คอลัมน์เจาะพอร์ตคนดัง ในสัปดาห์นี้จะไม่เกริ่้นอะไรมากมายและไม่ต้องบรรยายอะไรให้เสียเวลา เนื่องจากคนดังที่ทีมงานมีโอกาสไปพูดคุยในวันนี้ถ้าจะขอสามคำให้กับแขกรับเชิญคงต้องบอกสั้นๆ ว่า “แซบ สนุก มีสไตล์”
หลายคนที่อยู่ในแวดวงหุ้นก็อาจจะคุ้นหน้าคุ้นตากันพอสมควรสำหรับ “วุ้น (ว้าว)-ชัยวุฒิ โกวิทจินดาชัย” นอกจากจะเป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทอสังหาริมทรัพย์แล้ว อีกบทบาทของเขานั้นก็คือ ผู้ชนะในอันดับที่ 3 ของการแข่งขัน The Stock Master เมื่อปีที่ผ่านมา
วุ้น เริ่มต้นบทสนทนาว่า แรงจูงใจที่ทำให้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจริงๆ คือการมีครอบครัว สมัยก่อนมีแค่ผมกับภรรยาก็ไม่ได้กังวลอะไรมาก แต่พอเรามีลูกก็เริ่มคิดแล้วว่าด้วยเงินเก็บที่มีอยู่ หากเราเป็นอะไรไปลูกจะดูแลตัวเองอย่างไร พอเราคิดได้แบบนั้นว่าเงินเก็บที่มีฝากธนาคารเพียงอย่างเดียวคงจะไม่เพียงพอ ผมก็เริ่มที่จะนำเงินตรงนั้นมาลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มากกว่า ถ้าหากเราจะไปลงทุนทำธุรกิจหรือเป็นเจ้าของธุรกิจอะไรสักอย่าง เราก็คงต้องลองผิดลองถูกและคงใช้เวลานาน ซึ่งงานหลักเราก็ยังมีอยู่ ส่งผลให้การลงทุนในตลาดหุ้นนั้นเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
ซึ่งก่อนแข่งขัน The Stock Master พี่ชายคนโตของผมเป็นนักลงทุนแบบ VI คือถือหุ้นนาน และหลายปี อุปสรรคน้อย และเขาก็แนะนำให้แข่งขันในรายการนี้ด้วย พอจบการแข่งขัน ผมก็มองว่าในเมื่ออาจารย์คนแรกก็คือพี่ชายเขาเป็น VI เราก็เชื่อว่าเป็นแบบนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมันไม่ใช่ตัวเรา ผมมีคำถามเสมอว่าตลาดหุ้นตกทำไมเราต้องถือหุ้นตัวนี้ และผมก็ไม่ปฏิเสธถ้าเป็น VI พอคุณเห็นพื้นฐานดีมันก็ไม่จำเป็นต้องขายก็จริง เพราะโดยระยะยาวราคาสะท้อนมูลค่าของมัน และอาจสะท้อนมากกว่านั้นคือจังหวะขายของ VI แต่มันไม่เหมาะกับตัวตนของผม จากนั้นผมก็เริ่มต้นเรียนสายแบบเทคนิคัลมากขึ้น ซึ่งการเรียนของผมส่วนใหญ่จะผ่านอินเทอร์เน็ตบ้าง สัมมนาฟรีบ้าง ต้องบอกก่อนว่าการสัมมนาฟรีๆ ในบ้านเราดีและมีมาก แต่คนส่วนใหญ่ชอบมองว่าเสียเงินถึงจะดีกว่า
“ผมเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นถ้านับถึงวันนี้ก็ 2 ปีพอดี ถามว่าผมเป็นนักลงทุนแบบไหน ผมตอบได้เลยว่าผมเป็นนักลงทุนแบบ “เทคโนฟันดาเมนทอล” หลักๆ ผมหาหุ้นหรือธุรกิจจากพื้นฐานที่ดี และส่วนเทคโนก็คือเทคนิคัลหรือการมีเครื่องไม้เครื่องมือมาช่วย ซึ่งเราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์การหาเครื่องมือมาช่วยการตัดสินใจในหาจังหวะซื้อจังหวะขายนั้นไม่ยากเหมือนสมัยก่อน”
ถ้าจะให้ขยายความ เทคโนฟันดาเมนทอล วุ้นบอกว่า จะซื้อจะขายหุ้นหรือบริษัทสักตัวผมจะต้องรู้จักฟันดาเมนทอล หรือพื้นฐานที่ดี ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ ผมถึงจะลงทุน สมมติว่าผมได้มา 5 บริษัท แต่ผมมีเงินอยู่ 1 บาทไม่มีทางลงพร้อมกัน 5 ตัว อันนั้นผมถึงใช้เทคนิคัลเข้ามาช่วย คือจับจังหวะ Timing เพราะเราไม่อยากเอาเงินไปแช่นานๆ ซึ่งการใช้เทคนิคัลจะตอบโจทย์ตรงนี้มาก เบรก วิ่้ง แต่จะวิ่งไปแค่ไหนไม่มีใครรู้ว่าจะเก็งกำไรไปได้แค่ไหน แต่นักลงทุนแวลูอินเวสเตอร์ได้แน่ๆ คือมูลค่าของมันเมื่องบมันออกมา เลือกซื้อจากพื้นฐาน แต่จับจังหวะเข้าด้วยเทคนิคัล
สมมติว่าเลยเป้าหมายของ VI แล้ว โดยธรรมชาติเขาจะต้องขายเพราะมันเเพงเกินไป เข้ายังไงก็ออกแบบนั้น แต่ของผมก็คือปล่อยไปแม้จะเลยเป้าหมายการขายของ VI แต่พอสักพักหากราคาตัดเส้นสัญญาณของผมเเล้วคือทั้ง VI และแบบเทคนิคัล ผมก็จะขายเลย กลับกัน หากราคามันลงก่อนจะถึง VI โดยธรรมชาติของเขาจะไม่ขาย ผมก็ไม่ขาย แต่หากมีเส้นสัญญาณของผมที่มองไว้มันตัดกัน หรือเป็นนัยสำคัญ ผมก็จะขาย หากมองว่าผมเป็น VI กำมะลอมันก็ใช่เพราะผมบอกแล้วว่าไม่ใช่ VI หากแนวโน้มแบบนี้ผมบอกได้เลยว่าแนวโน้มมันจะลงมากกว่าขึ้น
“สรุปง่ายๆ ถ้าเราเข้าใจว่าเส้นมันขยับเพราะอะไร วอลุ่มลงเพราะอะไร หากเราตีความและเข้าใจได้ คุณก็จะรู้ว่ามันช่วยในการตัดสินใจ เช่น ถ้าหากเกินเวลูและตัดเส้นแรก สองอย่างบอกให้ขายเราก็ขายเลย ถ้าไม่เกินแวลูแล้วตัดเส้นก็ยังไม่เป็นอะไร แต่หากมันตัดกันทั้งสองเส้น มันจะตอบเราว่าคนหมู่มากยอมขาดทุน ถ้าถามว่าแล้วจะซื้อเมื่อไรก็กลับมาจุดเดิมคือมาใช้หลัก VI ถ้าสินค้ามันมี margin of safety ผมก็ซื้อ บางครั้งผมก็ซื้อเเพงด้วยนะ ซึ่งมันก็ไม่ได้ตายตัวเสมอไป แต่เราต้องเป็นนักลงทุนที่มีวินัยและมีระบบ ดีกว่าการไม่มีอะไรมายึดเหนี่ยวในการบริหารพอร์ต”
สำหรับการดูแลพอร์ตการลงทุนนั้นไม่ได้มีเพียงแค่พอร์ตลงทุนของเขาเพียงคนเดียว แต่เขายังดูแลพอร์ตการลงทุนของภรรยา และลูกสาวอีกด้วย โดยการแบ่งเวลาและสไตล์การบริหารพอร์ตทั้ง 3 นั้น “วุ้น” บอกว่า การแบ่งเวลาเรื่องงานกับการลงทุนมันใช้ร่วมกันได้ โดยพอร์ตทั้ง 3 ที่ดูแลอยู่นั้นสไตล์การลงทุนไม่เหมือนกันเลย โดยพอร์ตภรรยาของผมนั้นจะใช้แบบ VI ส่วนของลูกสาวเป็นพอร์ตเล็กอาศัยมาร์เกตเซนติเมนต์ แต่พอมาถึงจุดหนึ่งพอร์ตทั้ง 3 บริหารเหมือนกันหมด ผมถือว่าผมผ่านจุดขาขึ้นขาลงชัดเจน ปัจจุบันเป็น side way ซึ่งมันก็ยังกำไรอยู่เช่นกัน