xs
xsm
sm
md
lg

บนถนนจรดวิถีถ่อง (จบ) : ตาก ร้อนที่สุดในประเทศไทย กับสายน้ำแม่ปิงไหลเย็น

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ความเดิมตอนที่แล้ว : บนถนนจรดวิถีถ่อง (1) : สุโขทัย สองเมืองสองความต่าง

แม้ว่าในช่วงฤดูร้อนจะได้ยินข่าวพยากรณ์อากาศที่จัดอันดับว่าในแต่ละวันที่ไหนร้อนที่สุด แต่ในชีวิตเพิ่งเคยได้ยินว่า ตาก เป็นจังหวัดที่ร้อนที่สุดในประเทศไทย ทั้งจากบอกเล่าของรุ่นพี่ที่ทำงาน รวมทั้งเพื่อนที่เคยไปเรียนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตตาก มานานกว่า 2 ปี

จากการสืบค้นเบื้องต้นทราบมาว่า ที่จังหวัดนี้ร้อนที่สุดในประเทศไทย เพราะมีปรากฎการณ์หินโผล่เหนือดินของหินแกรนิตและหินน้ำมันจำนวนมาก อีกทั้งป่าไม้ถูกทำลาย จึงเป็นผลทำให้หินสะท้อนความร้อนเต็มๆ และเกิดการสะท้อนความร้อนขึ้นมา ทำให้อากาศที่นี่ร้อนกว่าจังหวัดอื่น โดยเฉพาะฤดูร้อนสูงถึง 44 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ในความร้อนของจังหวัดนี้ ยังมีสิ่งที่น่าค้นหาอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นจังหวัดทางผ่านของรถยนต์ที่จะมุ่งหน้าเข้าสู่ภาคเหนือ จากที่เคยเป็นทางผ่านตอนนั่งรถทัวร์จากเชียงใหม่เข้ากรุงเทพฯ เมื่อหลายปีก่อน คราวนี้จะเข้าไปสัมผัสบรรยากาศของจังหวัดนี้ดูบ้าง

80 กิโลเมตรบนทางหลวงหมายเลข 12 หรือถนนจรดวิถีถ่อง จากสี่แยกหอนาฬิกาใจกลางเมืองสุโขทัย ถึงสี่แยกทางหลวงตาก สภาพเส้นทางนับตั้งแต่ทางแยกบ้านวังวน ที่มีทางเลี่ยงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย การคมนาคมสะดวกขึ้น ด้วยถนน 4 ช่องจราจร ผ่าน อ.บ้านด่านลานหอย ก่อนเข้าเขตจังหวัดตาก บนหลักกิโลเมตรที่ 131

ก่อนที่จะเข้าตัวเมืองตาก สังเกตเห็นด้านซ้ายทางมีสนามบิน ด้วยความที่ไม่ได้เป็นคนพื้นที่เลยนึกแปลกใจว่า ที่ตากมีสนามบินด้วยหรือ นึกว่ามีแค่แม่สอดเท่านั้น ทำไมถึงไม่มีเที่ยวบินมาลงตรงนั้นเลย เพราะจากสนามบินมายังตัวเมืองตากมีระยะทางเพียงแค่ 15 กิโลเมตรเท่านั้น

สืบค้นไปปรากฏว่า สนามบินตาก เปิดใช้มาตั้งแต่ปี 2495 แต่ได้รับการจัดตั้งเป็นสนามบินอนุญาต เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2520 สังกัดกรมการบินพลเรือน ปัจจุบันไม่มีสายการบินพาณิชย์เปิดทำการบิน เพราะทางวิ่งมีขนาดกว้าง 30 เมตร ยาวเพียง 1,500 เมตร ไม่สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ รองรับได้เฉพาะเครื่องบิน ATR ขนาดเล็กเท่านั้น

ปัจจุบันสนามบินตากมีเพียงเครื่องบินเกษตร จากศูนย์ปฎิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่เข้ามาแวะพักและเติมน้ำมันในช่วงปฏิบัติภารกิจทำฝนเทียมเท่านั้น ข้อมูลจากกรมการบินพลเรือน ที่ผ่านมามีเพียงเที่ยวบินขาเข้ามายัง จ.ตากเมื่อปี 2547 มากที่สุดรวมทั้งปีแค่ 15 คน ขณะที่รายจ่ายสนามบินประมาณ 1.6 ล้านบาท

นอกจากสนามบินตาก และสนามบินแม่สอดแล้ว ในจังหวัดตากยังมีสนามบินขนาดเล็ก ได้แก่ สนามบินเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อรับส่งวิศวกรและขนส่งอุปกรณ์ และสนามบินชุมชนอุ้มผาง อ.อุ้มผาง ก่อนหน้านี้สายการบินเอสจีเอปรับปรุงลานบินเพื่อเปิดเที่ยวบินสำหรับกรุ๊ปทัวร์มาก่อน

ไม่นานนักเราก็เดินทางมาถึง สี่แยกทางหลวง ตัดกับถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ 525 จากจุดนี้ไป จ.ลำปาง 180 กิโลเมตร ถ้าจะไปเชียงใหม่เพียง 275 กิโลเมตรเท่านั้น ใกล้กันจะเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารตาก ถือเป็นศูนย์รวมรถที่มาจากภาคเหนือตอนบน และ อ.แม่สอด ชายแดนพม่า ไปยังกรุงเทพฯ และภาคอีสาน คือ ขอนแก่น กับมุกดาหาร

เดิมเรากะว่าจะไปนอนพักบนแพที่เขื่อนภูมิพล แต่ปรากฏว่าจะเหมาทั้งแพก็คิดราคาหลักหมื่น อีกทั้งกังวลเรื่องความปลอดภัยด้วย ก็เลยหาห้องพักรายวันละแวกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตตาก ได้รีสอร์ทแห่งหนึ่งคืนละ 370 บาท ห้องพักมีประมาณ 10 ห้อง เลยเหมากันทั้งรีสอร์ท แถมฟรีข้าวต้มมื้อเช้า หมดไปเพียงหลักพันเท่านั้น

เมื่อรถตู้มาถึงที่พักช่วงก่อนเที่ยง ก็ยอมรับถึงอากาศที่ร้อนจัดสมชื่อ พวกเราตัดสินใจเปิดแอร์นอนพักผ่อนตามอัธยาศัย เนื่องจากรีสอร์ทห่างจากถนนใหญ่ถึง 700 เมตร อีกทั้งไม่มีร้านค้า ร้านอาหาร นอกจากจะต้องไปถนนใหญ่อย่างเดียว ก็แทบจะไม่อยากฝ่าแดดร้อนออกไปไหนเลย



ประมาณบ่ายสองโมง เราออกเดินทางจากที่พักไปยังจุดแรก ได้แก่ วัดพระบรมธาตุบ้านตาก บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง อ.บ้านตาก ที่นั่นมีนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวพุทธเข้ามาสักการะหลวงพ่อทันใจจำนวนมาก เพราะคาดหวังจะให้สิ่งต่างๆ สมดังปรารถนาโดยเร็วตามชื่อของหลวงพ่อ

จากวัดพระบรมธาตุบ้านตาก เรากลับมายังตัวเมืองตาก บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1107 ถนนเลียบริมฝั่งแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก เมื่อผ่าน อ.บ้านตากไปแล้ว ด้านซ้ายทางเราจะเห็นหาดทรายริมตลิ่งแม่น้ำปิงเป็นระยะ ขณะที่บ้านเรือนหลายหลังต่างมีวิธีทำให้บ้านเย็นในช่วงอากาศร้อนด้วยการใช้สปริงเกอร์น้ำบนหลังคาตลอดเวลา



จุดที่เราจะลงเล่นน้ำในวันนี้ เป็นริมตลิ่งแม่น้ำปิงที่เรียกว่า “หาดทรายทอง” แหล่งเล่นน้ำจืดที่ได้รับความนิยมจากคนเมืองตาก และจังหวัดใกล้เคียง หาดทรายทอดยาวตั้งแต่สะพานตากสินมหาราชานุสรณ์ ลงมาเป็นทางยาว ช่วงฤดูร้อนเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมของทุกปี จะเห็นผู้คนลงมาเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานราวกับมาเล่นน้ำทะเล

จุดเด่นของหาดทรายทองที่อยู่ใกล้กัน คือ สะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี หรือที่เรียกกันว่า สะพานแขวน มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ สามารถเดินเท้าข้ามไปยังฝั่งตัวเมืองตากเพื่อไปซื้อของกินของใช้ได้ สำหรับคนที่กลัวความสูงไม่ต้องกังวลเพราะราวสะพานขึงด้วยตาข่ายแบบถี่ แต่ระวังสิ่งของมีค่าลงพื้นสะพานเพราะมีร่องแคบๆ



ทีแรกลังเลว่าจะเล่นน้ำดีหรือไม่ เพราะกังวลคุณภาพน้ำ เกรงว่าเล่นน้ำเสร็จแล้วจะคัน พอลงไปเล่นน้ำ พบว่าน้ำใสไหลเย็น และหลังจากเล่นน้ำเสร็จไม่รู้สึกคัน อาจเป็นเพราะน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนภูมิพล เป็นน้ำที่ผ่านการตกตะกอนระดับหนึ่ง ผ่านการเก็บกู้ซากสวะ ขยะที่ไหลมาตามน้ำ และคัดกรองซากปฏิกูลก่อนผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาแล้ว

เราลงเล่นน้ำกันได้สักพัก พอแดดร่มลมตกเราก็เปลี่ยนเสื้อผ้าริมตลิ่ง แล้วเดินเท้าข้ามสะพานแขวนไปต่อกันที่ตัวเมืองตาก ในยามพระอาทิตย์ตกดินเราจะได้เห็นเงาของทิวเขาถนนธงชัย ตัดกับเงาของสะพานแขวน และใกล้กันจะเป็นไฟประดับสะพานตากสินมหาราชานุสรณ์ เป็นแหล่งเก็บภาพที่สวยงามอีกจุดหนึ่งที่ไม่ควรพลาด



ที่ตัวเมืองตาก แม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่ก็ถือว่ามีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ตกเย็นกลายสภาพเป็น ตลาดโต้รุ่งริมปิง มีแผงขายอาหารมากมายให้เลือก ทันใดนั้นระหว่างเดินไปรอบๆ เราได้เจอก๋วยเตี๋ยวหมูแดง 12 บาท เพิ่มเกี้ยว 15 บาท

เพื่อนร่วมทริปอยากลองทานดู ก็เลยสั่งมารับประทาน รสชาติจากน้ำซุปไม่หวานนำ แต่ไม่จืดเกินไปถือว่าใช้ได้ ต่อกันด้วยผัดไทย หลังจากนั้นต่างคนต่างก็ซื้อของกิน เพื่อนำกลับไปกินที่รีสอร์ท ซึ่งค่าครองชีพนับว่าถูกกว่ากรุงเทพฯ

เพื่อนร่วมทริปที่เคยใช้ชีวิตที่ตากมา 2 ปีแนะนำว่าเวลาไปถนนคนเดินค่อยๆ หาอะไรกินทีละเมนู ดีกว่าจ่ายทีเดียวแล้วเจอตัวเลือกน้อยๆ เพราะถ้าเจออะไรที่แพงแต่ไม่อร่อย เราจะเสียความรู้สึก



นอกจากตลาดโต้รุ่งแล้ว ฝั่งตรงข้ามถนนบริเวณสะพานตากสินมหาราชานุสรณ์ ก็จะมีถนนคนเดินที่เรียกว่า “กาดนั่งยอง คล้องย่าม” เปิดตัวขึ้นเมื่อปลายปี 2557 ทุกเย็นวันเสาร์และวันอาทิตย์ โดยมีจุดขายคือการเปิดแผงจำหน่ายสินค้าบนแคร่ไม้ไผ่ และเวทีแสดงดนตรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดตาก

แต่ช่วงที่ไปถึงถนนคนเดินตลาดก็เริ่มวายหมดแล้ว ทันใดนั้นเพื่อนร่วมทริปก็เอา เมี่ยงแคปหมู ที่ซื้อมาให้ลองชิม ลักษณะแตกต่างตรงที่เมี่ยงจะห่อใบตองคล้ายขนมเทียน แกะออกมาจะมีไส้เมี่ยง พร้อมกับถุงพลาสติกข้างในมีแคปหมู ถั่วลิสง โรยด้วยน้ำตาลทราย ทานแล้วรสชาติโดยรวมหวานมัน แต่ส่วนตัวชอบเมี่ยงหวานสุโขทัยมากกว่า



สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ แม้จังหวัดตากในช่วงกลางวันได้ชื่อว่าร้อนที่สุด แต่ตกเย็นไปถึงกลางคืน ริมแม่น้ำปิงกลับมีลมพัดเย็นอย่างไม่น่าเชื่อ คงเป็นเพราะแรงลมจากกระแสน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนภูมิพล ช่วงเวลานี้เหมาะสำหรับนั่งเล่น พร้อมหาเครื่องดื่มเย็นๆ มาจิบเป็นอย่างยิ่ง





ก่อนกลับกรุงเทพฯ เราย้อนกลับมาที่ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในตัวเมืองตาก ซึ่งเป็นที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่นั่นแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือจะมีชายแต่งกายคล้ายทหารโบราณยืนอยู่บริเวณหน้าศาลด้วย กลายเป็นจุดสนใจที่เพื่อนร่วมทริปถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก

ทีแรกคิดไปว่าคนที่แต่งกายแบบนี้มาแก้บนหรือเปล่า แต่สืบค้นไป พบว่าเป็นแนวคิดของผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้มอบหมายให้จัดหาทหารแต่งกายในชุดทหารเสือพระเจ้าตาก โดยในแต่ละวันจะมีทหารยืนประจำที่ศาลฯ วันละ 6 นาย ตั้งแต่เวลา 09.00 ถึง 15.00 น. เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส และบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึก





คำเตือน : สุราเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทและอาชญากรรมได้

ต่อจากนั้น เราแวะซื้อของกันที่ ตลาดมูเซอวังเจ้า บริเวณถนนพหลโยธิน ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ ที่นี่เป็นแหล่งรวมสินค้าพื้นเมือง พืชผัก ผลไม้ต่างๆ แบบสดๆ จำหน่ายในราคาไม่แพง เห็นบรรดาผักที่วางเรียงรายแล้วก็นึกอยากจะซื้อไปฝากที่บ้าน แต่เนื่องจากอีกไกลกว่าจะถึงกรุงเทพฯ เลยซื้อแคปหมูมาเท่านั้น

แต่ที่สะดุดตามากที่สุด คือ สมุนไพรที่บรรจุในขวดเหล้าที่ใช้แล้ว มีอยู่หลายสูตรด้วยกัน เช่น แม่ม่ายสะอื้น สาวน้อยตกเตียง โด่ไม่รู้ล้ม ฯลฯ ส่วนใหญ่ระบุสรรพคุณทางยา ด้วยความสนใจเลยซื้อแบบรวมสูตรมา สนนราคาขวดละ 100 บาท แต่ต้องซื้อเหล้าขาวต่างหาก และต้องดองสมุนไพรในขวดนาน 10-15 วันถึงจะดื่มได้

อันที่จริงตากยังมีสถานที่น่าสนใจอีกมาก แต่ด้วยเวลามีน้อยเลยแวะได้เพียงไม่กี่แห่ง บอกได้เลยว่า แม้ภายนอกจะเป็นจังหวัดเล็กๆ ดูเงียบๆ แต่สำหรับคนที่ชอบชีวิตที่เรียบง่าย ไม่วุ่นวาย ไม่ต้องเจอแสงสีและผู้คนพลุกพล่าน หรือถ้าอยากจะแวะพักระหว่างไปภาคเหนือตอนบน ที่นี่เป็นอีกตัวเลือกที่น่าจะเหมาะสำหรับใครหลายคน
กำลังโหลดความคิดเห็น