โตเกียวมารีนประกันภัยคาดปีหน้าเบี้ยโต 8% จากฐานเดิม 7.2 พันล้านบาท พร้อมลั่นเคลียร์เงินกู้อีก 1.3 หมื่นล้านบาท ระบุการจ่ายสินไหมน้ำท่วมใกล้แล้วเสร็จเหลืออีกแค่ 4% จากยอด 8 หมื่นล้านบาท มั่นใจทุนสำรองเพียงพอหาก คปภ.ใช้มาตรฐานใหม่ปีหน้า
นายกรกฤต คำเรืองฤทธิ์ กรรมการบริหาร บริษัท โตเกียวมารีนประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2557 คาดว่าน่าจะเติบโตประมาณ 8% จากฐานเบี้ยสิ้นปีนี้ที่คาดว่าน่าจะได้ประมาณ 7.2 พันล้านบาท ซึ่งในปีหน้าจะให้น้ำหนักกับประกันรถยนต์และประกันที่ไม่ใช่รถยนต์หรือนอนมอเตอร์ในสัดส่วนที่เท่ากัน ส่วนเรื่องการเพิ่มทุนนั้นยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเพิ่มหรือไม่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถ Recovery หรือการเรียกคืนสินไหมน้ำท่วมได้เต็ม 100% จากรีอินชัวเรอร์หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าบริษัทน่าจะดำเนินการคืนหนี้เงินกู้ 1.3 หมื่นล้านบาททั้งหมดให้แก่สถาบันการเเงิน ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวเป็นเงินกู้ยืมที่มาจ่ายสินไหมน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ส่วนเรื่องสินไหมน้ำท่วมนั้นได้จ่ายไปแล้วกว่า 96% จากยอดสินไหมทั้งหมดเกือบ 8 หมื่นล้านบาท ที่เหลือยังอยู่ระหว่างดำเนินการและคาดว่าจะจ่ายได้หมดในปีหน้าเช่นกัน
ตามเงื่อนไขของการกู้ยืมต้องชำระคืนเงินกู้ทุกปี ซึ่งในปีนี้ได้มีการคืนเงินต้นไปบางส่วนแล้ว สาเหตุที่กู้เงินในจำนวนดังกล่าวเพราะส่วนหนึ่งได้รับจากบริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศ หรือรีอินชัวเรอร์ มาบ้างแล้ว ทำให้ยอดเงินกู้จึงอยู่ที่ตัวเลขดังกล่าว
นายกรกฤต กล่าวอีกว่า การที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะมีการขยายการนำเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง หรือ RBC ออกไปจากเดิมที่กำหนดเอาไว้วันสุดท้ายคือ 31 มี.ค. 2557 หรือไม่นั้นคงไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากอัตราการดำรงเงินกองทุนของบริษัทอยู่ที่ 389% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ คปภ.กำหนดเอาไว้ขั้นต่ำ 140%
“ในเรื่องของเงินกองทุนของเราไม่มีปัญหา หากต้องการเพิ่มทุนจริงในอนาคตบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นก็พร้อมที่จะใส่เงินเพิ่มทุนมาให้อยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร”
ประเด็นที่กังวลคือกรณีที่รีอินชัวเรอร์ไม่จ่ายค่าสินไหมเต็ม 100% บริษัทต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มอีกหรือไม่ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ตั้งสำรองเต็ม 100% ไปเมื่อปี 2554 แล้วก็ตาม ซึ่งหากรู้ว่าเรียกคืนสินไหมจากรีอินชัวเรอร์ได้จริงเท่าไหร่ก็จะทำให้รู้ส่วนต่างว่าจะต้องได้แน่นอนว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป