xs
xsm
sm
md
lg

ผลการเลือกตั้งในอิตาลี และความกังวลต่อปัญหาหนี้ฯ รอบใหม่ในยูโรโซน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สโรกาญจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

การเลือกตั้งในประเทศอิตาลีเมื่อวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นประเด็นที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจและเฝ้าติดตาม หลังจากผลการเลือกตั้งที่ออกมานั้นยังไม่มีฝ่ายใดได้เสียงข้างมากและยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล หรือแม้กระทั่งรัฐบาลผสมได้ ความวุ่นวายทางการเมืองของอิตาลีในครั้งนี้กลายเป็นประเด็นที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อกลุ่มยูโรโซนอีกครั้ง และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปในวงกว้างถึงบรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้ และในวันนี้เราจะมาติดตามกันว่าเพราะเหตุใดสถานการณ์การเมืองของอิตาลีถึงมีผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในประเทศอื่นๆ กันค่ะ

ประเทศอิตาลีได้จัดให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป โดยแบ่งเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 630 ที่นั่ง และสมาชิกวุฒิสภาอีก 315 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งพบว่ามีพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด 3 พรรค ได้แก่ (1) พรรคสายกลางซ้าย ที่นำโดยนาย Pier Luigi Bersani ได้รับคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรประมาณ 29.6% และสมาชิกวุฒิสภาอีกประมาณ 31.6% โดยพรรคการเมืองนี้มีแนวคิดแบบสังคมนิยม และมีความเห็นว่าการตัดลดงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ที่กำลังเกิดขึ้นในอิตาลี

ส่วนพรรคการเมืองลำดับถัดมาคือ (2) พรรคสายกลางขวา นำโดยนาย Silvio Berlusconi อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัยของอิตาลีที่ได้รับคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรประมาณ 29.2% และเสียงในสมาชิกวุฒิสภาอีกประมาณ 30.7% เป็นพรรคที่มีแนวคิดมุ่งเน้นนโยบายปฏิรูป ขณะที่พรรคการเมืองลำดับสุดท้ายคือ (3) พรรคฝ่ายซ้าย นำโดยนาย Mario Monti อดีตนายกรัฐมนตรีคนก่อน ที่ได้รับคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรประมาณ 10.6% และสมาชิกวุฒิสภาอีกประมาณ 9.1% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ซึ่งพรรคการเมืองของนาย Monti เป็นพรรคที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม โดยจะใช้นโยบายตัดลดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ และพร้อมที่จะใช้นโยบายรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวด ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความวุ่นวายตามมาเนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองใดที่ได้เสียงข้างมากในทั้งสองสภา

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่านาย Berlusconi อาจจะเจรจากับนาย Bersani เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งแม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะมีแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขณะที่มีอีกหลายส่วนมองว่าอาจจะมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง หากยังไม่สามารถหาทางออกให้สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ประเทศอิตาลีเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในบรรดา 17 ประเทศของกลุ่มยูโรโซน (Euro Zone) โดยปัจจุบันอิตาลีกำลังประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนักในรอบ 20 ปี และมีตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจต่อปีไม่ถึง 1% ต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปีแล้ว นอกจากนี้แล้ว การว่างงานในอิตาลีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ปัจจุบันอัตราการว่างงานอยู่ที่ 11.2%) และอิตาลียังเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงเป็นอันดับ 2 ในบรรดา 17 ประเทศของกลุ่มยูโรโซนรองจากกรีซ ซึ่งอิตาลีจำเป็นต้องเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของตนเอง เพื่อลดจำนวนหนี้สาธารณะที่สูงถึง 127% ของจีดีพีในปัจจุบัน

และจากผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ทำให้ได้ข้อสังเกตว่าประชาชนอิตาลีส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัดเข็มขัดเพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ ทั้งๆ ที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศยังติดลบ อีกทั้งยังไม่ต้องการให้รัฐบาลตัดลดสวัสดิการต่างๆ ของประชาชน โดยจะเห็นได้จากการประท้วงที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง การไม่สามารถดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งในการที่อิตาลีจะขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่มีข้อแม้ในการช่วยเหลือว่าจะต้องมีการรัดเข็มขัดเพื่อลดระดับของหนี้สาธารณะ

ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในประเทศอิตาลีกำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศอิตาลีอย่างรุนแรง โดยจะเห็นได้จากผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีที่พุ่งสูงขึ้นทันทีกว่า 70 Basis Point (ราคาพันธบัตรปรับตัวลดลง) ตั้งแต่การเลือกตั้งจบลง นอกจากนี้แล้ว สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิทช์ เรทติ้งส์ ยังได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือด้านหนี้สาธารณะของอิตาลีลงมา 1 ระดับ จาก “A-” เป็น “BBB+” โดยให้เหตุผลว่าผลการเลือกตั้งที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจที่แท้จริงได้ เช่นเดียวกับสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ ที่ออกมาเปิดเผยว่าอิตาลีมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือด้วยเช่นกันหากยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ทั้งนี้ ในปัจจุบันความวุ่นวายทางการเมืองในอิตาลียังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็เป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิดค่ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น