xs
xsm
sm
md
lg

ส่องเศรษฐกิจ 3 ประเทศสุดฮิต เทรนด์ (เกือบ) ใหม่ที่ บลจ.ไปลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เทรนด์การลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศมีมาตั้งแต่ปลายปี 2556 หลังจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดจากปัจจัยที่ตลาดพัฒนาแล้วเริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับข่าวร้ายๆ ที่ค่อยๆ หายไปจากตลาด ขณะเดียวกัน สิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลยคือ นโยบายที่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ และทยอยเห็นผลกันในปีนี้

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้จะพบว่า ประเทศกำลังพัฒนาเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก หลังประเทศพัฒนาแล้วประสบปัญหาเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจที่ลากยาวมาเรื่อยๆ แต่ต่อจากนี้ไปประเทศพัฒนาแล้วจะเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกแทน

ด้วยปัจจัยเหล่านี้เอง บรรดาผู้เชี่ยวชาญการลงทุนส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้ลดพอร์ตหุ้นไทย หรือแบ่งเงินไปลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดีในการทยอยเก็บหุ้นดีราคาไม่แพง เพื่อรอรับโอกาสในการทำกำไรในอนาคต และแน่นอนที่สุดคือการลงทุนในหุ้นแบบนี้จะใจร้อนลงทุนในระยะสั้นๆไม่ได้ ถ้าจะให้ผลดีก็ควรจะลงทุนตั้งแต่ระยะกลางถึงยาวจะดีที่สุด

สำหรับประเทศที่เหล่าบรรดา บลจ.ตบเท้าส่งกองทุนทั้งกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ และกองทุนเปิดทั่วไป ลุยข้ามน้ำข้ามทะเลไปลงทุนมากที่สุดในช่วงนี้ คือ

1. ญี่ปุ่น เรียกได้ว่า ธนู 3 ดอกของนายกฯ ชินโสะ อาเบะ นั้นก็คือการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายคล้ายกับนโยบาย QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ควบคู่กับนโยบายการคลังที่กระตุ้นการลงทุนของภาครัฐและการสร้างยุทธศาสตร์ของประเทศใหม่  โดยการลงทุนภาคเอกชน การจ้างงานและพัฒนาบุคลากร ตลอดจนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และไอที มีผลทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงช่วยกระตุ้นการส่งออก รวมถึงการดำเนินนโยบายเพิ่มกำไรให้แก่บริษัทจดทะเบียนนั้นเอง ขณะเดียวกันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นด้วย

สำหรับประเด็นเรื่องการอ่อนค่าของเงินแข็งค่านั้น ทาง บลจ.ทิสโก้ ได้ให้คำตอบไว้ดังนี้ ประเด็นดังกล่าวน่าจะมีทิศทางผ่อนคลายลงตามลำดับ โดยคาดว่าค่าเงินเยนจะกลับมาอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วงต่อจากนี้ เนื่องจาก 1) การประกาศชะลอ QE ของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้ 2) ยอดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ที่ลดลง เนื่องจากการผลิต Shale Gas และ Shale Oil ทำให้สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากนอกประเทศลดลง 3) คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะมีการใช้นโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 2 เพื่อบรรเทาผลกระทบของการขึ้นภาษีการบริโภค (Consumption Tax) ในญี่ปุ่นนั้นเอง

2. ยุโรป แม้ว่าในช่วง1-2 ปีที่ผ่านมาจะได้ยินแต่ข่าวร้ายๆ ของกลุ่มประเทศ PIGS ได้แก่ โปรตุเกส อิตาลี กรีซ สเปน มาตลอด แต่ประเทศเหล่านี้ก็สามารถแก้ปัญหาและมีท่าที่ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจพอสมควร โดยภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปนั้นปี 2557 ถือว่าเป็นปีหลุดพ้นจากเศรษฐกิจที่ถอดถอย โดยเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในภาคอุตสหกรรมผลิต ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินและยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถเติบโตได้

โดย บลจ.วรรณมองว่า นโยบายของธนาคารกลางยุโรปในเรื่องของข้อจำกัดด้านการตรวจสอบคุณภาพสินทรัพย์ (Asset Quality Review : AQR) ที่กำลังจะมาถึง จะเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการทดสอบความแข็งแกร่งของภาคธนาคารพาณิชย์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าหากธนาคารพาณิชย์ต่างผ่านการทดสอบ จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมากขึ้น สำหรับปัญหาภาวะเศรษฐกิจยูโรโซนที่ยังเผชิญกับความเสี่ยงของภาวะเงินฝืด ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนั้น ทำให้เรามองเห็นโอกาสของการเข้าซื้อสินทรัพย์ (Asset Purchase Program) ในระยะต่อไป

3 .อเมริกา ในส่วนของพี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯ นั้น บลจ.ธนชาตมองว่า จากการสำรวจนักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กมีการปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปี 2014 ขึ้นเป็น 2.8% ซึ่งสอดคล้องกับหน่วยงานระดับชาติอย่าง World Bank หรือ IMF ที่ปรับคาดการณ์เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยภาคส่วนที่ช่วยสร้างความแข็งแรงให้แก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ คือ การจ้างงาน โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 182,000 ตำแหน่งในปี 2013 เป็นส่วนช่วยให้อัตราการว่างงานลดลงมา ขณะที่อีกภาคส่วนหนึ่ง คือ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ผู้บริโภคมีกำลังซื้อจะสนับสนุนวัฏจักรขาขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยผลักดันการเติบโตของสหรัฐฯ ต่อไป สำหรับการประกาศลดมาตรการอัดฉีดทางการเงิน (QE) เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED มั่นใจกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่นกัน ดังนั้น ความไม่แน่นอนจากปัจจัยการลด QE ที่จะกระทบตลาดหุ้นให้ปรับตัวลงรุนแรงจึงไม่น่าเกิดเหมือนอย่างที่ผ่านมา

เทรนด์เกาหลีใต้กำลังมา โดย บลจ.บลจ.ซีไอเอ็มบีซี-พรินซิเพิล  มองว่า ประเทศเกาหลีใต้นั้นถือว่าได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก โดยเกาหลีใต้มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 50% ของจีดีพี โดยมีสินค้าเทคโนโลยีเป็นสินค้าหลัก นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดการเงินมีภูมิคุ้มกันจากความผันผวนของกระแสเงินจากการถอน QE ของสหรัฐฯ โดยตลาดหุ้นของเกาหลีใต้ทำการซื้อขายในระดับที่น่าสนใจ ซึ่งมีค่า P/E ของตลาดเพียง 8-9 เท่า ขณะที่บริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรสูงถึงประมาณ 20%

จัดพอร์ตอย่างไรดี 

เจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบีซี-พรินซิเพิล แนะนำว่า กลยุทธ์การลงทุนในปีนี้นั้นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง-ปานกลาง ให้เน้นกระจายการลงทุนให้สอดตล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกระจายการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรป ส่วนหุ้นไทยแนะนำทยอยลงทุนเมื่อมีการปรับฐานหรือปรับตัวลดลงโดยหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวในลักษณะ sideway ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นไทยจะอยู่ที่ประมาณ 10-15% ถือว่าไม่มากนักหากเทียบกับความผันผวนที่มีค่อนข้างมาก โดยกลยุทธ์ที่เหมาะสมคือ ลงซื้อ ขึ้นขาย หาก P/E Ratio ของตลาดลงมาที่ 10-11 เท่าก็น่าจะเป็นจังหวะในการทยอยซื้อ แต่หากปรับเพิ่มขึ้นเกิน 12-13 เท่าก็ควรขายทำกำไรบางส่วน

ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง-ต่ำ แนะนำให้แบ่งเงินลงทุนบางส่วนในกองทุนประเภทบาลานซ์ฟันด์ ซึ่งมีกลยุทธ์ซื้อถูก-ขายแพง เหมาะสมกับตลาดหุ้นที่มีแนวโน้มผันผวน โดยกองบาลานซ์ฟันด์ ยังมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้อายุปานกลางซึ่งจะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่มีทิศทางทรงตัวหรือปรับตัวลดลง และควรเน้นลงทุนในกองทุนตลาดเงินด้วยเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น