xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณา รู้ให้ลึกกับการทำ “ประกันชีวิต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เคยไหมที่ทำประกันเพราะเกรงใจ และเคยหรือไม่ทำประกันชีวิตแต่ไม่รู้ว่ากรมธรรม์คุ้มครองอะไรบ้าง ...วันนี้ทีมงาน “ASTVผู้จัดการ” จะพาไปรู้จักประกันชีวิต และไม่ลืมที่จะบอกถึงเทคนิคดีๆ ในการทำประกันอีกด้วย....

โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.นิยามว่า“การประกันชีวิต” เป็นวิธีการที่บุคคลกลุ่มหนึ่งร่วมกันเฉลี่ยภัยอันเนื่องจากการตาย การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และการสูญเสียรายได้ในยามชรา โดยที่เมื่อบุคคลใดต้องประสบกับภัยเหล่านั้นก็ได้รับเงินเฉลี่ยช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัว โดยบริษัทประกันชีวิตจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการนำเงินก้อนดังกล่าวไปจ่ายให้แก่ผู้ได้รับภัย

โดยการประกันชีวิตแยกออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. ประเภทสามัญ เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป ในการพิจารณารับประกันชีวิตอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจสุขภาพ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบริษัท และมีการชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายปี, ราย 6 เดือน, ราย 3 เดือน หรือรายเดือน

2. ประเภทอุตสาหกรรม เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำ โดยทั่วไปตั้งแต่ 10,000-30,000 บาท เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ การชำระเบี้ยประกันภัยจะชำระเป็นรายเดือน และไม่มีการตรวจสุขภาพ ฉะนั้นจึงมีระยะเวลารอคอย คือ ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บตามธรรมชาติ บริษัทจะไม่จ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้ แต่จะคืนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยได้ชำระมาแล้วทั้งหมด

3. ประเภทกลุ่ม เป็นการประกันชีวิตที่กรมธรรม์หนึ่งจะมีผู้เอาประกันชีวิตร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ส่วนมากจะเป็นกลุ่มของพนักงานบริษัท ในการพิจารณารับประกันอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของบริษัท การประกันชีวิตกลุ่มนี้อัตราเบี้ยประกันชีวิตจะต่ำกว่าประเภทสามัญและประเภทอุตสาหกรรม

สำหรับรูปแบบของการประกันชีวิตที่เป็นแบบพื้นฐานนั้นมี 4 แบบ คือ

1. แบบตลอดชีพ เป็นการประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีพ ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตเมื่อใดในขณะที่กรมธรรม์มีผลบังคับ บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการประกันภัยแบบนี้เพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับจุนเจือบุคคลที่อยู่ในความอุปการะเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต หรือเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการเจ็บป่วยครั้งสุดท้ายและค่าทำศพ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ตกเป็นภาระของคนอื่น

2. แบบสะสมทรัพย์เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาประกันภัย การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นส่วนผสมของการคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ ส่วนของการออมทรัพย์ คือส่วนที่ผู้เอาประกันภัยได้รับคืนเมื่อสัญญาครบกำหนด

3. แบบชั่วระยะเวลาเป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในระยะเวลาประกันภัย วัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร การประกันชีวิตแบบนี้ไม่มีส่วนของการออมทรัพย์ เบี้ยประกันภัยจึงต่ำกว่าแบบอื่นๆ และไม่มีเงินเหลือคืนให้หากผู้เอาประกันภัยอยู่จนครบกำหนดสัญญา

4. แบบเงินได้ประจำ เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่ากันอย่างสม่ำเสมอให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกเดือน นับแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ หรือมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปีเป็นต้นไป แล้วแต่เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนดไว้ สำหรับระยะเวลาการจ่ายเงินได้ประจำนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เอาประกันชีวิตที่จะเลือกซื้อ

ทั้งนี้ รูปแบบของกรมธรรม์จะมีหลายรูปแบบและตั้งชื่อเป็นนามเฉพาะของแต่ละบริษัท ทุกรูปแบบพร้อมอัตราเบี้ยประกันภัยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนประกันชีวิต (อธิบดีกรมการประกันภัย) ก่อนจะนำเสนอขายแก่ประชาชน แต่โดยหลักวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นกรมธรรม์รูปแบบใดหรือชื่ออะไรก็ตาม จะอยู่ภายใต้แบบของการประกันชีวิตรวม 4 แบบ คือ

1. แบบชั่วระยะเวลา ให้ความคุ้มครองในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ โดยบริษัทจะจ่ายเงินตามจำนวนเงินเอาประกันภัยให้ผู้รับประโยชน์ ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้นั้น

2. แบบตลอดชีพ บริษัทจะจ่ายเงินตามจำนวนเงินเอาประกันภัยให้ผู้รับประโยชน์ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ไม่ว่าจะเสียชีวิตเมื่อใดก็ตาม

ทั้งแบบ 1 และแบบ 2 เป็นการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตแล้วเท่านั้น

3. แบบสะสมทรัพย์ บริษัทจะจ่ายเงินตามจำนวนที่เอาประกันภัยไว้ให้แก่ผู้รับประโยชน์ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ หรือจ่ายเงินเอาประกันชีวิตให้แก่ผู้เอาประกันภัยในกรณีที่มีชีวิตอยู่รอดพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้

4. แบบเงินได้ประจำ บริษัทจะจ่ายเงินได้ประจำ หรือเงินบำนาญให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยเริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติเนื่องจากความชรา ไปจนถึงวันที่กำหนดไว้ (อาจเป็นชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรือตลอดอายุก็ได้)

แบบ 3 ส่วนท้าย และแบบ 4 เป็นการจ่ายเงินโดยมีเงื่อนไขว่าผู้เอาประกันภัยต้องมีชีวิตรอดอยู่จนพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้

สำหรับเทคนิคการทำประกันชีวิตให้คุ้มค่าและให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการทำประกันชีวิตได้แก่

1.ทำความเข้าใจ เรียนรู้ และศึกษาประกันชีวิตมีหลากหลายประเภท และหลากหลายความคุ้มครอง ผู้ที่ต้องการทำประกันควรศึกษาข้อมูลให้ดี โดยเฉพาะเรื่องของผลประโยชน์และเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย นอกจากนี้เราไม่ควรมองข้ามเรื่องการเปรียบเทียบกรมธรรม์ประเภทเดียวกันแต่คนละบริษัท แน่นอนว่ากรมธรรม์เหมือนกันแต่อาจจะแตกต่างกันในเรื่องของค่าใช้จ่าย

2ไม่ควรมองข้ามการตรวจสุขภาพการทำประกันชีวิตโดยเฉพาะประกันสุขภาพนั้น การตรวจสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะโรคบางชนิดนั้นจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกัน และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการเคลมประกันในอนาคต

3.ซื้อประกันให้ครอบคลุมหนี้ที่มีการทำประกันชีวิตที่ดีควรที่จะรู้ความเสี่ยงและภาระที่เรามีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาระในการผ่อนรถ ผ่อนบ้าน หรือค่าเล่าเรียนบุตร รวมถึงการประเมินสวัสดิการที่เราได้รับ และเมื่อคำนวณทั้งหมดแล้วก็จะได้ตัวเลขหรือจำนวนเงินที่ควรจะมีหากเราเกิดเสียชีวิตขึ้นมา ซึ่งการทำประกันก็ควรจะครอบคลุมหนี้ที่เรามีเพื่อไม่เป็นภาระให้แก่คนที่อยู่ข้างหลัง

4. รายได้เพิ่มควรเพิ่มทุนประกันแน่นอนว่าหากรายได้เพิ่มเราก็ควรที่จะเพิ่มทุนประกัน ซึ่งในทุนประกันที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่พอในอนาคต

5. จ่ายเบี้ยพอดี ไม่เป็นภาระอย่าลืมว่าการทำประกันส่วนใหญ่เป็นภาระระยะยาว การจ่ายเงินที่ยาวๆ นั้นอาจจะมีความเสี่ยงที่เราไม่อาจรับรู้ได้ในอนาคต ซึ่ง ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน หรือ TSI แนะนำว่า เบี้ยประกันชีวิตต่อปีไม่ควรเกิน 10% ของรายได้ต่อปี

ขอบคุณข้อมูลจาก คปภ.
และ TSI


กำลังโหลดความคิดเห็น