บลจ.เมย์แบงก์ ลุยตลาดต่างประเทศออก 4 กองทุนหุ้น ETF ลงทุน ตลาดเกิดใหม่ ตลาดญี่ปุ่น ยุโรปลและสหรัฐฯ เป็นทางเลือกลงทุนช่วงหุ้นไทยลดความน่าสนใจลง มองหุ้นไทยทรงตัว รอดูมาตรการลงทุนภาครัฐที่จะดัน เศรษฐโต เอาใจนักลงทุนปลดทุกข้อจำกัดลงทุนต่างประเทศ ก้าวสู้การลงทุนระดับโลก เปิดขายหน่วยลงทุนกองทุนอีทีเอฟ ต่างประเทศลงทุนในหุ้น 4 ภูมิภาค ได้แก่ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และตลาดเกิดใหม่ วันที่ 19 พฤศจิกายน ถึง 4 ธันวาคม 2557 มูลค่าระดมทุนรวม 4 พันล้านบาท หวังช่วยนักลงทุนกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทน พร้อมจับมือ 4 บริษัทชั้นนำในวงการลงทุน เพื่อเป็นพันธมิตรในการเสนอขายกองครั้งนี้ และมองแนวโน้มการลงทุนต่างประเทศสดใส พื้นฐานดี
นายตรีพล ภูมิวสนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนกองทุนอีทีเอฟ ที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ 4 ภูมิภาค ได้แก่ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และตลาดเกิดใหม่ แบ่งเป็น กองทุนเปิดเมย์แบงก์ ยุเอส อีทีเอฟ (Maybank US ETF: MUS) กองทุนเปิดเมย์แบง์ ยูโร อีทีเอฟ (Maybank EURO ETF: MEU) กองทุนเปิดเมย์แบงก์ เจแปน อีทีเอฟ (Maybank Japan ETF: MJP) และกองทุนเปิดเมย์แบงก์ อีเมอร์จิ้ง อีทีเอฟ (Maybank Emerging ETF: MEM) มูลค่ากองทุนละ 1,000 ล้านบาท ราคาเสนอขายหน่วยลงทุนละ 10 บาท เปิดขายวันที่ 19 พฤศจิกายน ถึง 4 ธันวาคม 2557
โดยรูปแบบการลงทุนของกองทุนอีทีเอฟต่างประเทศแต่ละกองนั้นจะต่างกันออกไป ดังนี้ กองทุน MUS จะเน้นลงทุนหุ้นพื้นฐานดี ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยผลตอบแทนจะสะท้อนจากความเคลื่อนไหวของดัชนี S&P500 กองทุน MEU จะลงทุนหุ้นของบริษัทชั้นนำกลุ่มประเทศยุโรป โดยผลตอบแทนจะสะท้อนจากความเคลื่อนไหวของดัชนี MSCI EMU กองทุน MJP จะเน้นลงทุนหุ้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผลตอบแทนจะสะท้อนจากความเคลื่อนไหวของดัชนี MSCI Japan และกองทุน MEM จะเน้นลงทุนหุ้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ในตลาดเกิดใหม่กว่า 800 หุ้น โดยผลตอบแทนจะสะท้อนจากความเคลื่อนไหวของดัชนี MSCI Emerging Markets
ทั้งนี้มองว่าภูมิภาคตลาดเกิดใหม่น่าลงทุนเพราะหลายประเทศมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำเป็นผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ คาดว่าการบริโภคในกลุ่มนี้น่าจะดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจน
ขณะที่ญี่ปุ่นที่มีการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจและทำให้เงินเยนที่อ่อนค่า ตลาดหุ้นก็น่าที่จะได้นับอานิสงค์ด้านบวกจากค่าเงินอ่อน ด้านยุโรป แม้เศรษฐกิจที่ยังแย่แต่ราคาหุ้นขณะนี้ถือว่าหากมีการใช้ QE กระตุ้นเศรษฐกิจก็จะส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงส่งส่งผลดีต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวมีการเติบโต ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯยังเป็นตลาดที่ยังให้น้ำหนักการลงทุนเช่นกัน ซึ่งแนวโน้มยังดี หลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐในปีหน้า คาดว่าจะเติบโตประมาณ 7-8%
"การออกกองทุนอีทีเอฟต่างประเทศทั้ง 4 กองทุนนี้ เป็นการออกกองทุนที่ครอบคลุมการลงทุนทั่วโลกกว่า 85% เป็นทางเลือกใหม่นักลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในประเทศที่ผันผวนขึ้นลงเฉลี่ยปีละ 20% และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า ซึ่งการเสนอขายกองทุนอีทีเอฟ ครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนให้สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ในปี 2557 เติบโตตามเป้าหมายที่ 2,500 ล้านบาท"
สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้น นายบาลดูลห์ อีสยำ CEO บลจ.เแมย์แบงก์ สิงคโปร์ และประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน ในภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า ทางสิงคโปร์ขณะนี้ให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยระดับกลาง แต่ยังมีความน่าสนใจโดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มอุปโภคบริโภค ซึ่งในประเทศไทยนั้นหากมีการยกเลิกกฎอัยการศึกจะส่งผลดีต่อการลงทุนและเป็นสัญญาณที่ต่างประเทศจะกลับเข้ามา และการลงทุนของภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต
นอกจากนี้ บลจ. เมย์แบงก์ ได้ลงนามความร่วมมือกับ 4 บริษัทชั้นนำในวงการลงทุน ได้แก่ บริษัท คอมเมิร์ช แบงก์ จำกัด (มหาชน) บริษัท มาร์ค อิท กรุ๊ป ลิมิเต็ท จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นพันธมิตรในการเสนอขายกองทุนอีทีเอฟ ต่างประเทศในครั้งนี้ โดย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง และ บล.ภัทร จะเป็นพันธมิตรทางด้านผู้ร่วมค้าหลักทรัพย์ (Participant dealer) ส่วนคอมเมิร์ช แบงก์ และ มาร์ค อิท กรุ๊ป ลิมิเต็ท จะเป็นพันธมิตรด้าน การดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) และการให้ข้อมูลราคาตลาดระหว่างวัน (iNAV) ทำให้การเสนอขายกองทุนอีทีเอฟ ต่างประเทศ ของเมย์แบงก์ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น
ตั้งเป้าAUMโต 5 พันล้านบาท
นายตรีพล กล่าวว่า ในปีหน้า บริษัทตั้งเป้า เอยูเอ็ม เติบโตที่ 5000 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากปีนี้ โดยจะเป็นการเติบโตที่มาจากการออกกองทุนต่างประเทศ กองทุนหุ้นไทย กองทุนส่วนบุคคล รวมถึงกองทุนหุ้นและตราสารหนี้ จาก บลจ.เมย์แบงก์สิงคโปร์ที่จะเข้ามาขายในประเทศไทยในรูปแบบ CIS ซึ่งมีทั้งกองทุนหุ้นและกองทุนตราสารหนี้ที่น่าจะเห็นได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่งขณะนี้ ทางบลจ. แมย์แบงก์ประเทศไทย เองกำลังพัฒนาเรื่องระบบไอทีเพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทอยู่