คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยพิชชาภา ศุภวัฒนกุล
และทีมจัดการกองทุนบัวหลวง
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตในอัตราเฉลี่ย 1.1% ต่อปี และมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างประชากร กล่าวคือมีคนชรามากขึ้น ในขณะที่เด็กเกิดใหม่มีน้อยลงไปกว่าแต่ก่อน ทำให้จำนวนแรงงานลดลง ประกอบกับมีหนี้สาธารณะในระดับสูงและเคยเกิดฟองสบู่แตกครั้งใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ประเทศญี่ปุ่นตกอยู่ในภาวะเงินฝืดมานานนับทศวรรษ จนเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่อยู่ในทศวรรษแห่งความสูญเปล่ามาตลอดในกว่าสิบปีที่ผ่านมานี้ (The Lost Decade)
เมื่อญี่ปุ่นได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ ชินโสะ อาเบะ เข้ามาฟื้นฟูประเทศโดยมุ่งแก้ไขปัญหาของ The Lost decade ด้วยการออกนโยบาย Abenomics ภายใต้แผนลูกศรสามดอก อันเป็นคลื่นแห่งความหวัง ทำให้ตลาดหุ้น Nikkei ในปี 2013 ปรับเพิ่มขึ้นด้วยความคาดหวังในเชิงบวกถึง 56.7% แต่นโยบาย Abenomics จะมีผลแค่ไหน และการเมืองระหว่างประเทศจะส่งผลบวกหรือลบต่อนโยบาย Abenomics อย่างไร ก็ยังเป็นที่สงสัยและน่าสนใจอยู่
อย่างไรก็ตาม ผลของนโยบาย Abenomics ภายใต้นโยบาย QQE (Quantitative and Qualitative Easing) ได้ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง 36.9% ในปี 2013 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศคู่ค้าของญี่ปุ่นทั้งการส่งออกและนำเข้า รวมทั้งทำให้บริษัทเอกชนในญี่ปุ่นเร่งออกไปลงทุนในต่างประเทศ (FDI) เนื่องจากเงินเยนที่อ่อนค่าทำให้อำนาจซื้อในประเทศลดลง ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปอุตสาหกรรมที่เน้นส่งเสริมรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ (FDI) นอกเหนือไปจากการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ
สำหรับการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศตามนโยบาย Abenomics นั้นมี 3 แผน ได้แก่ 1) Industry Revitalization Plan 2) Strategic Market Creation Plan 3) Strategy of Global Outreach
ซึ่งแผนที่ 3) Strategy of Global Outreach นั้นมีการระบุอย่างชัดแจ้งเกี่ยวกับแนวทางลงทุนของญี่ปุ่นในต่างประเทศ (FDI) ในระยะยาว ที่ต้องการเพิ่มอัตราการค้าผ่าน FTA ของญี่ปุ่น จาก 19% เป็น 70% ภายในปี 2018 โดยผ่านการตกลงกับเครือข่ายใน Economic Partnership Agreements (EPAs) เช่น Trans-Pacific Partnership (TPP), Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) และ Japan-China-ROK FTA (ROK : Republic of Korea)
สิ่งดังกล่าวเหล่านี้ล้วนแต่บ่งชี้แนวโน้มที่จะมีเงินลงทุนจากญี่ปุ่นไหลเข้ามาในอาเซียน ทั้งนี้ ล่าสุดญี่ปุ่นมี EPA (Economic Partnership Agreements) กับ 13 ประเทศ ซึ่งส่วนมากก็เป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียน
รัฐบาลญี่ปุ่นสนใจลงทุนนอกประเทศในอุตสาหกรรมอะไร
รายงานของ ก.ต่างประเทศญี่ปุ่นเกี่ยวกับ Japan-ASEAN Summit Meetings ในเดือนธันวาคม 2013 ระบุว่า อุตสาหกรรมที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่ง และธุรกิจการเงิน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีอาเบะได้เข้าร่วมหารือด้านพลังงานกับบรูไน (ก๊าซธรรมชาติ) อินโดนีเซีย และมาเลเซีย (โรงงานพลังงานถ่านหิน) และเวียดนาม (พลังงานนิวเคลียร์และถ่านหิน) ไปแล้ว
สำหรับโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งนั้น ญี่ปุ่นสนใจที่จะลงทุนและพัฒนารถไฟความเร็วสูงในมาเลเซียและสิงคโปร์ ระบบขนส่งและสนามบินใน สปป.ลาวและเวียดนาม ทั้งนี้ โปรเจกต์ยักษ์ของญี่ปุ่นคือ ทิลาวา Special Economic Zone ในพม่าก็มีเป้าหมายจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2015
ในธุรกิจสายการเงิน ญี่ปุ่นได้ลงนาม Bilateral Swap Agreement กับอินโดนีเซีย และลงนาม Currency swap กับสิงคโปร์ไปแล้ว นอกจากนั้น ยังกำลังจัดตั้ง Yangon Stock Exchange ในพม่าโดยได้รับการถ่ายทอดระบบต่างๆ จาก Daiwa Securities Group ของญี่ปุ่น นอกจากนี้ Japan Exchange Group กับ Myanmar Economic Bank ก็ยังมีความร่วมมือกันอีกด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการในปี 2015 ของการรุกคืบเข้าไปในระบบตลาดเงินกับตลาดทุนที่ต้องจับตามอง
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีนโยบาย “Cool Japan” ภายใต้ลูกศรดอกที่ 3 ของ Abenomics ที่มุ่งเน้นลงทุนในธุรกิจเฉพาะเจาะจงบางประเภท โดยเน้นไปที่ตลาดอาเซียน
“Cool Japan” มีเป้าหมายก่อตั้ง Japan Brand Fund เพื่อส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในต่างประเทศในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ผ่านการใช้วัฒนธรรมและศิลปะญี่ปุ่นเพื่อสร้างแบรนด์ให้แก่สินค้าเหล่านี้
Cool Japan Fund มีเงินทุน 60 พันล้านเยน (590 เหรียญสหรัฐ) ที่พร้อมจะสนับสนุนให้บริษัทเอกชนระดับเล็กถึงกลางออกไปลงทุนในภูมิภาคที่ญี่ปุ่นมีความสนใจเป็นพิเศษ เช่น ภูมิภาคอาเซียนสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค และจีนสำหรับสินค้าเครื่องสำอาง
เอกชนญี่ปุ่นสนใจลงทุนนอกประเทศในอุตสาหกรรมอะไร ผลสำรวจของ Japanese-Affiliated Companies in Asia and Oceania for Fiscal Year 2013 ของ JETRO (Japan External Trade Organization) แสดงให้เห็นถึงความสนใจของบริษัทญี่ปุ่นในธุรกิจการเงิน ประกัน สื่อสาร และซอฟต์แวร์เป็นพิเศษ ซึ่งหากดูเฉพาะในกลุ่มอาเซียนจะพบว่าภาคธุรกิจญี่ปุ่นสนใจที่จะขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอและก่อสร้างของพม่า และอุตสาหกรรมผลิตจักรยานยนต์ในกัมพูชา นอกจากนี้ JETRO ยังวางแผนจะเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกที่ สปป.ลาว ทำให้คาดได้ว่าญี่ปุ่นน่าจะส่งเสริมการลงทุนใน สปป.ลาวมากขึ้น
ทำไมญี่ปุ่นถึงเห็นว่าประเทศในอาเซียนน่าลงทุนมากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย คำตอบอยู่ที่ Growth เพราะอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่ยังมีอายุเฉลี่ยของประชากรวัยหนุ่มสาวในสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วและเป็นตลาดเกิดใหม่ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เมื่อเป็นดังนี้ คนในอาเซียนก็ย่อมต้องการบริโภคมาก ซึ่งจะช่วยทดแทนตลาดภายในประเทศญี่ปุ่นที่ลดลงทั้งจากอำนาจซื้อและสัดส่วนประชากรวัยหนุ่มสาวซึ่งเป็นพลังในการบริโภคที่ลดลง
ภูมิภาคอาเซียนมีประชากร 617 ล้านคน หรือ 8.9% ของประชากรโลก และมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและอินเดีย ทั้งยังมีสัดส่วนชนชั้นกลางจำนวนมาก ทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีกำลังซื้อสูงและมีศักยภาพในการเติบโต
จำนวนแรงงานที่มีพร้อม และค่าแรงที่ยังไม่สูงมาก ก็เป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาในอาเซียน นอกจากนี้ การเปิด AEC ในปี 2015 จะทำให้บริษัทในภูมิภาคสามารถขยายธุรกิจข้ามพรมแดนได้ง่ายขึ้น และเป็นการส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับจีนเริ่มเกิดปัญหาจากข้อบาดหมางของเกาะ Senkaku/Diaoyu ทำให้อาเซียนได้ประโยชน์ทางการค้าจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น
ผลกระทบต่อประเทศไทย แม้ว่าไทยจะมีส่วนแบ่งในตลาด FDI ในอาเซียนมากที่สุดเพราะภูมิศาสตร์ของประเทศเป็นจุดศูนย์กลางกระจายสินค้าและมีระบบ Supply chain ด้านยานยนต์ที่ครบวงจร แต่ FDI จากญี่ปุ่นที่เข้ามายังไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง โดยไปเน้นการลงทุนจากภาค Manufacturing ไปสู่ภาค Non-manufacturing มากขึ้น
หนึ่งในการเจรจาทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ Mitsubishi UFJ Financial Group ที่ได้เข้ามาซื้อหุ้นในสัดส่วน 72% ของ Bank of Ayudhya (BAY) ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย โดยมีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 536 พันล้านเยน หรือ 5.23 พันล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ ธุรกิจประกันก็มีบริษัทประกันที่ใหญ่อันดับ 5 ของญี่ปุ่นคือ Meiji Yasuda เข้ามาซื้อหุ้นของ Thai Life Insurance ในสัดส่วน 15% มูลค่า 70 พันล้านเยน หรือ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนธุรกิจค้าปลีกก็มีบริษัท Saha Lawson ซึ่งเป็น Joint Venture ระหว่าง Saha Group ของไทย (ถือหุ้น 50%) และ Lawson Asia Pacific ของญี่ปุ่น (ถือหุ้น 49%) ก็มีแผนขยายร้าน Lawson 108 ในประเทศไทยให้มีจำนวนถึง 1,000 ร้านภายใน 5 ปีข้างหน้านี้
ดังนั้น แม้กระแส FDI ที่ไหลเข้ามาในไทยจะลดน้อยลงจากปัญหาทางการเมืองตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2013 แต่ไทยก็น่าจะฟื้นตัวจากปัญหาทางการเมืองที่คลี่คลายและมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และน่าจะยังคงเป็นจุดหมายหลักสำหรับการควบรวม (M&A) ของญี่ปุ่นกับบริษัทในอาเซียนต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ เช่น ธุรกิจการเงินและประกันที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจมาก เพราะเชื่อว่าจะรองรับอำนาจซื้อของกลุ่มชนชั้นกลางที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วในประเทศไทย