มอร์นิ่งสตาร์เผยธุรกิจกองทุนปี 56 โต 17.67% ดันสินทรัพย์รวมทะลุ 3 ล้านล้านบาท ระบุกองทุนหุ้นโตสุดกวาดเงินเข้าถึง 1.4 แสนล้านบาท รองลงมาคือกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1.2 แสนล้านบาท ส่วนผลงานสวนทางสุด หลังกองทุนหุ้นแผ่วปลายผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ
รายงานจากบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมกองทุนในปีที่ผ่านมามีการเติบโตเพิ่มขึ้น 17.67% ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิทะลุ 3 ล้านล้านบาท
สินทรัพย์ที่โตได้โดดเด่นที่สุดและเป็นที่พูดถึงมากที่สุดได้แก่กองทุนหุ้นที่สามารถนำเม็ดเงินใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรมได้มากถึงกว่า 140,000 ล้ามบาท (กองทุนหุ้นทั่วไป 50,000 ล้านบาท กองทุน Trigger fund 55,000 ล้านบาท LTF 21,700 ล้านบาท และ RMF-Equity 12,000 ล้านบาท)
รองลงมาคือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ได้ทำการเปิดตัวไปในปีนี้ โดยสามารถทำยอดเงินลงทุนได้สูงถึงกว่า 120,000 ล้านบาท รวมถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือ Property Fund ที่นับว่าเป็นปีสุดท้ายที่จะสามารถขอยื่นเรื่องเพื่อจดทะเบียนเปิดกองทุนได้แล้ว จึงทำให้ในปีที่ผ่านมาต้องถือว่าคึกคัก มีกองทุนใหม่เกิดขึ้น 7 กองทุน รวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกว่า 90,000 ล้านบาท
ส่วนกองทุน LTF และ RMF เรียกได้ว่าโดดเด่นกว่าทุกปี โดยเฉพาะในส่วนของเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในกองทุนทั้ง 2 ประเภทนี้ถือว่าทำสถิติใหม่กันทั้งคู่เลยทีเดียว โดยในปีที่ผ่านมา LTF มีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 21,700 ล้านบาท ขณะที่ RMF ก็ไม่น้อยหน้ามีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 18,000 ล้านบาท โดยพฤติกรรมการลงทุนในกองทุนทั้ง 2 ประเภทนี้ก็เริ่มเปลี่ยนไปเช่นกัน โดยเริ่มมีการจับจังหวะทยอยลงทุนระหว่างปีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังคงนิยมลงทุนกันในช่วงท้ายของปี ในส่วนของ RMF เราเริ่มเห็นการเติบโตที่ชัดเจนของการลงทุน RMF ที่เน้นลงทุนในหุ้น ซึ่งทำให้ตอนนี้สัดส่วนของ RMF ที่ลงทุนในตราสารหนี้และหุ้นแทบไม่ต่างกันแล้ว
ส่วนกองทุนประเภท Trigger Fund ที่ออกกันมาเป็นสถิติใหม่กันเลยทีเดียวกว่า 90 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกว่า 63,000 ล้านบาท โดยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ Trigger Fund ที่ลงทุนในหุ้นไทยกว่า 80% แต่ต้องยอมรับว่ากองทุนส่วนใหญ่กว่า 70% นั้นไม่สามารถทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายทำให้ขาดทุนกันมากมาย (ติดลบเฉลี่ย 10-15%) ขณะที่เหลืออีก 30% คือกองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย (ประมาณ 8-10%) ส่วนใหญ่จะเปิดตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปีและปิดได้ภายในครึ่งปีแรกของปี
ส่วนผลงานของกองทุนประเภทต่างๆ พบว่าปีนี้ต้องบอกว่าไม่เพียงแต่นักลงทุนหน้าใหม่และรายย่อยเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากและขาดทุน นักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ความสามารถ อย่างกองทุนรวมก็มีปีที่ยากลำบากไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกองทุนหุ้นที่ลงทุนในประเทศไทยเราที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) และกลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity General) โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ -3.12% และ -4.36% ตามลำดับ ทั้งที่ปิดไตรมาสแรกยังทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงที่สุดถึง 16.88% และ 17.29% ตามลำดับ
ส่วนกองทุนที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดต้องยกให้กลุ่มที่ลงทุนในหุ้นทั่วโลกที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงถึง 24.93% และสามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้เป็นบวกตลอดทั้งปี ซึ่งก็สอดคล้องกับผลตอบแทนของดัชนีในกลุ่มดังกล่าว
ตามมาด้วยอันดับที่ 2 คือ กลุ่มกองทุนน้ำมันที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ 12.02% ที่เรียกได้ว่ากว่าครึ่งหนึ่งมาจากกำไรจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาก ส่วนกลุ่มตราสารหนี้ต้องบอกว่ากลุ่มตราสารหนี้ที่ลงทุนภายในประเทศสามารถทำผลตอบแทนได้ดีกว่าที่ลงทุนต่างประเทศ ปิดท้ายที่แย่ที่สุดคงหนีไม่พ้นกองทุนทองคำที่ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบถึง -24.58% ที่เรียกได้ว่าอยู่ในช่วงขาลงอย่างเต็มตัว