xs
xsm
sm
md
lg

การวางแผนการเงินสำหรับนักบิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รูปประกอบจากอินเตอร์เน็ต
โดยคุณวรพจน์ เกตุอร่าม
สมาคมนักวางแผนการเงินไทย


“นักบิน” หนึ่งในอาชีพที่มีรายได้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ไม่น้อยกว่าแพทย์ วิศวกร นักธุรกิจ หรือผู้บริหารระดับสูง แต่ลักษณะการทำงาน อาจจะไม่เหมือนคนทำงานทั่วไป คือมีตารางการบินที่ไม่แน่นอน

 บางครั้งเป็นกลางวัน บางครั้งอาจเป็นกลางดึก ซึ่งเป็นเวลานอนของคนทั่วไป นอกจากนี้ยังต้องเดินทางเป็นประจำ ทำให้มีความเสี่ยงสูงจากการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด อีกทั้งอาชีพนักบินยังมีความกดดันในด้านต่างๆ เช่น

ความเครียดสูง ต้องรับผิดชอบชีวิตผู้โดยสารทั้งลำที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน

ด้านร่างกาย ต้องเดินทางข้ามเส้นเวลาบ่อยทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย และแก่เร็ว เนื่องจากพักผ่อนไม่เป็นเวลา

ด้านครอบครัว เวลาไม่แน่นอน อาจทำให้มีปัญหาครอบครัวได้

ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการทดสอบเสมอ เพราะมีการทดสอบความสามารถทุกๆ 6 เดือน

การจะเป็นนักบินนั้นมี 2 แบบ คือ แบบแรก เป็นนักเรียนทุนของสายการบิน แบบที่สอง ผ่านการอบรมนักบินพาณิชย์ตรี (Commercial Pilot License) ซึ่งต้องเสียค่าเล่าเรียนเอง โดยสามารถกู้เงินเรียนจากธนาคารได้ ทำให้นักบินบางท่านหลังเรียนจบอาจมีภาระหนี้ก้อนใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบ จึงต้องให้ความสนใจกับการวางแผนชำระหนี้

 นักบินเป็นอาชีพที่มีรายได้สูง แต่เฉพาะนักบินตำแหน่งกัปตันเท่านั้น อุตสาหกรรมการบินนั้นมีการแข่งขันสูง ทำให้บางสายการบินต้องลดเที่ยวบินลง จะทำให้รายได้ที่มาจาก Per diem หรือเบี้ยเลี้ยงรายวันซึ่งจะได้เมื่อมีการบินลดลงไปด้วย ดังนั้นจึงควรมีการทำงบประมาณ ประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เหมาะสม (Cash Flow Management and Budgeting) รวมทั้งไม่ก่อหนี้เพิ่ม
 โดยเฉพาะถ้ากรณีมีหนี้จากการเรียนอยู่แล้ว นอกจากนี้ควรมีการเตรียมเงินสดสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉิน เช่น เจ็บป่วย อุบัติเหตุ เสียชีวิต โดยทำประกันให้ครอบคลุมความเสี่ยงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นประกันทุพพลภาพ หรือประกันการตกงาน

ปัญหาสุขภาพนักบินมักมีความเสี่ยงด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากสภาพการบิน หลายๆ สายการบินมีสวัสดิการดูแลค่ารักษาพยาบาล แต่ต้องไม่ลืมว่าสวัสดิการเหล่านี้จะให้ก็ต่อเมื่อยังคงเป็นพนักงานของสายการบินนั้นอยู่เท่านั้น หากต้องเจ็บป่วยจนปฏิบัติงานไม่ได้ สวัสดิการเหล่านี้คงไม่มีอีกต่อไป 

ดังนั้น นักบินจึงควรมีแผนคุ้มครองสุขภาพระยะยาวส่วนตัว (Long Term Health Care Plan) ที่จะช่วยดูแลสุขภาพนักบินได้ในระยะยาว โดยไม่ต้องพึ่งพาสวัสดิการแม้ว่าจะเกษียณ หรือออกจากอาชีพไปแล้วก็ตาม นักบินควรมีการจัดทำพินัยกรรม และหมั่นตรวจสอบให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อให้ทรัพย์สินตกทอดแก่ทายาทไปตามความต้องการของเจ้าของทรัพย์

ข้อผิดพลาดทางการเงินข้อหนึ่งคือ คิดว่าการไม่มีหนี้แล้วจะทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต จนลืมวางแผนระยะยาว โดยเฉพาะการวางแผนเกษียน (Retirement Planning) จากลักษณะของรายได้ที่มากและมั่นคงพอสมควร นักบินจึงสามารถเลือกลงทุนในหุ้นรายตัวได้

 โดยอาจเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมหรือบริษัทที่เราคุ้นเคย และเข้าใจ เช่น สายการบิน หรือสนามบิน เนื่องจากมีความเข้าใจธุรกิจเป็นอย่างดี หากนักบินไม่มีเวลาติดตามข้อมูล แนะนำให้เลือกลงทุนกองทุนหุ้นเป็นหลัก และใช้การบริหารพอร์ตโฟลิโอเพื่อช่วยลดความเสี่ยง การใช้กลยุทธ์ Dollar Cost Average หรือการเฉลี่ยต้นทุนด้วยการซื้ออย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้การลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้นนี้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

การวางแผนภาษี นักบินหลายๆ ท่านอาจได้รับสวัสดิการการจ่ายภาษีให้โดยบริษัทสายการบิน แต่หากไม่ได้รับสวัสดิการนี้ ควรต้องวางแผนภาษีให้ดี เพื่อช่วยให้ประหยัดภาษี และนำภาษีที่ประหยัดได้นั้นมาเป็นเงินออมเพื่อเป้าหมายอื่นๆ ต่อไป การวางแผนภาษีง่ายๆ สำหรับนักบินคือ ใช้สิทธิลดหย่อนต่างๆ ให้เต็มสิทธิ์ 

เนื่องจากรายได้เข้าเกณฑ์ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ม.40(1) ดังนั้นค่าใช้จ่ายจะหักได้เพียง 60,000 บาท จึงควรใช้สิทธิลดหย่อนต่างๆ เช่น LTF, RMF ประกันชีวิต ประกันบำนาญ และอื่นๆ เพื่อให้ประหยัดภาษีได้มากที่สุด สำหรับท่านที่มีสวัสดิการจ่ายภาษีให้จากบริษัท ก็ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนเหล่านี้เพื่อขอภาษีคืนได้อีกด้วย

การวางแผนการเงินช่วยให้เป้าหมายชีวิตของทุกคนบรรลุได้ ดังนั้นถึงแม้จะบินหนักแค่ไหน ก็อย่าได้มองข้ามความสำคัญของการวางแผนทางการเงินนะครับ เพราะไม่มีใครวางแผนให้ตัวเองล้มเหลว แต่ล้มเหลวเพราะไม่ได้วางแผน ขอให้สนุกกับการบินครับ 

สามารถศึกษาข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.set.or.th/yourfirststock


กำลังโหลดความคิดเห็น