความคิดเห็น