คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยนรวีร์ วงศ์สมมาตร CFP®
Product Development กองทุนบัวหลวง
การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในนานาประเทศทั่วโลกกำลังเป็นประเด็นสาธารณะที่หลายฝ่ายต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ที่กำลังจะมาถึง ในทางตรงกันข้าม ความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรดังกล่าวกำลังสร้าง “ยุคทอง” ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมบางประเภท
เชื่อว่าหลายท่านคงคาดเดาได้ไม่ผิดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่รับอานิสงส์จากยุคสังคมผู้อาวุโสคือกลุ่มใด
ข้อมูลจาก Population Division of the Department of Economic and Social Affairs ของสหประชาชาติประมาณการว่า ประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ในปี 2000 ที่มีแค่ร้อยละ 7 จะกลายเป็นร้อยละ 16 ในปี 2050 และเมื่อถึงเวลานั้น อัตราส่วนของประชากรสูงวัย (มากกว่า 65 ปี) จะมากกว่าประชากรวัยเด็ก (0-14 ปี) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ (ภาพที่ 1)
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสังคมผู้สูงวัยมิใช่มาจากอัตราการเกิดที่ลดลงเท่านั้น แต่ยังมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ที่ช่วยยืดอายุขัยของมนุษย์ให้ยืนยาวขึ้น ยารักษาโรคขนานใหม่ๆ รักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิตให้ลดลง
เมื่อหันมาดูค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพบ้างจะพบแนวโน้มของการจับจ่ายในเรื่องนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ทั้งจากราคายาและเวชภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งความต้องการของผู้บริโภคที่พร้อมควักเงินซื้อหาอย่างไม่รีรอ ทำให้มูลค่าตลาดยาและเวชภัณฑ์ขยายตัวอย่างมหาศาล
บทความ Prices for Prescription Medicines Rose How Much Last Year? ใน Wall Street journal อ้างข้อมูลจาก Truveris ซึ่งสำรวจราคายาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2014 ระบุว่า ราคายารักษาโรคปรับสูงขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเป็นการปรับเพิ่มในตัวยาทุกประเภทเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นยาสามัญสำหรับรักษาอาการทั่วๆ ไป หรือยาที่ใช้รักษาโรคเฉพาะทาง ราคายารักษาโรคร้ายแรงอย่างเช่นโรคมะเร็ง พบว่าถีบตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
การเคลื่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ราคายาที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงแนวโน้มการใช้จ่ายเพื่อยารักษาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ผลักดันอุตสาหกรรมกลุ่ม healthcare ทั่วโลกให้มาอยู่ในกระแสที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ด้วยอัตราการเติบโตในช่วงหลายปีมานี้ เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ต่อปี และยังคงแนวโน้มเช่นนี้ต่อไปอีกหลายทศวรรษ
ในปีที่ผ่านมา (2014) US FDA (The United State Food and Drug Administration) ได้อนุมัติตัวยารักษาโรคเป็นจำนวนมาก แถมยังมากที่สุดในรอบ 18 ปีอีกด้วย จึงเหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณว่า ต่อไปจากนี้จะมียารักษาโรคขนานใหม่ๆ ทยอยเปิดตัวสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่ายารักษาโรคมะเร็ง เบาหวาน ไวรัสตับอักเสบ หรืออัลไซเมอร์ ทำให้เป็นไปอย่างยิ่งที่บริษัทยาจะทุ่มงบด้านวิจัยอย่างหนัก รวมทั้งควบรวมกิจการให้ธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรับการแข่งขันอันเข้มข้น
หากท่านผู้อ่านเริ่มสนใจใคร่ลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว จะเริ่มหาช่องทางอย่างไรดี?
ทางที่ง่ายที่สุดคือการลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า FIF (Foreign Investment Fund) ที่ในบ้านเราตอนนี้มีกองทุนรวมต่างประเทศที่ลงทุนในอุตสาหกรรม healthcare ทั่วโลกอยู่หลายกองทุน สุดแท้แต่ผู้อ่านจะพิจารณาว่าแนวทางการลงทุนและความเสี่ยงของกองทุนแต่ละกองนั้นสอดคล้องต้องกับนิสัยใจคอ และความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้แค่ไหน