คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดยทีมจัดการการลงทุน
บลจ.ทิสโก้ จำกัด
แม้ว่าในปี 2558 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ก็ต้องยอมรับกันว่ายังคงมีปัจจัยเศรษฐกิจและการเมืองต่างๆ ที่ยังไม่แน่นอน ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์เสี่ยงประเภทต่างๆ มีความผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน จากราคาที่เคยสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในช่วงกลางปี 2557 ลดลงเหลือเพียง 50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล โดยเฉลี่ยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
การร่วงลงอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมันเกิดขึ้นในปลายเดือน พ.ย. 2557 เมื่อองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปก ซึ่งรับผิดชอบในการผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดโลก คิดเป็น 1 ใน 3 ของโลก ตัดสินใจคงกำลังการผลิตไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อเป็นการกดดันต่อผู้ผลิต Shale Oil ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจาก 1) ราคาที่ต่ำจะกดดันให้ผู้ผลิตที่มีต้นทุนสูงต้องหยุดการผลิตหลังจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Hedging) หมดไป 2) แนวโน้มราคาที่จะอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่งจะทำให้ผู้ผลิต Shale Oil ส่วนใหญ่ไม่อยากลงทุนขุดเจาะน้ำมันเพิ่มเติม สำหรับในส่วนของอุปสงค์นั้น เราคาดว่ามีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะสอดคล้องกับช่วงที่ปริมาณการผลิตน้ำมัน Shale Oil น่าจะเริ่มมีการปรับตัวลง และทำให้อุปสงค์และอุปทานมีความสมดุลกันในที่สุด
ด้วยปัจจัยพื้นฐานดังกล่าวทำให้เรามองว่า Downside Risk ของระดับราคาน้ำมันในปัจจุบัน (45-50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล) เริ่มจำกัด เนื่องจากเป็นระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนของผู้ผลิต Shale Oil ส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ และอาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน จนทำให้ราคาน้ำมันมีเสถียรภาพมากขึ้น และปรับตัวขึ้นไปสู่ระดับ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558
หากดูจากแนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันตามสมมติฐานดังกล่าว เราสามารถจำแนกทางเลือกการลงทุนในช่วงปี 2558 ได้ดังต่อไปนี้
1) กองทุน Oil ETF: ณ ระดับราคาน้ำมันในปัจจุบัน ถือเป็น “โอกาส” ที่เหมาะสมในการทยอยเข้าลงทุนในกองทุน Oil ETF โดยเฉพาะผู้ที่เป็นนักลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายหลักที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน เช่น ค่าน้ำมันรถยนต์ หากเราย้อนกลับไปดูราคาน้ำมันขายปลีก Gasohol 95 เมื่อกลางปีที่แล้ว อยู่ที่ระดับมากกว่า 40 บาท/ลิตร ในขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 29.80 บาท/ลิตร นั่นหมายความว่าเราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ประมาณ 25% ซึ่งหากนักลงทุนมองว่าราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวขึ้นหลังจากนี้ เราสามารถมองการลงทุนใน Oil ETF เป็นการป้องกันความเสี่ยงประเภทหนึ่ง (แม้ว่าการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันโลกกับราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มจะไม่เท่ากับ 1:1 อันเนื่องมาจากการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานภายในประเทศ) เพราะในวันที่นักลงทุนต้องกลับไปเติมน้ำมันที่ราคาแพงๆ ดังอดีต แต่ก็ยังมีกำไรจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันมาชดเชยค่าใช้จ่ายดังกล่าว
2) หุ้น เป็นที่ทราบกันดีว่าในปี 2558 จะเป็นอีกปีที่นโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ อยู่ในโหมดผ่อนคลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากราคาน้ำมันสามารถทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบันสักระยะหนึ่ง จะส่งผลดีต่อแรงกดดันเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation expectations) ที่ลดลง ซึ่งรวมไปถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อไป และเป็นสาเหตุหลักที่การลงทุนในหุ้นเป็นที่น่าหลงใหลกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มการลงทุนดังต่อไปนี้
2.1) หุ้นเอเชีย, จีน, ไทย กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียเป็นกลุ่มที่นำเข้าน้ำมันเพื่อการบริโภคในสัดส่วนที่มาก เมื่อเทียบกับ GDP โดยดุลการค้าที่ดีขึ้นอันเนื่องมาจากการนำเข้าน้ำมันในมูลค่าที่ถูกลงจะส่งผลดีต่อกิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศทั้งในแง่ของเงินออมภาคครัวเรือนและเอกชนที่ดีขึ้น และสามารถมีเม็ดเงินส่วนเกินไปใช้ลงทุนหมุนเวียนต่อเศรษฐกิจภายในประเทศต่อไป
2.2) ธุรกิจสายการบิน, ปิโตรเคมี, ขนส่ง, การบริโภคภายในประเทศ หากลงลึกเข้าไปในรายอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการปรับตัวลงของน้ำมัน จะพบว่าธุรกิจที่มีต้นทุนหลักมาจากใช้น้ำมันเป็นเชื่อเพลิง/วัตถุดิบในการผลิตสินค้า น่าจะได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งได้แก่ สายการบิน, ปิโตรเคมี และขนส่ง ในขณะที่การบริโภคภายในประเทศ แม้ว่าจะไม่ได้มีผลกระทบเชิงบวกที่เร็วและมี นัยเทียบเท่ากับธุรกิจข้างต้น แต่ก็ได้รับประโยชน์จากความโน้มเอียงในการบริโภคหน่วยท้าย (Marginal Propensity to Consume : MPC) ของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากการที่มีเงินในกระเป๋ามากขึ้นนั่นเอง
เหนื่อสิ่งอื่นใด ในยุคที่สภาพคล่องอยู่ในระดับสูง (ซึ่งมาพร้อมกับความผันผวน) นักลงทุนควรมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง 2 ประการ คือ 1. วินัยในการลงทุน - ในบางครั้งเราอาจกำหนดเป้าหมายไว้ว่าถ้าสร้างผลตอบแทนได้แล้วสัก x% ก็อาจทยอยขายทำกำไร
2. กระจายความเสี่ยง - นอกเหนือจากการมีวินัยการลงทุนแล้ว การกระจายความเสี่ยงตามประเภทสินทรัพย์ หรือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม ก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม ดังประโยคที่ว่า “อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว” แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า “โชคดีและมีความสุขในการลงทุน” ครับ