หนึ่งในตลาดหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คงจะหนีไม่พ้นตลาดหุ้นจีน ไม่ว่าจะเป็นทั้งตลาดหุ้นจีนในประเทศ (หรือที่เรียกว่า A-Share) หรือตลาดหุ้นจีนนอกประเทศ (หรือตลาดหุ้น H-Share ซึ่งคือหุ้นจีนที่ซื้อขายในฮ่องกง) ที่ต่างก็พากันปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำสถิติสูงสุดในรอบหลายๆ ปีครั้งแล้วครั้งเล่า โดยตั้งแต่ต้นปีตลาดหุ้น A-Share ปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 30% ขณะที่ H-Share ก็ปรับขึ้นกว่า 20%
หากย้อนไปดูการเคลื่อนไหวของหุ้นจีน จะพบว่าตลาดหุ้นจีน A-Share ได้ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างแรงก่อน หลังจากทางการจีนได้มีการเปิดเชื่อมโยงการซื้อขายหุ้นจีนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง (Shanghai-Hong Kong Connect) ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 ที่ผ่านมา เพราะทำให้เม็ดเงินจากนักลงทุนฮ่องกงไหลเข้าไปในตลาดหุ้นจีนได้มากขึ้น และผลักดันให้ตลาดหุ้น A-Share ปรับตัวขึ้นไปได้ดีมาก โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2557 ที่ตลาดหุ้น A-Share ปรับตัวขึ้นได้มากกว่า 40% ขณะที่ตลาด H-Share กลับมีผลการดำเนินงานต่ำกว่า โดยปรับตัวขึ้นเพียงแค่ 10%
อย่างไรก็ดี หลังจาก A-Share ขึ้นไปมากแล้วในปี 2557 ครั้งล่าสุดนี้ก็ถึงคราวของ H-Share บ้าง โดยเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากหน่วยงานซึ่งดูแลควบคุมด้านการซื้อขายหลักทรัพย์ของจีน (China Securities Regulatory Commission - CSRC) ได้มีการระบุที่จะผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านการซื้อขายหุ้น โดยอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในประเทศจีนสามารถนำเงินเข้ามาซื้อหุ้นจีนที่จดทะเบียนในฮ่องกง (H-Share) ได้โดยที่ไม่ต้องมีการขอโควตา
ส่งผลให้เม็ดเงินจากนักลงทุนจีนในประเทศไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นฮ่องกง และทำให้ตลาดหุ้น H-Share ปรับตัวขึ้นมาแรงสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 7 ปี โดยตั้งแต่ต้นเดือนถึงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาตลาดหุ้น H-Share มีแรงซื้อเข้ามาและปรับตัวเป็นบวกได้เกือบ 20% และด้วยระดับราคาที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วนี้ อาจทำให้นักลงทุนเริ่มมีความกังวลว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าตลาดหุ้นจีนได้กลับมาสู่ภาวะฟองสบู่อีกครั้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงก่อนวิกฤตในปี 2551 และถ้าหากจะเริ่มเข้ามาลงทุนในตอนนี้จะถือว่าสายไปแล้วหรือไม่ รวมถึงการที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นมาแรงนี้จะส่งผลต่อไปอย่างไรในอนาคต
ทั้งนี้ ด้วยความที่ตลาดปรับตัวขึ้นมาแรงดังกล่าว จึงมองว่าในระยะสั้นคงหนีไม่พ้นที่จะมีการปรับฐานลงมาได้ โดยส่วนหนึ่งจะมาจากแรงขายทำกำไร และอีกส่วนหนึ่งคาดว่าจะมาจากความกังวล เนื่องจากกรณีที่ทางการจีนได้มีการดำเนินมาตรการเข้มงวดมากขึ้นกับการปล่อยกู้เพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้น) ผ่านบัญชีที่ไม่ได้มีการควบคุม หรือผ่านบริษัททรัสต์ ซึ่งเป็นแหล่งเงินกู้ในการลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อยเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หากมองให้ดีจะพบว่าการควบคุมดังกล่าวแม้จะส่งผลเสียให้ตลาดเกิดความกังวลในระยะสั้น แต่ก็จะช่วยทำให้ตลาดมีเสถียรภาพที่ดีขึ้นในระยะยาวด้วย
นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่อนุญาตให้ผู้จัดการกองทุนในจีนสามารถทำการกู้ยืมหุ้นเพื่อทำช็อตเซลได้ ซึ่งแม้อาจจะทำให้บรรยากาศในการลงทุนเป็นไปในเชิงลบ เนื่องจากอาจจะมีแรงขายหุ้นออกมากดดันตลาดได้ แต่มองในระยะยาวการอนุญาตดังกล่าวจะทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนสถาบันในตลาดหุ้นจีนในประเทศมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะช่วยเสริมเสถียรภาพในตลาดหุ้นด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะตลาดหุ้น A-Share ซึ่งมีนักลงทุนรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ของตลาด
ในส่วนของตลาดหุ้นจีน H-Share แม้จะมีเม็ดเงินจากจีนแผ่นดินใหญ่ไหลเข้าไปในตลาดหุ้นฮ่องกงจนมีระดับราคาปรับตัวสูงขึ้นมากนั้น แต่หากดูในรายละเอียดจะพบว่า หุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดเล็ก ในขณะที่หุ้นขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีก็ยังมีระดับราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาดัชนี Hang Seng A-H Premium Index หรือดัชนีที่จะติดตามความแตกต่างระหว่างราคาหุ้นในตลาด A-Share กับ H-Share ซึ่งปรับตัวขึ้นมาอยู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปี ยิ่งเป็นการบ่งชี้ว่า ระดับราคาหุ้นของตลาดหุ้น H-Share ยังคงถูกอยู่มากเมื่อเทียบกับ A-Share (ยิ่งดัชนีมีตัวเลขสูงมาก แสดงว่าราคาหุ้น A-Share จะสูงกว่า H-Share มาก) ดังนั้นจึงยังมีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต
นอกเหนือจากปัจจัยด้านราคาในตลาดหุ้นแล้ว ด้านเศรษฐกิจของจีนเองก็ยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง โดยแม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่สามารถเติบโตร้อนแรงได้เหมือนในอดีต แต่ระดับที่เป็นมาตรฐานใหม่ หรือ New Normal ที่ระดับ 6-7% ก็ยังคงถือว่าเป็นระดับที่มีอัตราการเติบโตสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนเองก็ยังมีนโยบายทางเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนยังคงสามารถขยายตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งคาดว่าอาจจะยังคงสามารถปรับลดลงมาได้อีกในปีนี้ หรือการปรับลดอัตราเงินสำรองเพื่อทำให้ธนาคารปล่อยกู้มากขึ้น ซึ่งก็ทำมาแล้ว 2 ครั้งตั้งแต่ต้นปีนี้ รวมไปถึงนโยบายการปฏิรูปด้านอื่นๆ เช่น การปฏิรูปภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วยการผ่อนคลายการลดเงินดาวน์สำหรับการซื้อบ้านหลังแรกและหลังที่สอง การปฏิรูประบบประกันเงินฝาก รวมถึงการปฏิรูปภาครัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เหล่านี้ล้วนแต่จะเป็นปัจจัยเสริมที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคต และจะส่งผลดีต่อเนื่องต่อตลาดหุ้นจีนในระยะยาว
คำเตือน
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
จัดทำ ณ วันที่ 22 เมษายน 2558 โดยนายอาทิตย์ ทองเจริญ
ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย)