xs
xsm
sm
md
lg

บนถนนจรดวิถีถ่อง (1) : สุโขทัย สองเมืองสองความต่าง

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง




ในบรรดาจังหวัดในประเทศไทย 77 จังหวัด ไม่มีใครไม่รู้จัก “สุโขทัย” จังหวัดภาคเหนือตอนล่างที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน จากอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองในอดีต เป็นราชธานีแห่งแรกของชาติไทย กระทั่งปัจจุบันกลายมาเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงด้านสถาปัตยกรรม โบราณสถาน และงานศิลปกรรมต่างๆ ที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะต่างชาติ

หากใครได้อ่านบทความของผมมาโดยตลอดจะรู้ว่า สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ จะแนะนำแหล่งท่องเที่ยวก็ไม่ใช่ จะบอกเล่าประสบการณ์ท่องเที่ยวก็ไม่เชิง เพราะฉะนั้นโปรดอย่าคาดหวังว่า อ่านบทความนี้แล้วจะทำให้อยากแพ็คกระเป๋ามาเยือนที่นี่ หากแต่เป็นบันทึกการเดินทางที่ผมคิดว่าน่าจะฉีกแนวไปจากเรื่องราวของนักท่องเที่ยวคนอื่น

เพราะสิ่งที่ได้รับหลังกลับจากทริปในครั้งนี้ ทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวว่ามันเป็นอย่างไร ก่อนที่จะขยายความเพื่อเล่าสู่กันฟัง เราคงไม่ขอกล่าวถึงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งหาอ่านได้อย่างละเอียดในตำราประวัติศาสตร์ทั่วไป หรือหากเป็นไปได้ ควรมาเยือนและศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยตัวเองสักครั้งในชีวิต

บอกตามตรงว่า ผมสนใจชื่อถนน “จรดวิถีถ่อง” ตามที่ผมนำมาจั่วหัว ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่สำคัญของจังหวัดสุโขทัย นำพาพวกเราไปพบประสบการณ์ในจังหวัดที่มีความหมายว่า “รุ่งอรุณแห่งความสุข” แห่งนี้สักครั้งในชีวิต



เอาเข้าจริงถนนจรดวิถีถ่องไม่ได้มีที่มาจากตัวเมืองสุโขทัย จากการค้นข้อมูลประวัติศาสตร์ ถึงการเกิดขึ้นของถนนเส้นนี้ พบว่ามาจากการกรุยทางล้อทางเกวียนเลียบแม่น้ำยม จาก อ.สวรรคโลก ลงมายังที่ว่าการอำเภอเมืองและตลาดสุโขทัย ระยะทางประมาณ 39 กิโลเมตร ปัจจุบันคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101

จากนั้นข้ามสะพานแม่น้ำยม ที่เรียกว่า สะพานพระร่วง ตรงไปยังอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ผ่านที่ว่าการอำเภอบ้านด่านลานหอย สิ้นสุดที่บ้านระแหง จ.ตาก ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ซึ่งต่อมาในปี 2493 ได้ก่อสร้างถนนพหลโยธินจาก จ.ลพบุรี ขึ้นไปยัง จ.ลำปาง เชื่อมถนนจรดวิถีถ่องบริเวณสี่แยกทางหลวง

ในปี 2452 ถือเป็นปีที่การคมนาคมทางบกเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในเมืองสุโขทัย เมื่อกรมรถไฟหลวงได้เปิดเดินรถไฟแยกจากสถานีชุมทางบ้านดารา มาถึงสถานีสวรรคโลกเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2452 โดยในปีเดียวกันกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งกิ่งอำเภอบ้านด่านลานหอย แยกออกจากอำเภอเมืองสุโขทัยขึ้น

ต่อมาได้ก่อสร้างถนนจากตัวเมืองพิษณุโลก ไปยังตัวเมืองสุโขทัยในปี 2479 เรียกว่า “ถนนสิงหวัฒน์” ก่อนที่ในเวลาต่อมารัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ช่วยเหลือก่อสร้างถนนพิษณุโลก-หล่มสัก หลังก่อสร้างถนนสระบุรี-นครราชสีมา โดยต่อมาเรียกว่าถนนมิตรภาพ และก่อสร้างถนนสายหล่มสัก-ชุมแพ ไปเชื่อมต่อถนนมะลิวัลย์ (เลย-ขอนแก่น เดิม)

ปัจจุบันกรมทางหลวงได้รวมเอาทางหลวงแผ่นดิน 9 เส้นทาง จาก อ.แม่สอด จ.ตาก ถึง จ.มุกดาหาร รวม 793 กิโลเมตร ผนึกเป็น "ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12" ในปี 2551 หวังที่จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียที่เมืองเมาะลำเลิง ประเทศพม่า กับทะเลจีนใต้ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม

แน่นอนว่าสุโขทัยกลายเป็นจังหวัดทางผ่านที่สำคัญของทางหลวงสายนี้ แต่ที่น่าแปลกใจคือ ปัจจุบันตัวเมืองสุโขทัยยังคงมีวิถีชีวิตความเป็นเมืองต่างจังหวัดที่เรียบง่าย เทียบกับ จ.พิษณุโลก และ จ.ขอนแก่น ที่การขยายตัวของเมืองและการเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคทำให้กลายเป็นเมืองที่แออัดวุ่นวายลงถนัดตา

• • •



เราออกเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ในเวลาก่อนเที่ยงคืน ด้วยรถตู้ที่รวบรวมเงินกันกับเพื่อนที่มหาวิทยาลัยเหมากันมา เพราะเคยตั้งใจเอาไว้ว่าจะไปเยี่ยมบ้านเพื่อนชาวสุโขทัยสักครั้งในชีวิต ตลอดเส้นทางผ่านนครสวรรค์ ถึงพิษณุโลกประมาณตีห้า เข้าสู่ถนนสิงหวัฒน์ ก่อนที่จะถึงตัวเมืองสุโขทัยในเวลาประมาณ 6 โมงเช้า

เมื่อเข้าตลาดตัวเมืองสุโขทัยชั้นใน เริ่มมีความรู้สึกว่าจังหวัดนี้มีวิถีชีวิตเรียบง่ายอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงเช้าพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสุโขทัยนิยมทำบุญตักบาตรกันเป็นประจำ จากนั้นก็เริ่มค้าขายตั้งแต่เช้าจรดเย็น โดยมีผู้คนจับจ่ายซื้อของอย่างไม่ขาดสาย ความพิเศษของตัวเมืองสุโขทัยคือ ตลาดที่นั่น ร้านค้า หรือแผงลอยจะมีเฉพาะของคนท้องถิ่นเท่านั้น

พวกเราเดินไปจับจ่ายซื้อของกิน เพื่อที่จะไปจัดเลี้ยงที่บ้านพักของเพื่อนซึ่งอยู่อีกอำเภอหนึ่ง ช่วงนี้เทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ให้ผู้ค้าจากตลาดสาธารณะ 2 ย้ายไปค้าขายกันที่วัดราชธานีเป็นการชั่วคราว จนกว่าตลาดสาธารณะ 2 จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ เราจึงได้เห็นของกินมากมายภายในวัดแห่งนี้

นอกจากธนาคารพาณิชย์แล้ว ผมแทบจะไม่เห็นโมเดิร์นเทรดเข้ามาในตัวเมืองเลย ตั้งแต่ห้างค้าปลีกขนาดยักษ์ ถ้าเป็นจังหวัดอื่นป่านนี้คงไม่รอด หรือจะเป็นร้านสะดวกซื้อชื่อดัง วันที่ไปเยือนนั้นเดินไปรอบตลาดไม่เห็นมีสักสาขาเดียว แต่พอไปค้นที่หลัง พบว่าร้านสะดวกซื้อชื่อดังจะตั้งอยู่ชายขอบตลาดตัวเมืองสุโขทัยออกไป

ส่วนห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่นั้น มีเพียง “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” สโตร์ชั้นเดียวบนถนนจรดวิถีถ่อง ใกล้กับโรงพยาบาลบ้านกล้วย ห่างจากตัวเมืองด้านทิศตะวันตก ไปทาง จ.ตาก 5 กิโลเมตร “เทสโก้ โลตัส” เปิดได้แค่ตลาดโลตัสขนาดย่อม ตั้งอยู่บนถนนจรดวิถีถ่อง ใกล้แยกบางแก้ว ห่างจากตัวเมืองด้านทิศเหนือ ไปทาง อ.สวรรคโลก 1.7 กิโลเมตร

ห้างค้าส่ง “แม็คโคร” ตั้งอยู่บนถนนสิงหวัฒน์ ห่างจากตัวเมืองด้านทิศตะวันออก ไปทาง จ.พิษณุโลก 3 กิโลเมตร ห้างค้าปลีกอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน “โฮมโปร” ตั้งอยู่บนถนนเลี่ยงเมืองสุโขทัย บริเวณแยกคลองโพธิ์ และ “โกลบอลเฮ้าส์” ตั้งอยู่บนถนนจรดวิถีถ่อง ใกล้กับบิ๊กซี สาขาสุโขทัย เป็นต้น



เท่าที่คุยกับเพื่อน บอกว่าที่นี่แบ่งออกเป็นตัวเมืองสุโขทัย ผู้คนมักจะมาจับจ่ายซื้อของ มาเรียนหนังสือ มาติดต่อราชการกัน ส่วนเมืองเก่า นักท่องเที่ยวนิยมไปที่นั่น รถโดยสารประจำทางที่มาจากกรุงเทพฯ จะไม่เข้าเมือง แต่จะไปจอดที่สถานีขนส่งผู้โดยสารบนถนนเลี่ยงเมือง ใกล้แยกคลองโพธิ์ โดยมีรถสองแถวให้บริการเข้าไปยังตัวเมืองสุโขทัยอีกที

บอกตามตรงว่ารู้สึกชอบการจัดวางผังเมืองแบบนี้ ได้เห็นวิถีชีวิตการค้าขายที่เรียบง่ายของคนสุโขทัยจริงๆ ไม่มีความวุ่นวายของรถประจำทางที่มาจากกรุงเทพฯ ที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการจราจรในต่างจังหวัด ไม่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ไม่มีโมเดิร์นเทรดยักษ์ที่กลืนกินรากเหง้าทางเศรษฐกิจของตัวเมืองแต่ละจังหวัดไปจนหมดสิ้น


หลังจากซื้อของเสร็จ เพื่อนได้พาไปยัง "ศาลพระแม่ย่า" ตั้งอยู่ติดกับศาลากลางจังหวัดสุโขทัย ถนนนิกรเกษม ริมแม่น้ำยม ศาลนี้เป็นที่ประดิษฐานดวงพระวิญญาณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและเทวรูปพระแม่ย่า ระหว่างรอเพื่อนๆ สักการะเทวรูปพระแม่ย่า ได้ลงไปเดินเล่นริมเขื่อนบริเวณแม่น้ำยม พบว่าช่วงหน้าแล้งน้ำน้อยมากจนเห็นเขื่อนเรียงหิน

เมื่อพูดถึงเขื่อนเรียงหินแล้ว ก็คงต้องนึกถึงนักการเมืองชื่อดังอย่าง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ที่ชื่อนี้ได้มาจากฝ่ายค้านได้ซักฟอกกรณีที่สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นที่กังขาว่าได้ดึงเอางบประมาณไปทำเขื่อนกันดินพังตรงริมตลิ่งแม่น้ำยม หลังบ้านกำนันคนหนึ่งใน อ.ศรีสำโรง จนถูกตั้งฉายาว่า "รัฐมนตรีเรียงหิน"



แม้ปัจจุบันหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง จะทำให้นักการเมืองโดยเฉพาะ ส.ส. กลายเป็นคนว่างงาน แต่สำหรับการเมืองท้องถิ่น ยังมี “พรรณสิริ กุลนาถศิริ” น้องสาวของสมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย ซึ่งถือว่ายังมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่

โดยมีโปรเจ็กต์ที่สำคัญ คือ “ทุ่งทะเลหลวง” โครงการแหล่งกักเก็บน้ำ (แก้มลิง) จากแนวคิดของสมศักดิ์ ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2545 บนที่ดินริมถนนทางเลี่ยงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ห่างจากตัวเมืองออกไปทางทิศเหนือ 14 กิโลเมตร โดยได้ดึงส่วนราชการไปอยู่ที่นั่น เช่น อบจ.สุโขทัย ศาลจังหวัดสุโขทัย สำนักงานอัยการจังหวัดสุโขทัย เป็นต้น

• • •

กลับมาที่เรื่องทริปของเรากันต่อ หลังจากพวกเราสักการะศาลพระแม่ย่าแล้วเสร็จ ก็เดินทางกันต่อไปยัง "อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย" บนเส้นทางถนนจรดวิถีถ่อง ห่างจากตัวเมืองด้านทิศตะวันออกไปทาง จ.ตากประมาณ 12 กิโลเมตร เมื่อผ่านแยกบ้านนาไปแล้ว ถนนจะเหลือเพียงแค่ 2 ช่องจราจรสวนทาง

เมื่ออุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยถูกยกให้เป็นเมืองมรดกโลกเมื่อปี 2534 ส่งผลทำให้การขยายถนนเป็นไปได้ยาก จึงได้ก่อสร้างถนนเส้นใหม่เพื่อเลี่ยงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กระทั่งในปี 2540 ได้เวนคืนที่ดินเพิ่มเติม และก่อสร้างถนนตัดใหม่ไปอีก 26 กิโลเมตร เพื่อย่นระยะทางและหลีกเลี่ยงการจราจรแออัดโดยไม่ต้องเข้าเมืองสุโขทัย กลายเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 125



ตลอดสองข้างทางของถนนสายเก่าเต็มไปด้วยต้นไม้ร่มรื่น มีทั้งรีสอร์ต เกสต์เฮ้าส์ ร้านกาแฟ รองรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สำหรับคนที่ไม่ได้นำรถส่วนตัวมาเอง จะมีรถสองแถว 6 ล้อตัวถังไม้ สายสุโขทัย-เมืองเก่า จอดอยู่ที่ป้อมตำรวจใกล้สะพานพระร่วง บริการตั้งแต่เช้าถึง 6 โมงเย็น

เรามาถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ก่อนเข้าชมภายในต้องซื้อบัตรเข้าชม โดยคนไทยคิด 20 บาท ที่นิยมกันมากก็คือการเช่าจักรยาน หากเช่าที่นี่สนนราคาคันละ 30 บาท สามารถปั่นจักรยานได้จนถึงเย็น เราเลือกจักรยานครอบครัวขนาดใหญ่เพราะมีความรู้สึกว่าขี่ง่าย แถมให้เพื่อนซ้อนท้ายได้ด้วย

อันที่จริงสำหรับใครที่ชื่นชอบการปั่นจักรยาน นอกจากที่นี่แล้ว ที่สนามบินสุโขทัย อ.สวรรคโลก ก็ยังมีจักรยานให้บริการฟรี สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการปั่นชมธรรมชาติของทุ่งนาโดยรอบสนามบิน และเที่ยวชมโครงการเกษตรอินทรีย์ คิดว่าทางจังหวัดน่าจะส่งเสริมให้ที่นี่เป็นเมืองจักรยานไปเลย หากไม่ติดว่าถนนสายเก่ามีสภาพคับแคบ



จุดแรกที่เราไปเยือนก็คือ "พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช" สร้างขึ้นแล้วเสร็จเมื่อปี 2518 เพื่อประกาศเกียรติคุณและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านต่างๆ โดยเฉพาะการประดิษฐ์อักษรไทย และสลักศิลาจารึกลงเหตุการณ์ รวมทั้งปกครองแผ่นดินโดยธรรมให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขตลอดรัชสมัย

ด้วยความที่พวกเราผู้มาเยือนต่างก็เป็นศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันที่เรียกว่า “ลูกพ่อขุน” ด้วยกันทั้งนั้น จากที่เคยเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์ขนาดย่อมในรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อมาเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ใหญ่กว่าก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจไม่น้อย ที่สำคัญหากเป็นนักศึกษาสาขาวิทยบริการสุโขทัย ก็จะได้มีโอกาสถ่ายรูปชุดครุยกันที่นี่อีกด้วย

พูดถึงสาขาวิทยบริการสุโขทัย ซึ่งอยู่ห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 4 กิโลเมตร ทราบจากเพื่อนๆ ว่าในอนาคตอาจจะขยับขยายมาเป็น "มหาวิทยาลัยรามคำแหง 3" จากที่ในกรุงเทพฯ มีวิทยาเขตหัวหมาก และวิทยาเขตบางนา (รามคำแหง 2) โดยเปิดสอนทุกสาขาวิชา จากปกติสอนเฉพาะนิติศาสตร์ การจัดการ สื่อสารมวลชน และบริหารรัฐกิจ

ในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าลูกพ่อขุน ผมนี่แทบอยากเชียร์ให้ขยับขยายเป็นมหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบดูบ้าง จะได้กระจายโอกาสทางการศึกษาไปยังต่างจังหวัดโดยไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ และอาจเพิ่มเติมให้เป็นแหล่งพักผ่อนและกิจกรรมสำหรับศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ส่วนสาขาวิทยบริการเป็นส่วนส่งเสริมในสาขาวิชายอดนิยม 4 สาขาเช่นเดิม



จุดที่สองที่เราไปเยือน คือบริเวณ "วัดมหาธาตุ" ที่อยู่ใกล้กัน ถือเป็นวัดสำคัญของกรุงสุโขทัย และเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของที่นี่ จากนั้นเราขี่จักรยานไปรอบๆ วัดตระพังเงิน และวัดสระศรี ซึ่งหากมองจากทางอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราชไปทางทิศตะวันตก จะเห็นสระน้ำ เมื่อยืนจากท่าน้ำจุดนั้นจะเห็นเจดีย์และพระพุทธรูปสีขาว ทัศนียภาพที่สวยงาม



เราใช้เวลาปั่นจักรยานนานพอสมควร ท่ามกลางอากาศร้อน เราจึงนั่งรถตู้เดินทางไปต่อที่ "วัดศรีชุม" ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประมาณ 2 กิโลเมตร มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่เป็นแลนด์มาร์คสำคัญ แต่ที่แปลกใจคือ ทางอุทยานฯ เรียกเก็บค่าเข้าชมเพิ่มโดยการซื้อบัตรเข้าชมใหม่อีกครั้ง ทั้งๆ ที่เราซื้อบัตรเข้าชมมาแล้ว

ระหว่างนั้นเพื่อนที่เป็นคนสุโขทัยแนะนำให้ชิม “เมี่ยงหวาน” เป็นเมี่ยงคำในห่อพลาสติกขนาดพอดีคำ 2 ชิ้น ห่อบรรจุด้วยใบตอง สนนราคาห่อละ 5 บาท เมื่อลองชิมดูแล้วแรกๆ เมื่อใส่ปากจะรู้สึกขมใบเมี่ยงที่หมักเอาไว้ ก่อนที่เวลาเคี้ยวจะค่อยๆ มีความหวานออกมาจากน้ำเชื่อม ทานแล้วรู้สึกแปลกดี

• • •



ในช่วงบ่าย หลังจากที่เปลี่ยนเสื้อผ้าเรียบร้อยแล้ว เราเดินทางไปเล่นน้ำกันต่อที่ "น้ำตกตาดเดือน" ในอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย เป็นลานหินกว้างและแอ่งน้ำลึก มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับฤดูกาล ข้อควรระวังสำหรับคนที่ว่ายน้ำไม่เป็นก็คือ บริเวณแอ่งน้ำความลึกเกือบ 2 เมตรแทบมิดศีรษะ ให้ระมัดระวังจมน้ำด้วย

หลังจากเล่นน้ำตกจนเย็นใจแล้ว เรากลับไปยังที่พัก เที่ยวนี้นอนค้างบ้านเพื่อนที่ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย แม้จะอยู่ห่างจากตัวจังหวัดราว 70 กิโลเมตร แต่ก็ยังไม่ขาดแคลนสิ่งของอุปโภค บริโภค มีร้านโชห่วยของคนท้องถิ่นที่มีสินค้าเกือบครบครัน ขาดแต่ไส้กรอก ขนมจีบ ซาลาเปาเท่านั้น และมีร้านขายน้ำแข็งจำหน่ายทั้งปลีกและส่งอีกด้วย

นึกสงสัยว่าทำไมบ้านแต่ละหลังบริเวณชั้นล่างจึงเปิดโล่ง จะรับมือกับน้ำท่วมเหมือนบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาหรือเปล่า ถามแม่ของเพื่อนก็ได้คำตอบว่า เพื่อให้ลมในแต่ละทิศพัดเข้ามา ช่วยให้บ้านเย็นสบาย ไม่ร้อน ที่นี่น้ำไม่ท่วมซ้ำซากเพราะอยู่บนที่สูง มีแม่น้ำแม่มอกจาก อ.เถิน จ.ลำปางไหลผ่าน น้ำป่าเข้าท่วมสามวันน้ำก็ลดเป็นปกติแล้ว

รู้สึกทึ่งกับการออกแบบบ้านโดยภูมิปัญญาชาวบ้านในอดีต และฝันในใจว่าอยากจะซื้อที่ดินสร้างบ้านไว้ใช้ชีวิตเรียบง่ายแบบนั้นบ้าง แต่เท่าที่คุยกับเพื่อนเจ้าของพื้นที่ ว่ากันว่าที่ดินใน อ.ทุ่งเสลี่ยมนั้นหาซื้อยาก ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนจะซื้อที่ดินไว้ทำบ้านพักก็ยังหาไม่ได้เลย



เช้าวันต่อมาพวกเราไปเยี่ยมชมวัดใน อ.ทุ่งเสลี่ยม เริ่มจาก "วัดทุ่งเสลี่ยม" เป็นวัดที่ประดิษฐาน หลวงพ่อศิลาพระพุทธรูปหินทรายปางนาคปรกที่งดงามที่สุดองค์หนึ่ง เดิมประดิษฐานอยู่ที่ถ้ำเจ้าราม ซึ่งเป็นถ้ำที่มีค้างคาวอาศัยอยู่จำนวนมาก เคยถูกโจรกรรมไปยังสหรัฐอเมริกา ก่อนจะมีนายทุนจ่ายค่าชดเชยและอัญเชิญกลับมายังประเทศไทย

จากนั้นเราไปต่อกันที่ "วัดพิพัฒน์มงคล" ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุโขโพธิ์ทอง หรือหลวงพ่อทองคำ แต่บรรยากาศแตกต่างไปจากวัดแรกที่เราไปเยือน เพราะมีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมจำนวนมาก โดยเฉพาะพระอุโบสถประดับแก้ว และหอคำหลวงไม้สักทองแบบฉบับล้านนาที่งดงาม



เสร็จจากสุโขทัย เราจะไปเยือนอีกจังหวัดหนึ่งที่อยู่ติดกัน บนถนนจรดวิถีถ่อง ที่ถูกยกให้เป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก จากทะเลจีนใต้ไปยังมหาสมุทรอินเดีย ที่นั่นแม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าค้นหา โดยเฉพาะวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และความเป็นไปของเมืองที่ยังคงสงบร่มเย็น.

(อ่านต่อ “บนถนนจรดวิถีถ่อง” ตอนที่ 2 ฉบับหน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น