คอลัมน์ “คุยกับผู้จัดการกองทุน”
ทีมจัดการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด
ในที่สุด QE tapering ของสหรัฐฯ ก็สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2014 นักลงทุนหลายท่านอาจกำลังสงสัยว่าเมื่อการทำ QE จบลงพร้อมกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ ในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะเป็นเช่นไร การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นเร็วและแรงขนาดไหน การปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างไร กลยุทธ์การลงทุนควรจะอยู่ใน Asset Class ไหน รวมถึงการประเมินความ Bull-Bear ต่อตลาดหุ้นใช้เกณฑ์อะไรวัด บทความนี้น่าจะตอบคำถามเหล่านี้ได้
ในมุมมองของ บลจ.ทิสโก้ เราประเมินว่าเส้นทางการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ จะแบ่งเป็น 6 ช่วงด้วยกัน กล่าวคือ
ช่วงที่ 1 คือช่วงที่ QE สิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม 2014 อย่างไรก็ตาม FED จะยังไม่รีบที่จะลดขนาดของ Balance Sheet แต่จะยังคง Reinvest ตราสารที่ครบกำหนดอายุ เพื่อที่ Bond Yield จะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปซึ่งจะเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ช่วงที่ 2 ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแรงดีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจยุโรป จีน หรือญี่ปุ่น ไม่ได้ตกต่ำไปกว่าระดับปัจจุบัน รวมถึง Policy Easing ที่ประกาศไปแล้วของประเทศญี่ปุ่น และจีนเริ่มส่งผลให้เห็นการค่อยๆ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เราเชื่อว่าภายในไตรมาสที่ 1/2015 ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มเปลี่ยน Forward Guidance กล่าวคือ จะมีการสื่อสารต่อสาธารณชนถึงแนวโน้มว่าจะเกิดการปรับขึ้นดอกเบี้นนโยบายในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ timing จะขึ้นอยู่กับภาพการจ้างงานที่ดีขึ้นต่อเนื่อง และระดับอัตราเงินเฟ้อที่ค่อยๆ ขยับขึ้น รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ดูดีขึ้น
ช่วงที่ 3 ในกรณีที่ภาพรวมทุกอย่างเป็นไปด้วยดี FED จะประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ย Policy Rate ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ถึงความเปราะบางของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงระดับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน เราเชื่อว่าสหรัฐฯ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกหลังจากเกิดวิกฤตในไตรมาสที่ 3/2015 โดย Fed Fund Rate จะแตะที่ระดับ 0.50%-0.75% ในสิ้นปี 2015
ช่วงที่ 4 หลังจากนั้น FED จะค่อยๆ ทยอยปรับดอกเบี้ยขึ้น โดยในช่วงแรกเราคาดว่า ดอกเบี้ยนโยบายจะทยอยปรับขึ้นในอัตราไม่สูงมากนัก (25 bps ต่อครั้ง) ในช่วงแรกๆ เพื่อให้ Corporates รวมถึงประชาชนค่อยๆ ปรับตัวกับต้นทุนทางการเงินที่ทยอยปรับสูงขึ้น เราเชื่อว่า Pace ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปจะกินเวลาประมาณ 1-1.5 ปี
โดยเราคาดว่า Fed Fund Rate จะขึ้นมาแตะที่ระดับ 1.75%-2.00% ภายในสิ้นปี 2016 ดังนั้น เมื่อพิจารณาจาก Timing ในการขึ้นดอกเบี้ย และความแรงของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงแรก ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อ Corporate Earnings ในปี 2015 จะมีน้อยมาก
ช่วงที่ 5 ประมาณ 6 เดือนหลังจากที่มีการปรับดอกเบี้ยขึ้นในครั้งแรก FED จะค่อยๆ ลดขนาดการ Reinvestment ในตราสารลง (Taper Reinvestment) แต่ทั้งนี้ เราเชื่อว่าระยะเวลาของการลดขนาดของการ Reinvestment จะกินเวลานานกว่าช่วงที่มีการเข้าซื้อตราสาร ทำให้ Balance Sheet ของ FED จะยังคงอยู่ในระดับสูงไปอีกหลายปี
ช่วงที่ 6 FED จะเริ่มเร่งอัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้น โดยจะปรับดอกเบี้ยเร็วและแรงขึ้นในแต่ละครั้งการประชุม ถ้าเป็นในกรณีที่เศรษฐกิจโลกฟื้นรวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตอย่างแข็งแรง เราเชื่อว่าช่วงเวลาการปรับดอกเบี้ยนโยบายในอัตราเร่งจะเกิดขึ้นในปี 2017 โดยที่ Fed Fund Rate มีแนวโน้มที่จะขึ้นไปแตะระดับ 3.50-4.00% ในปี 2017
จากเส้นทางการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินตามที่ให้ภาพไว้ บลจ.ทิสโก้เชื่อว่า ในปีหน้าด้วยสภาพคล่องของโลกที่เกิดจากการทำ QE ของประเทศญี่ปุ่น และอาจจะรวมถึงยุโรป ประกอบกับภาพของอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ จะทำให้นโยบายการเงินในหลายๆ ประเทศจะยังคงเป็นแบบผ่อนคลายเช่นเดิม หลายประเทศใช้โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อคงอยู่ในระดับต่ำนี้ในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ทำให้เอื้อต่อการลงทุนในตราสารทุนเป็นอย่างดี สำหรับปัจจัยที่จะ Drive ระดับความ Bull-Bear ของการลงทุนในตลาดหุ้น
เราแนะนำให้นักลงทุนจับตาในเรื่องของ Corporates Earnings เป็นหลัก หากการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงแรกทิศทางของ Corporate Earnings ยังเป็นขาขึ้น เราแนะนำให้นักลงทุนยังคง Bull ในการลงทุนในตลาดหุ้นต่อไป (ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างมากสำหรับการลงทุนในปี 2015) แต่เมื่อไรก็ตามที่ดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นเริ่มส่งผลกระทบต่อ Corporate Earnings ในเวลานั้นเราจึงจะมีมุมมองในเชิงลบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น