xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : เบื้องหลังแห่งการกลับมาของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยพิชชาภา ศุภวัฒนกุล
กลุ่มจัดการกองทุน

ในอดีตเรื่องราวแห่งการประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มักจะตามมาด้วยชื่อเสียงอันโด่งดัง แต่การประสบความสำเร็จของญี่ปุ่นในครั้งนี้กลับแตกต่าง เพราะการกลับมาในรอบนี้ไม่ได้เกิดจากบริษัทชื่อดัง เช่น Sony Corp. หรือ Nintendo Co. หากแต่เป็นบริษัทที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนอกประเทศญี่ปุ่นสักเท่าไร อย่างเช่น Toray Industries Murata Manufacturing Co., Nidec Corp. หรือ Omron Corp. ทั้งที่จริงๆแล้ว สินค้าของบริษัทเหล่านี้อยู่ในสิ่งของที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน เช่น เส้นใยไฟเบอร์ของ Toray ในเสื้อผ้า ไปจนถึงในเครื่องบิน Boeing และชิ้นส่วนขนาดเล็กใน iPhone จาก Murata Manufacturing Co., Nidec Corp. และ Omron Corp.

ย้อนกลับไปปี 1960 สินค้าส่งออกหลักของญี่ปุ่นคือ เหล็ก สิ่งทอ ปลา และเรือ ขณะที่สัดส่วนการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคมีสัดส่วนเพียง 4% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของญี่ปุ่น แต่แล้วในช่วงปี 1980 มุมมองของโลกต่อ “บริษัทญี่ปุ่น” ก็ได้เปลี่ยนไปในยุคฟองสบู่ของญี่ปุ่น แบรนด์อุปกรณ์ไฟฟ้าผู้บริโภคเช่น Sony Corp. Nintendo Co. และ Panasonic Corp. กลายเป็นกลุ่มผู้นำการเติบโต เช่นเดียวกับกลุ่มบริษัทรถยนต์ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้าในต่างประเทศของญี่ปุ่น ทำให้ในปี 1986 สินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่าการส่งออกถึง 30% ของยอดส่งออกญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องอัดเทป และเครื่องมือเฉพาะเช่น กล้องถ่ายรูป ก็ได้เข้ามาเป็นอันดับต้นๆ ของการส่งออกของประเทศ

แต่แล้วในปี 2013 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นปรับลดลงมาเหลือ 16% ของยอดส่งออก แม้รถยนต์ยังเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น แต่สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงตามมาคือ เหล็ก ชิ้นส่วนไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ และอินทรีย์เคมี ขณะที่การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างที่เคยเติบโตได้ดีในอดีตนั้นกลับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

ส่งผลให้ผลประกอบการของภาคธุรกิจโดยรวมในปีงบประมาณ 2013 เพิ่มขึ้นถึง 69% ที่ 25.3 ล้านล้านเยน แต่ก็ยังเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่น้อยกว่ารายได้สุทธิของกลุ่มผู้ผลิตหลักที่โตถึง 116% ที่ 12.1ล้านล้านเยน และอีกหลายบริษัทยังคาดการณ์ว่ารายได้จะเติบโตขึ้นไปอีกในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ปี 2014 ที่ผ่านมา กำไรบริษัทเหล่านี้เป็นปัจจัยหลักเบื้องหลังส่งผลให้ Nikkei Stock Average ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 9% ในปี 2014 และเคยขึ้นไปแตะระดับ 16,374.14 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2007

Toray Industries คือตัวอย่างของ Manufacturer ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน Toray Industries ก่อตั้งบริษัทในปี 1926 ในฐานะผู้ผลิตเส้นใยสังเคราะห์ และได้ขยายธุรกิจไปสู่การผลิตสิ่งทออื่นๆ และสารเคมี ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ช่วยเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ฟื้นขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่2 โดยในช่วงปี 1950 มูลค่าสิ่งทอและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเติบโตถึง 40% ของการส่งออกญี่ปุ่น ซึ่ง Toray Industries กลายเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในประเทศ

เมื่อญี่ปุ่นเริ่มเพิ่มการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค Toray Industries เองก็เริ่มเจาะตลาดผู้บริโภคโดยการผลิตสินค้ามียี่ห้อ เช่น Ultrasuede ผ้าสังเคราะห์ที่มีความรู้สึกคล้ายหนัง อย่างไรก็ตาม Toray Industries ไม่เคยละทิ้งการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ในช่วงปี 1970-1980 เมื่อผู้ผลิตเส้นใยคาร์บอนเริ่มเลิกกิจการเมื่อไม่มีลูกค้า Toray ก็เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีและการผลิต ซึ่งสร้างข้อได้เปรียบให้ Toray Industries ในระดับโลกเมื่อเส้นใยคาร์บอนเป็นที่ต้องการอีกครั้ง ในปี 2006 Toray Industries ผลิตเส้นใยคาร์บอนให้ Boeing Co. ถึงปี 2021 ซึ่งเป็นวัสดุโครงสร้างหลักสำหรับ 787 Jetliner ซึ่งToray Industries เพิ่งประกาศแผนที่จะลงทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในโรงงานใหม่ที่ South Carolina จากการคาดการณ์ว่ายอดสั่งของจาก Boeing Co. น่าจะเพิ่มขึ้น “นี่เป็นตัวอย่างยอดเยี่ยมของการที่วัสดุพื้นฐานสามารถมีอำนาจมากจนเปลี่ยนโลกได้” ประธานของ Toray Industries นาย Akihiro Nikkaku กล่าว การตัดสินใจเมื่อ 10 ปีที่แล้วของ Toray Industries แสดงให้เห็นผลในวันนี้ในความสัมพันธ์ระหว่าง Toray Industries และ Boeing Co.

ในแบบเดียวกับ Toray Industries บริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัท เช่น Hitachi Ltd., Toshiba Corp. และ NEC Corp. ซึ่งเติบโตหลังจากสงครามโลกจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เช่น หัวรถจักร เครื่องยนต์กังหันแก๊ส และเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม ก็ได้เริ่มกลับมาสู่จุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมเดิม

เนื่องจากในช่วงปี 1980 บริษัทเหล่านี้ได้หันไปให้ความสนใจกับสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเปลี่ยนไปผลิตเซ็ตทีวี อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน และล่าสุดการหันไปผลิตสมาร์ทโฟน ซึ่งถือเป็นสินค้ายอดนิยมในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม การตัดราคาจากประเทศคู่แข่ง เช่น เกาหลีใต้และจีน และการที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้สามารถรองรับความต้องการใช้งานของกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศได้ ส่งผลให้ทั้งสามบริษัทต้องละทิ้งการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และหันมาทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องจักรหนัก อุปกรณ์ไฟฟ้าอุตสาหกรรม และดาวเทียม เป็น 2 เท่าแทน ซึ่งสำหรับ Hitachi Ltd. หลังจากที่ประกาศขาดทุนสะสมถึง 985 พันล้านเยนในปีงบประมาณ 4 ปีจบเดือนมีนาคม 2010 บริษัทก็ได้ฟื้นตัวกลับมามีกำไรสุทธิสะสมที่ 1.03 ล้านล้านเยนใน 4 ปีหลังจากนั้น ระหว่างที่ Toshiba Corp. และ NEC Corp. ก็แสดงการฟื้นตัวที่คล้ายเคียงกัน แต่ไม่เท่าในระดับของ Hitachi Ltd.

การเปลี่ยนแปลงของ Panasonic Corp. นั้นก็น่าสนใจเช่นกัน จากเดิมที่เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าผู้บริโภคที่มีประวัติยาวนานถึง 96 ปีนั้น ล่าสุดได้ออกจากตลาดผู้บริโภคของสมาร์ทโฟน เลิกทำเซ็ตทีวีพลาสม่า และลดการผลิตกล้องถ่ายรูปแล้ว และกล่าวว่าทางบริษัทเห็นโอกาสที่ใหญ่กว่าในตลาดชิ้นส่วนรถยนต์และการเคหะ Panasonic Corp. ได้กลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในส่วนแบตเตอรี่ไฟฟ้ารถยนต์ ซึ่งได้ลงทุนกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ของTesla Motors Inc. ซึ่งในปีงบประมาณล่าสุด รายงานผลประกอบการของ Panasonic Corp. พลิกเป็นกำไรสุทธิถึง 120 พันล้านเยน หลังจากการขาดทุนถึง 754 พันล้านเยนในปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ยังมีบริษัทอีกมากมายที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักสำหรับต่างชาติ เช่นผู้ผลิตชิ้นส่วน Murata Manufacturing Co., Nidec Corp. และ Omron Corp. นั้น ต่างประสบความสำเร็จจากการผลิตชิ้นส่วนเฉพาะขนาดเล็กให้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์ไฮเทคอื่นๆ ทำให้ทั้งสามบริษัทนั้นน่าจะกำไรสุทธิที่สูงในช่วงที่ผ่านมา

“เนื่องจากญี่ปุ่นได้สูญเสียข้อได้เปรียบในการแข่งขันของอุปกรณ์ไฟฟ้าผู้บริโภค ทำให้ภาคธุรกิจต้องมุ่งหน้าขึ้นไปใน Value Chain และให้ความสำคัญกับสินค้าและชิ้นส่วน high-end แทน” Kathy Matsui Chief Japan Equity Strategist ที่ Goldman Sachs กล่าว

นอกจากนี้ การที่ค่าเงินเยนอ่อนตัวลงก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถส่งออกได้มากขึ้น ส่งผลดีโดยตรงต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนหลายรายที่มักจะทำการผลิตในญี่ปุ่นอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น