บลจ.กรุงไทยมองกองทุนอีทีเอฟโตช้าเพราะช่องทางการซื้อ-ขายยังมีข้อจำกัด เล็งหาแนวทางแก้ไข มั่นใจการลงทุนในอีทีเอฟมีข้อดีช่วยกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน ล่าสุดส่งกองทุน ECOMM ขายไอพีโอตั้งแต่วันที่ 27-31 พ.ค. 56 ด้าน บล.เอเซียพลัสมองหุ้นกลุ่มธุรกิจพาณิชย์ยังเติบโตต่อเนื่อง คาดหุ้นไทยมีโอกาสทดสอบที่ 1,800 จุด
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน ) กล่าวว่า กองทุนอีทีเอฟในไทยยังไม่ค่อยเติบโตเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนที่ซื้อไปช่วงไอพีโอเมื่อมีกำไรก็ขายแล้วไม่ได้กลับเข้ามาซื้ออีก ตรงนี้อาจเป็นที่ช่องทางการซื้อขายด้วยเช่นกันเพราะกองทุนเปิดปกตินักลงทุนก็ยังมีการซื้อ-ขาย ในขณะที่กองทุนอีทีเอฟที่นักลงทุนซื้อผ่านธนาคารแต่กลับไม่สามารถขายผ่านธนาคารได้ถือเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่ง เชื่อว่าหากปรับเปลี่ยนบทบาทของธนาคารให้เป็นตัวกลางในการส่งคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนอีทีเอฟได้ด้วยนั้นจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของกองทุนอีทีเอฟได้เช่นกัน
นอกจากนี้ นักลงทุนสถาบันอย่าง บลจ.ต่างๆ ยังไม่ได้ใช้เครื่องมือการลงทุนที่หลากหลายมากเพียงพอทั้งในตลาดฟิวเจอร์ส รวมถึงกองทุนอีทีเอฟด้วย โดยส่วนตัวไม่อยากให้ไปมองกองทุนอีทีเอฟของ บลจ.หนึ่งเป็นโปรดักต์ของคู่แข่ง แต่อยากให้มองเป็นโปรดักต์การลงทุนแบบหนึ่งมากกว่า และสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากกองทุนอีทีเอฟได้เต็มที่ ก็จะช่วยให้กองทุนอีทีเอฟมีการเติบโตได้เช่นกัน
ทั้งนี้ บลจ.กรุงไทยถือเป็นผู้นำในตลาดกองทุนอีทีเอฟ (Exchange Trade Fund : ETF) ซึ่งปัจจุบันมี 6 กอง ลงทุนในจีน 2 กอง ทองคำ 1 กอง และเป็นอีทีเอฟกลุ่มอุตสาหกรรมในไทยอีก 3 กอง รวมมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท ล่าสุดเตรียมจะเสนอขายกองทุนเปิด KTAM SET Commerce ETF Tracker : ECOMM ระหว่างวันที่ 27-31 พ.ค. 56 นี้ โดยกอง ECOMM มีนโยบายเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีหมวดธุรกิจพาณิชย์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 9.10% ในดัชนีตลาดหุ้นไทย (ณ วันที่ 30 เม.ย. 56) ประกอบด้วยหุ้น 16 ตัว ซึ่งกองทุนจะลงทุนในหุ้นประมาณ 14-15 ตัว เพื่อให้การเคลื่อนไหวของราคาใกล้เคียงกับดัชนีหุ้นกลุ่มพาณิชย์มากที่สุด โดยในช่วงที่ผ่านมาดัชนีหุ้นกลุ่มพาณิชย์ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยมาโดยตลอดก็เชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุตนสำหรับนักลงทุนไทยเช่นกัน โดยกองทุน ECOMM มีนโยบายจ่ายปันผลไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี
นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายนนี้บริษัทจะเปิดตัวกองทุนอีทีเอฟในตระกูลซีรีส์ “E” ที่ลงทุนในดัชนีธุรกิจกลุ่มสื่อสาร (ICT) เพิ่มเติมอีก 1 กองทุนด้วยเช่นกัน เพื่อให้นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดฟิวเจอร์สในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวสามารถใช้อีทีเอฟกลุ่มอุตสาหกรรมไปใช้ในการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย
ทางด้านนายกวี มานิตสุภวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยไทย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดัชนีกลุ่มธุรกิจพาณิชย์นั้นประมาณ 80% เป็นหุ้นที่ประกอบธุรกิจโมเดิร์นเทรด อีกประมาณ 20% เป็นธุรกิจแฟรนไชส์และค้าขาย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากำไรสุทธิของหุ้นในกลุ่มนี้โดยเฉลี่ยประมาณ 30% ต่อปีต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันสัดส่วนราคาต่ำกำไรสุทธิ (P/E) ของหุ้นในกลุ่มนี้จะอยู่ประมาณ 30 เท่า แต่ก็ใกล้เคียงกันกับหุ้นในกลุ่มเดียวกันในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน และหากมองไปถึงการเติบโตของกำไรสุทธิในอนาคตที่คาดว่าในปีนี้จะโตไม่ต่ำกว่า 25% และสามารถเติบโตต่อเนื่องในระดับนี้ได้ ก็ถือว่าดัชนีหุ้นกลุ่มนี้ยังไม่แพงเมื่อมองไปในอนาคต และที่ผ่านมาดัชนีหุ้นกลุ่มพาณิชย์จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยมาตลอด ในช่วง 3 ปีย้อนหลังให้ผลตอบแทนประมาณ 400% ซึ่งมั่นใจว่าในปีนี้จะให้ผลตอบแทนได้ไม่ต่ำกว่า 20% ได้เช่นกัน
“บริษัทมองเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยในปีนี้มีโอกาสไปถึง 1,800 จุด ยังมีอัปไซด์จากระดับปัจจุบันพอสมควร และปกติดัชนีหุ้นธุรกิจพาณิชย์จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่แล้ว แม้ที่ผ่านมาในแง่ของอัตราเงินปันผลของกลุ่มธุรกิจพาณิชย์จะไม่สูงมาก 2-3% แต่ส่วนต่างมูลค่าเงินลงทุน (Capital Gain) จะสูงมาก นักลงทุนส่วนใหญ่ที่ลงทุนก็จะคาดหวังผลตอบแทนจากการเพิ่มค่าของมูลค่าเงินลงทุนมากกว่าด้วย”