ผมแปลกใจที่ช่วงนี้มีการยกประเด็น “โจมตี” กิจการอย่าง 7-11 อย่างไม่เป็นธรรมหลายประการ
... 7-11 เป็นกิจการอันตราย ด้วยการทำธุรกิจอย่างผูกขาด??
... 7-11 เป็นกิจการที่ทำลายร้านค้ารายย่อยประเภท “โชวห่วย” อย่างไม่เป็นธรรม??
... 7-11 เอาเปรียบร้านประเภทแฟรนไชส์??
... 7-11 เอาเปรียบผู้ที่เป็นซัปพลายเออร์??
และนำไปสู่ข้อสรุปต้องการชักชวนกันประท้วงร้าน 7-11
ผมดูแล้ว ผมก็รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม มีหลายสิ่งที่อาจจะเข้าใจผิด และอยากถือโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองต่อบทเรียนเรื่อง “การแข่งขันเสรี” จากบทเรียนกรณีศึกษาของ 7-11 ดังนี้
1. 7-11 ทำธุรกิจอย่างผูกขาดหรือ? ผมได้มีโอกาสเห็น 7-11 พัฒนาธุรกิจมาตั้งแต่สาขาแรกที่บริเวณ ถ.พัฒน์พงศ์เมื่อปี 2532 ก็เป็นกิจการที่เปิดให้บริการอย่างเสรี เราในฐานะผู้บริโภคยังตัดสินใจเข้าซื้อร้าน 7-11 หรือร้านอื่นๆ ได้ตามใจเรา ไม่มีการใช้อำนาจการเมืองใดๆ เอื้อประโยชน์ธุรกิจแต่อย่างใด
ผมนึกถึงตอนที่ผมฮันนีมูน (ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์) ที่แม่ฮ่องสอน เมื่อประมาณ 27 ปีที่แล้ว (ดูหน้าตาและความรักหวานชื่นของคู่ผมอาจคิดว่าไม่น่าจะนานถึงขนาดนั้น...ฮา) ขณะที่น้ำอัดลมในเมืองขายกันขวดละ 3 บาท ที่แม่ฮ่องสอน ผมต้องจ่ายขวดละ 15 บาท!
แต่ถ้าตอนนั้นมี 7-11 เหมือนปัจจุบัน ก็คงจะจ่ายค่าน้ำอัดลมได้ในราคาที่เท่าๆ กัน ผมเห็นที่เกาะพีพี นักท่องเที่ยวต้องการขนม เครื่องดื่มเย็นเจี๊ยบ ก็มีบริการให้อย่างสะดวกสบาย
7-11 ต้องแข่งขันในการให้บริการ การหาพื้นที่บริการที่ให้ความสะดวกแก่เราได้เป็นอย่างดี เดี๋ยวนี้เราไปเที่ยวที่ไหน ก็แวะซื้อขนม เครื่องดื่ม อาหาร ที่ 7-11 หรือร้านสะดวกซื้ออื่นๆ ได้ตลอดทาง
การพัฒนาในช่วงกว่า 26 ปีที่ผ่านมา อาหารเพิ่มขึ้นหลากหลาย ขนมจีบ ซาลาเปา กาแฟ ฯลฯ เป็นที่พึ่งพิงของผู้บริโภคได้อย่างสะดวก
ปัจจุบัน 7-11 มีสาขากว่า 8,000 สาขาทั่วประเทศไทย ก็ถือว่าถ้านับเฉพาะร้านค้าสะดวกซื้อ อาจถือว่าเป็นสัดส่วนสูงมาก จะถือว่า “ผูกขาดอย่างไม่เป็นธรรม” ไหม? เพื่อให้ความเป็นธรรม ผมว่าถ้าเราดูผู้นำธุรกิจรายอื่นๆ
... Apple ผู้ทำ iPhone, iPad ก็เกือบจะผูกขาดในธุรกิจของเขา เพราะของเขาดีกว่า มือถือ แท็บเล็ต ของคนอื่น
... MicroSoft ก็แทบจะผูกขาดโปรแกรมพื้นฐานบนคอมพิวเตอร์ เพราะเขาทำได้ดีกว่าพวก Lotus, Visical ฯลฯ
... Gillette แทบจะผูกขาดมีดโกนหนวด ก็เพราะเขาทำได้ดีกว่ามีดโกนหนวดรายอื่นๆ รวมทั้งรายย่อยๆ มากมาย
ผู้นำตลาดเหล่านี้ไม่เข้าข่ายการทำธุรกิจผูกขาดอย่างไม่เป็นธรรม เพราะที่กิจการชั้นนำอย่างนั้น ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากมาย ไม่ใช่เพราะอำนาจผูกขาดอย่างไม่เป็นธรรม แต่เป็นเพราะเป็นสินค้าที่แข่งขันได้ดีเป็นที่ถูกใจของลูกค้าต่างหาก 7-11 ในประเทศไทยก็แข่งขันบริการได้ดีเยี่ยมคล้ายๆ กัน เดี๋ยวนี้ แม้กระทั่งการจ่ายค่าน้ำ ไฟ โทรศัพท์ ประชาชนก็ใช้บริการชำระเงินที่ 7-11 ได้อย่างสะดวกสบาย
2. 7-11 ทำลายธุรกิจร้านค้ารายย่อย หรือ “โชวห่วย” อย่างไม่เป็นธรรม? ผมเคยสงสารร้านโชวห่วยที่เปิดมานานข้างๆ 7-11 เหมือนกัน เมื่อเดินเข้าไป ของซ้อนทับกันหยิบเองไม่ได้ ครอบครัวกำลังดูทีวีกันอยู่ ต้องเข้าไปทัก แล้วจึงขอให้หยิบสินค้าให้ สินค้าเองก็มีฝุ่นจับ ดึกหน่อยร้านก็ปิดแล้ว ราคาสินค้าไม่ชัดเจน เทียบยาก ก็ทำให้รู้สึกว่าต้องเสียเวลามากขึ้น สะดวกน้อยลง สินค้าก็ไม่ได้ดีกว่า ได้ฝุ่นแถมมาด้วย ก็ทำให้รู้สึกว่า ที่เราเข้า 7-11 หรือร้านโชวห่วย ก็ไม่มีใครบังคับ
ถ้าด้วยการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ทำให้เรา “เลือก” เข้าร้าน 7-11 หรือ Family Mart หรือ Lawson เพราะเราได้บริการที่ดีกว่า สะดวกกว่า จะโทษว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ก็คงไม่เป็นธรรมกับประชาชนผู้บริโภคโดยรวม
3. 7-11 เอาเปรียบร้านประเภทแฟรนไชส์? ผมตั้งใจจะอธิบายเรื่อง 7-11 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ด้วยความรู้ในเรื่องกลไกตลาดเสรีที่เป็นธรรม ผมจึงถือโอกาสสอบถามข้อมูลวงในจากเพื่อนที่ทำงานกับบริษัท ซีพีออลล์ ผู้บริหาร 7-11 ในประเทศไทย และได้รับทราบว่า “7-11 ไม่มีทางคิดร้ายต่อแฟรนไชส์” อยู่แล้ว ต้องการให้โตไปด้วยกันมากกว่า 7-11 ได้สนับสนุนแฟรนไชส์ให้เติบโต เป็นที่พึงพอใจ และคุ้มค่าการลงทุนสำหรับพันธมิตรแฟรนไชส์อยู่แล้ว
นั่นคือเหตุที่ “สัดส่วนแฟรนไชส์” ของ 7-11 “เพิ่มขึ้น” อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดกว่า 20 ปี จาก 0% เป็น 10%, 20%,… จนเป็นประมาณ 55% ในปัจจุบัน
ถ้าแฟรนไชส์ของ 7-11 ถูกจ้องเอาเปรียบ จะมีคนอยากทำแฟรนไชส์อย่างเติบโตต่อเนื่องเช่นนี้เชียวหรือ??
4. 7-11 เอาเปรียบซัปพลายเออร์ ? เช่นเดียวกัน เพื่อนที่ทำงานที่ซีพีออลล์ก็อธิบายหลักการว่า 7-11 กับซัปพลายเออร์ต้องพึ่งพากันยาวนาน 7-11 เติบโตมาขนาดนี้ และซัปพลายเออร์ที่เติบโตมากับ 7-11 ก็มีมากมาย รายที่โด่งดัง เช่น โออิชิ เซปเป้ เถ้าแก่น้อย ที่กิจการเติบโตเป็นพันๆ ล้านบาท ด้วยการเติบโตโดยค้าขายผ่าน 7-11
เราได้เห็นความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อนๆ ชาวต่างชาติได้เห็น 7-11 ที่เมืองไทยยังเอ่ยชมว่า บริการลูกค้า “สะดวกซื้อ” จริงๆ มีสาขามากมาย ผู้บริโภคได้รับความสะดวก มีการพัฒนาคนผ่านสถาบัน “ปัญญาภิวัฒน์” มากมาย เด็กๆ สามารถมีงานดีๆ ทำ และงานเจ้าหน้าที่ที่ 7-11 ไม่ใช่งานกระจอกๆ ต้องมีทัศนคติดี มีวินัย มีความยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสัตย์ซื่อ มีความแม่นยำถูกต้อง มีความคิดเชิงกลยุทธ์วิเคราะห์ศักยภาพของสินค้าและลูกค้า
ดูโดยรวมแล้ว 7-11 ได้อำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคไทยมากมาย เอื้อความสะดวกให้นักท่องเที่ยว ช่วยสนับสนุนซัปพลายเออร์มากมาย มีแฟรนไชส์ที่ได้รายได้ดี จนเพิ่มสัดส่วนจาก 0-10% ขึ้นมาเป็น 55% เป็นลำดับ สร้างงานให้เยาวชนไทยมากมาย ทุกคนมีโอกาส
เมื่อเห็นกิจการดีๆ โตมาไม่ใช่เพราะอำนาจผูกขาดที่ไม่เป็นธรรม แต่เป็นเพราะแข่งขันได้ดีเป็นแบบอย่าง ก็อย่าให้สังคมเชื่อในเรื่องใส่ร้ายอย่างน่าเสียดายเลยครับ นานๆ ประเทศไทยจะมีกิจการที่แข่งขันได้ในเวทีโลก อย่างกลุ่ม ซีพี คนไทยน่าจะร่วมภาคภูมิใจกับความสำเร็จของเขามากกว่าครับ
โดยมนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com; www.oknation.net/blog/richwithlove; @montrees)