คอลัมน์ “คลินิกกองทุนรวม” ในสัปดาห์นี้หยิบผลการดำเนินงานของกองทุนที่น่าสนใจจากงาน “มหกรรมมีใช้ตอนแก่ด้วย LTF-RMF” เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุนของนักลงทุน ... อย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ทุกครั้งก่อนที่ตัดสินใจลงทุนนักลงทุนควรประเมินความเสี่ยงของตนเองก่อนทุกครั้ง และทีมงานขอยก "5 อย่างที่ไม่ควรทำกับการเลือก LTF & RMF" บทความดีๆ จาก บลจ.กรุงศรีมานำเสนออีกครั้ง สำหรับนักลงทุนที่กำลังตัดสินใจซื้อกองทุน LTF-RMF ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นปีนี้...
ส่วนท่านผู้อ่านท่านใดมีคำถามก็สามารถส่งคำถามมาได้ที่ mgrfund@gmail.com ทางทีมงานจะทยอยตอบคำถามให้ ขอบคุณทุกท่านที่ส่งคำถามเข้ามาคะ
1. อย่ามองแค่ผลตอบแทนระยะสั้น :วัตถุประสงค์ของการลงทุนในกองทุน LTF-RMF มี 2 ข้อ คือ ประหยัดภาษี และเน้นการลงทุนในระยะยาว น่าเสียดายตรงที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองเรื่องของภาษีเป็นหลัก และมองผลตอบแทนในระยะยาวเป็นเรื่องรอง โดยให้ความสนใจแค่ผลตอบแทนระยะสั้นๆ ว่า 3 เดือนที่แล้ว 6 เดือนที่ผ่านมา หรือไกลสุดย้อนไปดู 1 ปีก่อนหน้าว่าแต่ละกองทุนได้ผลตอบแทนเป็นอย่างไร กองทุนใดสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุด แต่กลับลืมไปว่าระยะเวลาการถือครองกองทุน LTF อย่างน้อยๆ คือ 3 ปีปฏิทิน
สำหรับกองทุน RMF นั้นมีระยะเวลาการถือครองยาวนานกว่า โดยผู้ลงทุนจะขายหน่วยลงทุนก็ตอนเกษียณอายุ และการถือครองต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของสรรพากร ดังนั้น อย่าดูแค่ผลตอบแทนระยะสั้นๆ โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ
2. อย่าซื้อเพราะโปรโมชันแรง!! : กองทุนรวมไม่ใช่การชอปปิ้ง ใครลดแหลก ทั้งแจกทั้งแถมเยอะสุด แปลว่ากองทุนนั้นน่าลงทุนที่สุด ถ้าคิดแบบนี้ ถือว่า “คิดผิด” โปรโมชันล่อใจในระยะสั้นอาจทำให้คุณต้องติดกับดักกับกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนไม่เหมาะสมกับตัวคุณเอง ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือ ผลตอบแทนที่ได้รับเมื่อขายคืนหน่วยลงทุนมีมูลค่าน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ แถมของโปรโมชันที่ได้รับแจกตั้งแต่ตอนลงทุนก็อาจใช้ไม่คุ้ม หรือวางทิ้งในบ้านจนลืมไปเลยก็มี อาจมีนักลงทุนบางท่านแย้งว่า “ก็ไม่รู้นี่” ว่ากองทุนใดจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี ก็เลยเลือกของที่ดูชัวร์ที่สุด นั่นก็คือ ของแถม” ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงต้องศึกษานโยบายการลงทุน ระดับความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุนรวม ซึ่งมีความแตกต่างกัน และควรศึกษาคู่มือภาษีให้เข้าใจก่อนการลงทุน ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก บลจ. หรือธนาคารที่เป็นตัวแทนขายกองทุน
3. อย่าคิดว่า LTF & RMF กองไหนๆ ก็เหมือนกัน: ถึงแม้จะเป็นกองทุนที่ได้ชื่อว่า LTF-RMF เหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานก็แตกต่างกันในรายละเอียด ยกตัวอย่างเช่น กองทุน LTF บางกองมีนโยบายกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนในตราสารหนี้บางส่วน ในขณะที่บางกองทุนเลือกลงทุนในหุ้นทั้งหมด 100%เต็ม หรือกองทุน RMF ก็มีตัวเลือกทั้งนโยบายที่ลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน ลงทุนในทองคำ หรือกระทั่งกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะของกองทุนที่แตกต่างกัน หากผู้ลงทุนเลือกลงทุนเพราะคิดว่าเป็นกองทุน RMF เหมือนกันนักลงทุนก็อาจได้ผลตอบแทนไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง แล้วมานั่งเสียใจเมื่อขายคืนหน่วยลงทุนยามเกษียณ
4. อย่าคิดว่าลงทุนใน LTF - RMF ไปแล้วจะสับเปลี่ยนไม่ได้: จริงๆ แล้วหากเราพบว่ากองทุน LTF- RMF ที่เลือกลงทุนไว้มีนโยบายการลงทุนหรือระดับความเสี่ยงที่ไม่เหมาะกับตนเองเราสามารถสับเปลี่ยนการลงทุนไปยังกองทุนอื่นภายใต้กองทุนประเภทเดียวกันได้ เช่น การสับเปลี่ยน LTF กองเดิมไปยัง LTF อีกกองหนึ่ง หรือการสับเปลี่ยนกองทุน RMF ไปยังกองทุน RMF ด้วยกัน แต่เราไม่สามารถสับเปลี่ยนจากกองทุน LTF ไปยังกองทุน RMF หรือกองทุนรวมทั่วไปได้
5. อย่าเข้าใจผิดว่าลงทุนไปแล้วไม่สามารถโอนย้าย บลจ.ได้:มีผู้ลงทุนหลายท่านเข้าใจผิดว่าถ้าลงทุนในกองทุน LTF RMF กับ บลจ.ใดแล้วจะต้องถือครองไว้จนครบกำหนดตามเงื่อนไขของสรรพากร ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถโอนย้ายกองทุน LTF -RMF จาก บลจ.เดิมไปยัง บลจ.อื่นได้ แต่อาจมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าธรรมเนียมการโอนย้ายที่ บลจ.ต้นทางจะเรียกเก็บ โดย บลจ.แต่ละแห่งจะมีอัตราค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ การโอนย้าย LTF-RMF ข้าม บลจ.ก็จะต้องโอนย้ายกองทุนไปยังกองทุนประเภทเดียวกัน เช่น LTF โอนย้ายไป LTF หรือ RMF โอนย้ายไป RMF ด้วยกัน