โดยสุรกิจ พิทักษ์ภากร CFP?
สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
จุดเด่นหรือข้อดีของอาชีพค้าขายคือ เป็นอาชีพอิสระ สามารถออกแบบวางแผนการขายได้เอง ทำให้มีโอกาสสร้างรายได้ที่สูงกว่าการเป็นลูกจ้างทั่วไปโดยหากขายมาก ก็ทำให้มีรายได้มาก อยากหยุดวันไหนก็หยุดได้ แต่อาชีพค้าขายก็มีจุดที่เสี่ยงหรือข้อด้อยคือ รายได้ไม่แน่นอนมีโอกาสขาดทุน ขึ้นอยู่กับทำเล เทศกาล ฤดูกาล รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจการเมือง และข้อด้อยอีกประการคือการไม่มีสวัสดิการที่ดีเหมือนการเป็นลูกจ้างในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือ ประกันสังคม ทำให้หากเกิดเจ็บป่วยไม่ว่าหนักหรือเบาก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
เห็นได้ว่าหากขาดการเอาใจใส่เรื่องการวางแผนการเงินก็อาจจะทำให้มีโอกาสล้มเหลวในชีวิตตนเองรวมถึงครอบครัวได้ จึงขอแนะนำการวางแผนการเงินอย่างง่ายๆ กับคนที่ทำอาชีพค้าขาย ตามหลักสากลของการวางแผนการเงิน ดังนี้
วิเคราะห์สถานะของตนเอง เช่น ตัวเราเองมีภาระมากน้อยแค่ไหน หากมีภาระต้องดูแลพ่อแม่หรือลูกๆ และภรรยา ก็ต้องตรวจสอบว่าเดือนๆ นึงมีรายจ่ายเท่าไหร่ที่เราต้องรับผิดชอบ เพื่อประเมินรายได้เหลือพอกับภาระที่มีหรือไม่
ความเสี่ยงของเรามีอะไรบ้าง เป็นการเตรียมความพร้อมไว้ก่อนเป็นดี เช่นถ้าหน้าฝน หรือมีภาวะน้ำท่วม ของที่เราขายจะมีผลกระทบมั้ย ต้องมีแผนการตลาดอะไรมั้ย รวมถึงถ้าเราป่วยหรือคนที่เราดูแลเจ็บป่วย จะจัดการอย่างไร มีประกันสุขภาพมั้ย เพียงพอหรือไม่
หาเป้าหมายของตัวเองให้เจอเราอยากเกษียณเมื่อไหร่ ตั้งใจจะส่งลูกเรียนถึงระดับไหน เราจะซื้อรถ ซื้อบ้าน หรือหลักทรัพย์ที่ดิน อะไรบ้าง ควรเขียนออกมาเป็นเป้าหมาย และระยะเวลาที่ต้องการ เช่น ต้องการอยากเกษียณเพื่อพักผ่อนไปเที่ยวกับครอบครัวตอนอายุ 55 ปี เป็นต้น
ต้องมีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุกวันควรมีการกันเงินเก็บสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เช่น ต้องมีค่าใช้จ่ายในครอบครัวเดือนละ 50,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองไว้ประมาณ 150,000-300,000 บาทหรืออาจจะเก็บมากกว่าเป็น 9-12 เดือนก็ได้ ซึ่งก็คงขึ้นกับความสบายใจ มีเงินสำรองไว้เผื่อการใช้จ่ายในครอบครัว ก็ไม่เดือดร้อน
การจัดการความเสี่ยง หากมีเหตุต้องเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุร้ายแรง ควรมีการจัดการเรื่องนี้ด้วยการโอนย้ายความเสี่ยงทั้งเรื่องชีวิตและทรัพย์สิน เช่น การทำประกันสุขภาพ โรคร้าย ประกันอุบัติเหตุ การทำประกันร้านค้าทั้งด้านอัคคีภัยหรือโจรกรรม การทำประกันภัยรถ เป็นต้นซึ่งเลือกแผนความคุ้มครองที่เบี้ยประกันที่เราสามารถจ่ายได้
ควรต้องวางแผนด้านการออมเพื่อเกษียณอายุหรือการออมเพื่อทุนการศึกษาทันที เช่น ต้องมีวินัยของการออมฝากทุกเดือนๆ ละ 5,000 บาท แต่ถ้ากลัวไม่มีวินัย อาจออมผ่านแบบประกันสะสมทรัพย์ ควรต้องเป็นแบบประกันที่ระยะยาวพอกับเวลาที่จะเกษียณจริงๆ เช่น ถ้าอายุ 40 ปี ก็ควรเลือกระยะเวลาของแบบประกันสะสมทรัพย์ที่ 20 ปี เป็นต้น ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ด้านลดหย่อนภาษีอีกด้วย หากมีภาระเรื่องบุตรหรือหนี้สิน ก็ควรทำประกันชีวิตในวงเงินคุ้มครองที่เหมาะสมต้องแบ่งไปลงทุนให้งอกเงยบ้าง ด้วยการลงทุนผ่านกองทุนรวมสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาลงทุนเอง หรืออาจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ (หุ้น) ซึ่งเงินที่ควรลงทุนควรเป็นเงินที่เหลือจากการออมเพื่อเป้าหมายสำคัญแล้ว ทั้งนี้ทางบริษัทหลักทรัพย์ก็จะเป็นผู้ให้คำแนะนำการซื้อขาย รวมถึงให้ข้อมูลการตลาดเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจของเราอีกด้วย
ทบทวนแผนการเงินอยู่เสมอหลังจากเราได้จัดการการเงินเรียบร้อยแล้วว่า จะฝากธนาคารเท่าไหร่ จะออมเงินเพื่อเกษียณเท่าไหร่ จะซื้อประกันอะไรบ้าง สุดท้ายเราต้องทบทวนทุกขั้นตอนอยู่เป็นประจำ โดยปกติต้องทำอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่ออาจต้องเปลี่ยนแปลงการลงทุนให้เหมาะสมตามสถานการณ์นั้นๆ อยู่เสมอ
ผมหวังว่าทั้งหมดนี้ จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ประกอบอาชีพค้าขาย และขอให้ประสบความสำเร็จในการวางแผนการเงินให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการต่อไปครับ
ท่านสามารถศึกษาข้อมูล และติดตามกิจกรรมสัมมนาประจำทุกเดือน ได้ที่ www.set.or.th/yourfirststock