บลจ.วรรณลุยหุ้นเอเชียแปซิฟิก ใช้กลยุทธ์ Economic Moat ตามแนวคิดวอร์แรน บัฟเฟตต์ ส่งทริกเกอร์ฟันด์ “วรรณ เอเชีย อีโคโนมิค โมท7 ฟันด์” ตั้งเป้าลงทุน 7 เดือน 7% เปิดขายไอพีโอแล้วตั้งแต่วันนี้ถึง 5 กันยายน 2557
นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด กล่าวว่า เรายังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ เนื่องจากตลาดหุ้นหลัก เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย ได้ปรับขึ้นมามาก แต่โดยรวมตลาดหุ้นยังได้รับแรงผลักดันจากสภาพคล่องที่ยังมีอยู่มากแม้ว่าสหรัฐฯ กำลังยุติการทำ QE ก็ตาม ดังนั้น กลยุทธ์สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนจึงควรเน้นการเลือกหุ้น (Stock Selection) มากขึ้น โดยในครึ่งปีหลังเชื่อว่าตลาดหุ้นในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) ยังเป็นตลาดหุ้นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะจีนและเกาหลีใต้ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานและมูลค่าหุ้นที่ราคายังต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน
ทั้งนี้ บลจ.วรรณมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอเชียเหนือ และจีน เนื่องจากเศรษฐกิจในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) ที่ผ่านมาสามารถรักษาการขยายตัวได้ค่อนข้างดีและแข็งแกร่งกว่าประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป จากปัจจัยหลักด้านการส่งออกของกลุ่มเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีแนวโน้มขยายตัวได้เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และทางการของแต่ละประเทศก็มีการดำเนินมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาคการบริโภคและการลงทุนในประเทศ เช่น เกาหลีใต้ที่มีการอัดฉีดผ่านวงเงิน 41 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 40 พันล้านดอลลาร์ ผ่านทั้งมาตรการการเงินและการคลัง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 57 ที่ผ่านมา
สำหรับผลตอบแทนจากการลงทุนของกลุ่มประเทศเอเชีย แปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว โดยดัชนี MSCI Asia Pacific ex. Japan ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 8.82% ขณะที่ตลาดหุ้นในบางประเทศ อย่างเช่น เกาหลีใต้ และจีน ยังปรับตัวในระดับต่ำกว่ามูลค่าปัจจัยพื้นฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ยังมีโอกาสที่ตลาดจะสามารถปรับตัวเพิ่มในอนาคต
โดยมูลค่าหุ้นในกลุ่มเอเชียแปซิกฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) ปัจจุบันมีราคาหุ้นต่อกำไรที่ 12.3 เท่า โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนและเกาหลีใต้ที่มีราคาหุ้นต่อกำไรที่ต่ำกว่า 10 เท่า ทำให้ตลาดหุ้นในประเทศดังกล่าวยังคงมีความน่าสนใจเมื่อเทียบกับระดับราคาหุ้นต่อกำไรของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ยุโรป และ MSCI World ที่ 16.1, 14.8 และ 14.8 เท่า ตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้นจีนที่ปัจจุบันมี P/E ที่ประมาณ 8 เท่า และมีแนวโน้มการเติบโตจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามมาตรการสนับสนุนภาครัฐ และการขยายตัวของสินเชื่อ รวมถึงเกาหลีใต้ที่มีระดับ valuation ที่น่าสนใจ ขณะที่มีโอกาสเติบโตจากตลาดส่งออกตามการปรับตัวของเศรษฐกิจโลก
นายวิน กล่าวต่อว่า จากมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนเชิงบวกต่อตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) ดังกล่าว ทำให้ บลจ.วรรณเปิดเสนอขายกองทุนเปิด วรรณ เอเชีย อีโคโนมิค โมท7 ฟันด์ (ONE ASIA ECONOMIC MOAT7 FUND: ONE-MOAT7) ซึ่งเน้นกระจายการลงทุนในประเทศและอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศที่คาดว่าจะมีการขยายตัวของเศรษฐกิจสูง แต่ราคาถูก เช่น เกาหลีใต้ จีน และฮ่องกง เป็นต้น โดยเน้นหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ส่งออก และบริโภค
สำหรับจุดเด่นของกองทุนนั้นจะใช้วิธีการเลือกหุ้นแบบ Economic Moat ตามแนวคิดของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ในการหาหุ้นคุณภาพและมีความสามารถในการแข่งขันจากจุดแข็งในการทำธุรกิจ เช่น ธุรกิจที่ผู้บริโภคเปลี่ยนใจไม่ใช้สินค้าได้ยาก มีการบริหารต้นทุนการดำเนินงานที่ค่อนข้างต่ำ มีความแข็งแกร่งของตราสินค้า ความเชื่อมโยงเครือข่ายทางธุรกิจและซับซ้อนยากต่อการถูกทดแทน และประสิทธิภาพของขนาดการลงทุน (Efficient Scale) โดยเน้นเลือกหุ้นกลุ่มดังกล่าว ระดับราคาหุ้น เช่น P/E และ P/B ต่ำ แต่มีอัตราการเติบโตของรายได้ค่อนข้างดี เป็นต้น เช่น หุ้น Naver Line / หุ้น Samsung เป็นต้น
โดยกองทุนเปิด ONE-MOAT7 เป็นกองทุนแรกในประเทศไทยที่นำแนวคิดของวอร์เรน บัฟเฟตต์มาใช้ในการสรรหาหุ้น ซึ่งความชัดเจนของแนวทางนี้ทำให้ “Economic Moat” เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกหุ้นดีๆ ในต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากและต้องการหุ้นที่มีความสามารถในการทำกำไรสูงซึ่งน่านำมาศึกษาและใช้คัดเลือกเพื่อลงทุนหุ้นดีๆ ในอนาคต
โดยกองทุนฯ นี้ บลจ.วรรณจะมุ่งเน้นการคัดเลือกหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ที่สอดคล้องไปกับนโยบายภาครัฐและการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้โอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับลดลงมีค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะจีนและเกาหลีใต้ ทั้งนี้ กองทุนเปิด ONE-MOAT7 จะเสนอขายครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 28 ส.ค.-5 ก.ย. 57 โดยมีเป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนระดับ 7% ภายใน 7 เดือน