xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : ลองก่อนก็ได้ ว่าไหวไหม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รูปประกอบจากอินเตอร์เน็ต
คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดย วินัย หิรัณย์ภิญโญภาศ
รองกรรมการผู้จัดการ
กลุ่มปฏิบัติการกองทุน

ใช่ครับ ในบั้นปลายชีวิตทุกคนก็อยากอยู่อย่างมีความสุขในวัยเกษียณ ซึ่งความสุขของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป แล้วคุณๆ ได้เตรียมการหรือวางแผนบ้างหรือยังครับ
    
เรื่องนี้ บางคนซึ่งเป็นส่วนน้อยนิดเขาคิดและวางแผนมาตั้งแต่เริ่มต้นทำงานใหม่ๆ แล้ว บางคนก็เพิ่งเริ่มคิดหรือวางแผนตอนใกล้ๆ จะเกษียณ แต่ผมเชื่อว่าน้อยคนที่มีการวางแผนแล้วจะเคยทดลองใช้ชีวิตตามแผนที่วางไว้ เพื่อดูว่าจะเป็นอย่างที่เราคิดบ้างหรือไม่  
    
ที่มาของเรื่อง “ลองก่อนก็ได้ ว่าไหวไหม“ อันนี้ มาจากบทความเรื่อง “Test Drive Your Retirement“ ที่ CEO มอบหมายให้ผมอ่านแนวคิดแล้วเขียนขึ้นมาใหม่
    
ผมอ่านไปแล้วก็คิดว่ามันเหมือนเรามีแผนซื้อรถใหม่ แล้วไปที่ศูนย์ขายรถยนต์เพื่อลองขับ เพื่อให้ได้ยี่ห้อหรือรุ่นที่เราชอบ ที่พอใจที่สุด ตามงบประมาณครับ
    
ในการเกษียณ เราต้องเริ่มด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเกษียณ เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย (ทั้งค่าเช่า ค่าผ่อนบ้าน และค่าซ่อมแซม) ค่าใช้จ่ายส่วนกลางในกรณีอยู่คอนโดฯ ค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต) ค่าสมาชิกต่างๆ ค่าอาหาร เสื้อผ้า และกิจวัตรประจำวัน ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับความบันเทิง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะ ฯลฯ  บางท่านอาจจะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็ว่ากันไปนะครับ
    
เมื่อเราพอรู้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ของกิจกรรมที่เรากำหนดไว้ว่าเราจะทำหลังเกษียณแล้ว เราก็มาพิจารณาต่อไปว่า
    
- เรามีรายได้แต่ละเดือน หรือเงินออมเพียงพอที่จะใช้หรือไม่  และจะพอไปอีกนานเท่าไหร่
    
- ถ้าหากมีรายได้หรือเงินออมไม่พอ วันนี้เราจะต้องทำอย่างไร
    
หาเงิน หรือเก็บออมให้มากขึ้นตั้งแต่วันนี้ หรือลดค่าใช้จ่าย หรือตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นทิ้งไปบ้าง?

เมื่อตัดสินใจได้แล้วก็ลองปฏิบัติดูตั้งแต่ยังไม่เกษียณจริงก็ได้ครับ ซึ่งอาจจะลำบากสักนิด ความรู้สึกอาจจะไม่ได้บ้าง เพราะเรายังไม่ได้เกษียณจริงๆ หรือระยะเวลาในการลองอาจจะไม่ได้บ้างเพราะลองทำแค่ 7-10 วันอาจยังไม่รู้จริงๆ ว่าถ้าต้องทำอีก 20-30 ปีแล้วจะไหวไหม

สำหรับตัวผมเองขอยอมรับว่าเพิ่งเริ่มคิดเรื่องเกี่ยวกับเกษียณเมื่อไม่นานนี้เอง แล้วก็คิดแบบง่ายๆ คือผมคิดว่าผมจะใช้เงินตอนเกษียณเดือนละเท่าไร  ณ วันนี้ผมก็จะเก็บเงินเท่านั้น  โดยจำนวนเงินที่เก็บดังกล่าวได้บวกอัตราเงินเฟ้อเข้าไปแล้ว อย่าอึงไปครับ ผมว่าผมเท่กว่าใครแล้วครับที่วางแผนล่วงหน้าไว้
    
แต่พอได้รับมอบหมายให้มาเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้ผมต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่ในหลายๆ เรื่อง อย่างเช่น เรื่องบ้าน ในบทความหรือหลักการที่น่าจะเป็นคือ เมื่อเราเกษียณ เราน่าจะมีแนวคิดว่าควรจะย้ายไปอยู่ในบ้านที่มีขนาดพื้นที่ใช้สอยที่พอเพียง ปัจจุบันผมอยู่ทาวน์เฮาส์พื้นที่ 24 ตารางวาในกรุงเทพฯ เมื่อเกษียณก็มีแผนจะไปอยู่บ้านต่างจังหวัดที่มีพื้นที่มากกว่าเดิม 7-8 เท่าตัว ผมเลยต้องกลับมาทบทวนเรื่องค่าใช้จ่ายใหม่อีกครั้ง นอกจากนี้แรงงานก็จะหายาก แล้วผมจะทำความสะอาดบ้านขนาดนั้นไหวไหม?
    
เรื่องกิจวัตรประจำวันหลังเกษียณ สำหรับคนเมืองแล้วก็คงหนีไม่พ้นต้องไปฟิตเนส เล่นกีฬา สมาคม สังสรรค์กับเพื่อนฝูง หรือบางคนอาจจะยังมีงานพิเศษ สอนหนังสือหรือเป็นที่ปรึกษา เป็นกรรมการบริษัทหรือองค์กรต่างๆ
    
แต่สำหรับผมเกษียณแล้วก็กลับไปอยู่บ้านนอกครับ ก็มีฟิตเนส เล่นกีฬา สมาคม สังคม สังสรรค์เหมือนกัน แต่ทำด้วยการปลูกต้นไม้ พืชผักสวนครัว ปั่นจักรยาน  ไปหาเพื่อนๆ ก็คงนั่งรถโดยสารประจำทางไปหาละครับ นี่ก็นับเป็นการเดินทางท่องเที่ยวแบบหนึ่งแล้ว เพราะถึงตอนนั้นชีวิตไม่ต้องมีอะไรที่ต้องดีที่สุด เร็วที่สุด และถูกต้องที่สุดอีกต่อไปแล้ว แต่ถ้ามีโอกาสช่วยเหลือสังคม ผมก็จะทำให้ดีที่สุดเลย
    
สำหรับค่ารักษาพยาบาลตอนผมเกษียณนั้น งบประมาณในส่วนนี้ผมประมาณไว้ไม่มากครับ เพราะคงเน้นเข้าโรงพยาบาลของรัฐบาล ค่าใช้จ่ายก็คงไม่แพงเพราะตอนนั้นไม่ต้องรีบ ไม่ต้องดีที่สุด โดยปัจจุบันผมเห็นความแตกต่างของโรงพยาบาลรัฐบาลกับเอกชนที่ความรวดเร็วของบริการอย่างหนึ่ง และอาจจะมีเรื่องคุณภาพของยา ที่เอกชนอาจใช้ยาดี ยาจากต่างประเทศราคาแพง ทำให้หายเร็ว จะได้ให้คนป่วยรีบกลับไปทำงานหาเงินเพื่อเอามาจ่ายค่ารักษาพยาบาลอีก 555555
    
เกี่ยวกับเรื่องความบันเทิง ปกติผมชอบดูทีวี อ่านหนังสือ  ต้นทุนเรื่องนี้จึงต่ำครับ คงเพราะเป็นคนต่างจังหวัด บ้านไม่ได้ร่ำรวยหรือมีชื่อเสียง นามสกุลไม่เด่นดังในสังคม ตอนเข้ามาเรียนต่อใน กทม.ก็เช่าแฟลตอยู่รวมกับเพื่อนๆ หลายคน (คนจนๆ ทั้งนั้น แต่แม้จะจนเงินก็ไม่จนน้ำใจนะครับ)
    
ดังนั้น เมื่อผมเกษียณผมคิดว่าจะใช้วิธีนี้ในการหาความบันเทิงในแบบประหยัดต่อไปได้
    
เขียนไปเขียนมานี่มันเรื่อง “ความอยาก” ล้วนๆ เลยนะครับ คือถ้าคนเรา อยากได้ อยากมี อยากเป็น ก็เหนื่อยหน่อยครับ มันเป็นต้นทุนทั้งนั้น  
    
อยากเป็นคนรวย เพราะตอนเกษียณจะได้อยู่อย่างสบาย
    
อยากเป็นคนเด่นคนดังคนสำคัญไปไหนมาไหนมีคนยกมือไหว้ จะทำอะไรก็ได้สิทธิพิเศษไปหมด
    
อยากให้มีคนมานับหน้าถือตา มาขอพึ่งใบบุญ จะได้ไม่เหงาตอนเกษียณอยู่บ้าน
    
ก็แล้วแต่ท่านจะรักจะชอบแบบไหนครับ
    
แต่ไม่ว่าอยากมีชีวิตแบบไหน วิธีการที่จะไปถึงเป้าหมายก็ขอให้ใช้ขั้นตอน วิธีการที่ดี และเหมาะสม ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เอาเปรียบหรือหลอกลวงใคร ก็เกษียณสุขกันได้ละครับ
    

บทความ “ลองก่อนก็ได้ ว่าไหวไหม” เป็นบทความหนึ่งในหนังสือ “B-Senior ชีวิตดีๆ ยามเกษียณ” ที่กองทุนบัวหลวงจัดทำขึ้นเพื่อให้มุมมองต่างๆ เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณและการใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีความสุข ท่านสามารถติดตามอ่านเรื่องราวดีๆ สำหรับวัยเกษียณได้ที่ “มุมเกษียณสุข” บนเว็บไซต์ บลจ.บัวหลวง http://www.bblam.co.th/web2/b-senior.php )


กำลังโหลดความคิดเห็น