xs
xsm
sm
md
lg

จับตาประเด็นร้อน “ตลาดหุ้นทั่วโลก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ Wealth Manager Talk
โดย ผู้จัดการกองทุน
บลจ. ทิสโก้ จำกัด

หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่นักลงทุน โดยการคงขนาดของ QE (Quantitative Easing) ในช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับสูงขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน แต่ในเดือนนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องจับตา ซึ่งถ้ามองใกล้ๆ บ้านเราอย่างญี่ปุ่น จะมีประเด็นใหญ่ที่ตลาดจับตามอง คือ การปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 5% และคาดว่าจะปรับขึ้นเป็น 8% ในเดือนเม.ย. ปีหน้า ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง ที่นายชินโสะ อาเบะ จะตัดสินใจปรับเพิ่มภาษีดังกล่าว

เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีการเขียนไว้นานแล้ว ดังนั้น ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงจะต้องมีการเขียนกฎหมายใหม่ ทำให้การเขียนกฎหมายเรื่องการปฏิรูปประเทศจะต้องเลื่อนออกไป อีกทั้งทำให้การขาดดุลงบประมาณของญี่ปุ่นจะไม่เป็นไปตามเป้า ซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นขาดดุลการคลัง 6.6% ของ GDP โดยมีเป้าหมายลดให้เหลือขาดดุล 3.3% ของ GDP ในปี 2015 และในปี 2020 งบประมาณของญี่ปุ่นจะต้องกลับมาเกินดุล ดังนั้น จากแผนการดังกล่าวคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะปรับขึ้น VAT ในปีหน้า

ส่วนประเทศใกล้ๆ กัน อย่างจีน แม้ว่าในเดือนนี้จะไม่มีประเด็นอะไรที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ แต่คาดว่าจะมีกระแสข่าวก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่ในเดือน พ.ย. ซึ่งตลาดคาดว่า นายสี จิ้นผิง จะเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจแทนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแผนดังกล่าวคาดว่าจะเป็นแผนที่รัฐบาลจะผลักดันให้เป็นผลสำเร็จในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะแผนพัฒนาชนบทให้เป็นสังคมเมือง ทำให้คนชนบท 400 ล้านคนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีอัตราดอกเบี้ย และการปฏิรูประบบการคลังของรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถมีกระแสรายได้จากภาษีอย่างต่อเนื่องแทนที่จะอาศัยเงินรายได้จากการขายที่ดินซึ่งมีความไม่แน่นอน รวมถึงปฏิรูประบบบริการสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐให้มีความคล่องตัวมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ในสหรัฐฯ เรื่องที่เด่นที่สุดในเดือนนี้ หนีไม่พ้นเรื่องของเพดานหนี้สาธารณะและการตัดลดงบประมาณรายจ่ายอัตโนมัติรอบใหม่ โดยประเด็นเรื่องการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ เป็นประเด็นที่ไม่น่าห่วงในตอนนี้ เพราะที่ผ่านมาเมื่อหนี้เข้าใกล้เพดานหนี้จะมีการอนุมัติให้ขยายเพดานหนี้ทุกครั้ง

แต่เรื่องต้องจับตาและมีผลต่อตลาดมากกว่าคือ มาตรการการตัดลดงบประมาณอัตโนมัติในรอบต่อไป ที่ผ่านมาการตัดลดงบประมาณราว 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐมีผลบังคับใช้ไปแล้วในปีนี้ ส่วนรอบใหม่คาดว่าจะตัดลด 9.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค. ปีหน้า ซึ่งถ้าวงเงินการปรับลดเป็นจำนวนดังกล่าวอาจทำให้ตลาดกลับมากังวลเกี่ยวกับปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐฯ อีกครั้ง โดยมีการประเมินว่าจะทำให้การจ้างงานปรับลดลง 1.6 ล้านตำแหน่งในปีหน้า
นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือนนี้ปัจจัยที่จะกลับมาวนเวียนอีกครั้ง คือเรื่อง QE เนื่องจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเหลืออีก 2 ครั้งในปีนี้ คือ วันที่ 29-30 ต.ค. และ 17-18 ธ.ค. โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดวงเงิน QE ไม่ครั้งใดก็ครั้งหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้ในช่วงก่อนการประชุมตลาดหุ้นทั่วโลกจะกลับมาผันผวนอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในการลด/เลิก QE นั้น คาดว่าในระยะสั้นภาพการลงทุนจะผันผวน และส่งผลให้นักลงทุนส่วนหนึ่งขายออกเพื่อรอดูความชัดเจน แต่เราเชื่อว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงที่ดีที่จะเข้าไปสะสมหุ้น เนื่องจากคาดว่าหลังจากมีความชัดเจน เรื่องของ QE จะทำให้นักลงทุนกลับมามีความมั่นใจต่อการลงทุนเพิ่มมากขึ้น และภาพของ Great Rotation จะกลับมาอีกครั้ง

เพราะเมื่อเกิดการลดขนาดของ QE หรือยกเลิก QE สิ่งที่จะเกิดขึ้นอันดับแรกคือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า Bond Yield จะปรับตัวสูงขึ้น นั่นหมายความว่า ราคาพันธบัตรจะปรับตัวลดลง และแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับสูงขึ้นแต่ก็ไม่คุ้มกับการขาดทุนจากราคาพันธบัตรที่เกิดขึ้น ดังนั้น นักลงทุนจะต้องหาแหล่งการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้มีปริมาณเงินทุนจำนวนมากไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ได้ในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น