คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดย บลจ.บัวหลวง
สรุปจาก The West Can Only Dream Of Japan's Level Of 'Failure'
หลังจากนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น ประกาศยุบสภาเนื่องจาก GDP ไตรมาส 3 ปีนี้ยังติดลบต่อจากไตรมาส 2 และน่าจะเลือกตั้งใหม่ในเดือน ธ.ค.นี้ เหล่านักวิเคราะห์ฝรั่งทั้งหลายที่ไม่เห็นด้วยกับนายกฯ อาเบะ แต่สิ่งที่ผิดพลาดไม่น่าจะเป็นนโยบายของอาเบะ แต่น่าจะมาจากเหล่านักวิเคราะห์เองที่เอาแต่วิจารณ์จนลืมไปแล้วว่าญี่ปุ่นมีอัตราว่างงานเพียง 3.6% เท่านั้น ในขณะที่ของอังกฤษ และสหรัฐฯ อยู่ที่ราวๆ 6% ส่วนของ EU ยืนเหนือ 10% เสียด้วยซ้ำไป
ประเด็นที่สองที่เหล่านักวิเคราะห์หยิบยกขึ้นมาวิจารณ์คือ GDP ญี่ปุ่นที่ออกมาติดลบเป็น -1.6% ในไตรมาส 3 โดยติดลบต่อเนื่องมาจากไตรมาส 2 ที่เป็น -7.3% มองดูเผินๆ แล้วอาจจะร้ายแรงเนื่องจากในทางเศรษฐศาสตร์นั้นการที่ GDP ติดลบต่อเนื่องกันสองไตรมาสเขาเรียกว่า เศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) อย่างไรก็ดี หากวิเคราะห์ถึงเหตุที่แท้จริงจะพบว่า GDP ติดลบเพราะผลของการขึ้น VAT จาก 5% เป็น 8% ในเดือน เม.ย. ปีนี้ ที่ทำให้ผู้คนชะงักการใช้จ่ายลง การบริโภคติดลบ แล้วเลยดึง GDP ลงตามไปด้วย
โดยผลที่เกิดจะเป็นเรื่องชั่วคราวในระยะสั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือหลังจากที่รัฐบาลขึ้น VAT ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ BOJ ก็เข็นมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเข้าไปอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น (QQE) ในเดือน ต.ค. ดังนั้น การที่นักวิจารณ์กลัวกันว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะถดถอยต่อเนื่องไปเรื่อยๆ นั้นจึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก
เรื่องของการขึ้นภาษีเอง จริงๆ แล้วก็เป็นนโยบายสืบเนื่องตั้งแต่นายกรัฐมนตรีคนก่อน (โยชิฮิโกะ โนดะ) จะไปโทษนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ คนเดียวก็ใช่ที่ ที่จริงแล้วควรจะขอบคุณอาเบะด้วยซ้ำไป เพราะเขามีความคิดที่จะเลื่อนการขึ้นภาษีครั้งที่สองตามแผนเดิมออกไปก่อนอย่างน้อยอีกปีครึ่ง (ถ้าอาเบะได้กลับเข้ามาเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในเดือนธันวาคมนี้) ซึ่งอาเบะเองคงจะมีแผนอื่นๆ เพื่อเตรียมฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างเป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้นอีก
ทั้งนี้ หากจะวิเคราะห์ผลงานของอาเบะจริงๆ ก็ต้องมองที่ผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ Abenomics Policy เสียมากกว่า โดยนโยบายดังกล่าวมีเป้าหมายในการดันอัตราเงินเฟ้อของประเทศให้สูงขึ้น ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อที่ทยอยออกมาหลังจากที่อาเบะเข้าบริหารประเทศก็ขยับขึ้นเรื่อยๆ และยืนเหนือ 1% ได้มาเป็นปี ที่สำคัญก็คือ เขาประสบความสำเร็จในการดึงอัตราเงินเฟ้อคาดหมาย (Expected Inflation) ให้สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดี เพราะอัตราเงินเฟ้อที่กระเตื้องขึ้นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าความต้องการจับจ่ายใช้สอยในประเทศเริ่มกลับมาแล้ว (หลังจากซบเซาไปยาวนานกว่า 20 ปี) ซึ่งเมื่อคนเริ่มกล้าใช้เงินจับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจก็จะขยายตัวได้ เมื่อ BOJ ในยุคของนายกรัฐมนตรีอาเบะตั้งเป้าว่าจะดันเงินเฟ้อไปให้ได้ 2% มาถึงวันนี้เงินเฟ้อขึ้นมาเป็น 1% ก็นับว่าเดินมาได้ครึ่งทางแล้ว
ประเด็นสุดท้ายที่นักวิจารณ์ทั้งหลายมักใช้เหน็บแนม Abenomics Policies ก็คือนโยบายลูกศรดอกที่สาม โดยพูดกันว่า “ลูกศรดอกที่สามหายไปไหนเสียล่ะ”
เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจกันว่าลูกศรดอกที่สามเป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างทางสังคมและประชากร (เช่นให้ผู้หญิงทำงานมากขึ้น) ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา การที่จะมาคาดหวังอะไรภายในสองปีดูจะใจร้ายกันไปหน่อย
โดยสรุปแล้ว ในทุกประเด็นที่อาเบะถูกวิจารณ์ เราจะเห็นว่าทุกประเด็นนั้นของจริงที่เกิดขึ้นคือเศรษฐกิจมีทิศทางและพัฒนาการที่ดี ดังนั้น หากนายกฯ อาเบะได้รับโอกาสกลับเข้ามาอีกครั้ง เราน่าจะเห็นนโยบายค้างท่อได้รับการผลักดันให้เร็วขึ้น นโยบายจากรัฐบาลเดิมก็คงจะได้รับการพิจารณาถึงความเหมาะสม
แต่เหนือสิ่งอื่นใด นักวิเคราะห์ที่ถนัดแต่วิจารณ์ น่าจะให้เวลานายกฯ เขาทำงานก่อน เพราะไม่แน่ว่าในอีกหลายปีข้างหน้าเมื่อนักวิเคราะห์ฝรั่งทั้งหลายมองย้อนกลับมาถึงสิ่งที่นายกฯ อาเบะทำ เขาอาจจะนึกขำตัวเองก็ได้ว่าตัดสินรัฐบาลนี้เร็วเกินไป
http://www.businessinsider.com/shinzo-abe-is-right-abenomics-has-not-failed-and-he-deserves-credit-2014-11