xs
xsm
sm
md
lg

‘แมร์เคิล’กับการรวมเป็นสหภาพที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นของยุโรป

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Merkel right - and wrong
By Francesco Sisci
28/11/2011

เยอรมนีปฏิเสธไม่ยอมเซ็นเช็กเปล่าสั่งจ่ายเงินให้แก่ประดาชาติหุ้นส่วนในยุโรปผู้ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย อีกทั้งไม่ยอมปล่อยให้ธนาคารกลางยุโรปพิมพ์เงินยูโรออกมาอย่างเสรีเพื่อขับไสพวกเก็งกำไร ท่าทีเช่นนี้ในตัวมันเองถือว่าสมเหตุสมผลอยู่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรี อังเงลา แมร์เคิล ก็กำลังผิดพลาดโดยที่เธอมองไม่เห็นภาพใหญ่ และมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำงานเพื่อทำให้เกิดอัตลักษณ์แห่งสหภาพยุโรป เหนืออัตลักษณ์แห่งชาติเดิมๆ ขึ้นมาให้ได้

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (25 พ.ย.) ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมหารือที่มิอาจหาข้อสรุปได้ของผู้นำรัฐบาล 3 ประเทศสำคัญในยุโรป อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลยุโรปบางประเภท “ที่มีความเสี่ยงสูง” ได้พุ่งขึ้นไปอีกคำรบหนึ่ง พันธบัตรอิตาลี ซึ่งกำลังกลายเป็นชาติ “ที่ประสบความลำบาก” รายใหญ่ที่สุดในเขตยูโรโซน กระโจนผ่านระดับ 7% ที่ถือเป็นหลักหมายอันตราย ทำให้ทั่วทั้งทวีปและเป็นไปได้ว่าทั่วทั้งระบบโลกด้วยซ้ำ ต้องเข้าสู่ขอบเหวแห่งความหายนะอีกครั้ง

สถานการณ์เช่นนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันแก่เหล่านักการเมืองอิตาลี ผู้ซึ่งตกอยู่ใต้แรงบีบคั้นจากสื่อมวลชนนานาชาติในช่วงเดือนหลังๆ มานี้ ว่า ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี (Silvio Berlusconi) อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ถูกเหน็บแนมเย้ยหยันอย่างมากมายนั้น ไม่ได้เป็นสาเหตุเพียงประการเดียวของความวิบัติของทั่วทั้งทวีปหรอก อย่างน้อยที่สุด ความเรียกร้องต้องการให้ทวีปแห่งนี้มีเอกภาพและมีทิศทาง ก็จะต้องถูกประณามพอๆ กับผลงานทางการเมืองอันไร้สง่าราศีของแบร์ลุสโกนี

จุดศูนย์กลางของปัญหาในปัจจุบัน ไม่ใช่อยู่ที่วิกฤตหนี้สินของกรีซ, อิตาลี, หรือสเปน และก็ไม่ใช่สภาพการณ์ที่พวกธนาคารฝรั่งเศสเข้าไปถือครองตราสารหนี้เหล่านี้เป็นจำนวนมหาศาล หากแต่อยู่ที่ความลังเลใจของเยอรมนี ผู้ซึ่งยังคิดไม่ตกว่าควรเข้าแบกรับภาระแห่งการที่ยุโรปก้าวเข้าสู่ความเป็นเอกภาพทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างขนานใหญ่หรือไม่ โดยที่อย่างไรเสีย ภาระดังกล่าวในที่สุดแล้วก็จะทำให้เยอรมนีต้องสูญเสียอัตราการเจริญเติบโตในผลประกอบการทางเศรษฐกิจแห่งชาติของตนเองไปบ้าง (หรือกระทั่ง อาจจะต้องสูญเสียไปมากด้วยซ้ำ)

การที่แดนดอยช์แสดงท่าทีคัดค้านทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นสิ่งที่มีเหตุผล เบอร์ลินนั้นกำลังมีท่าทีไม่ยินดีที่จะปล่อยให้ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank หรือ ECB) พิมพ์เงินยูโรออกมาอย่างเสรีเพื่อขับไสพวกเก็งกำไร เนื่องจากเป็นความเคลื่อนไหวที่ในที่สุดย่อมจะก่อให้เกิดอัตราเงินเฟ้ออย่างไม่จำเป็นขึ้นในเยอรมนีเอง เบอร์ลินกระทั่งกำลังมีท่าทีไม่ปรารถนายิ่งกว่านั้นเสียอีก ที่จะลงนามในเช็กเปล่าสั่งจ่ายเงินให้แก่ประดาชาติหุ้นส่วนในยุโรป ผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือในเรื่องใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายหรือในทางไม่รักษาคำพูด เบอร์ลินต้องการให้มีหลักประกันเสียก่อนว่าประเทศในยุโรปเหล่านี้จะยอมรับปฏิบัติตามวินัยการคลัง และด้วยเหตุนี้เอง จึงอาจจะต้องมีหน่วยงานประเภทกระทรวงการคลังกลางขึ้นมาในสหภาพยุโรป โดยที่อยู่ใต้การกำกับตรวจสอบอย่างเข้มงวดของฝ่ายเยอรมัน

เจตนารมณ์ต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างหลังสุดนั้นควรที่จะต้องรีบเร่งดำเนินการโดยเร็ว ทว่าในขณะที่ต้องรับมือกับตลาดที่แกว่งตัววูบวาบเหลือเกิน โดยที่ชาติยูโรโซนซึ่งมีปัญหาทั้งหลาย ยังจะต้องนำพันธบัตรรัฐบาลของพวกตนออกมาจำหน่ายคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านยูโรภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนจากนี้ไป เวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

เมื่อพิจารณาด้วยแง่มุมเช่นนี้ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเงลา แมร์เคิล (Angela Merkel) อาจจะกำลังผิดพลาดโดยที่มองไม่เห็นภาพใหญ่ เยอรมนีดูเหมือนกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากที่จะต้องรอมชอมประสมประสานผลประโยชน์ของแดนดอยช์เองและผลประโยชน์ของยุโรปโดยองค์รวม ต้องชั่งใจระหว่างพลังขับดันระยะสั้นและพลังขับดันระยะยาว กล่าวคือ ระหว่างการเข้ารับมือกับแรงกดดันของตลาดต่อพันธบัตรรัฐบาลในยุโรปที่กำลังทวีขึ้นเรื่อยๆ และการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอันซับซ้อนเพื่อทำให้ทวีปนี้มีวินัยการคลังกันอย่างมากมายมหาศาลกว่านี้ มันไม่ใช่แค่เป็นความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์แห่งชาติกับผลประโยชน์ของทั่วทั้งทวีปเท่านั้น แต่มันยังเป็นประเด็นที่ใหญ่โตกว่านั้น เป็นประเด็นว่าด้วยอัตลักษณ์และทิศทางก้าวเดินในอนาคตอีกด้วย

คำถามก็คือ เยอรมนีต้องการหรือไม่ที่จะหลอมรวมเข้าไปในยุโรป แบบเดียวกับที่รัฐปรัสเซียตัดสินใจที่จะหลอมรวมเข้าไปในเยอรมนี? หรือว่าเยอรมนียังคงต้องการรักษาอัตลักษณ์แห่งความเป็นเยอรมัน-ปรัสเซียเอาไว้? อันที่จริงในกระบวนการหลอมรวมปรัสเซีย ก็ไม่ได้รวมเอาเยอรมนีเข้ามาไว้ทั้งหมด ออสเตรีย ซึ่งถือเป็นป้อมปราการแห่งอัตลักษณ์ของเยอรมันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีทีเดียว ได้ถูกทอดทิ้งให้อยู่นอกวง ในทำนองเดียวกัน การก้าวไปสู่ยุโรปที่เป็นสหภาพทางการเมืองแข็งแกร่งแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ชิ้นส่วนหลายๆ ชิ้นของภาคพื้นทวีปยุโรปก็อาจจะถูกทอดทิ้งเหมือนกัน ทว่าขณะนี้คือช่วงขณะที่จะต้องตัดสินใจกันแล้วว่าจะทำอะไรต่อไป

มองกันในแง่หนึ่ง มันก็เหมือนกับเป็นตลกร้ายที่ยุโรปเวลานี้กำลังตกเป็นเหยื่อของเยอรมนีผู้มีความทะเยอทะยานเกี่ยวกับยุโรปน้อยเกินไป เฉกเช่นเดียวกับที่ในศตวรรษที่แล้ว ยุโรปได้กลายเป็นเหยื่อของเยอรมนีผู้มีความทะเยอทะยานเกี่ยวกับยุโรปมากเกินไป สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และสงครามโลกครั้งที่สอง คือเรื่องของการสกัดกั้นขัดขวางการขยายตัวออกไปทั่วโลกของเยอรมนีนั่นเอง ขณะที่สงครามโลกครั้งที่สาม หรือที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า สงครามเย็น ก็เกิดการต่อสู้กันในอาณาบริเวณของเยอมนีที่ถูกแยกส่วนออกเป็นเยอรมันตะวันออกและเยอรมันตะวันตก บริเวณตรงนี้เป็นหัวใจของความขัดแย้งคราวนั้นทีเดียว

โครงการเดินหน้าไปสู่ยุโรปที่เป็นหนึ่งเดียว เปิดฉากขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองโดยรัฐบุรุษ 3 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นคาทอลิก ล้วนแต่สามารถพูดภาษาเยอรมัน และก็ล้วนแต่เกิดในประเทศของชาวเยอรมัน ได้แก่ โรเบิร์ต ชูมาน (Robert Schuman) ชาวฝรั่งเศสผู้ถือกำเนิดเมื่อปี 1886 ในแคว้นอัลซาส (Alsace ที่ได้ตกเป็นของเยอรมนีในระหว่างปี 1871-1918), เด กัสเปรี (De Gasperi) ชาวอิตาลีผู้ถือกำเนิดเมื่อปี 1881 ในแคว้นติโรลใต้ (South Tirol ที่เป็นของออสเตรียจนกระทั่งถึงปี 1918) และ คอนราด อาเดเนาเออร์ (Konrad Adenauer) ผู้เป็นชาวเยอรมัน แนวความคิดสำคัญในเวลานั้นที่มีผู้ขบคิดกันอยู่มากก็คือ ต้องการเจือจางและควบคุมความทะเยอทะยานของชาวเยอรมันเอาไว้

ในตอนนั้นเยอรมนีมีความทะเยอทะยานดังกล่าวมากเกินไป ทว่าทุกวันนี้เป็นไปได้ว่ามีอยู่น้อยเกินไปเสียแล้ว เยอรมนีกำลังหวาดผวาที่จะต้องเข้าแบกรับภาระหนี้สินของชาติยุโรปอื่นๆ และกำลังหวาดผวาที่จะต้องไปทำงานเพื่อชดใช้บาปกรรมของคนอื่นๆ รวมทั้งเป็นไปได้ด้วยว่ากำลังหวาดผวาที่จะเข้าแบกรับหน้าที่ควบคุมยุโรปทั้งหมด กระนั้น ณ ช่วงขณะนี้แหละ ส่วนอื่นๆ ของยุโรปกำลังต้องการให้เยอรมนีเข้าทำหน้าที่เป็นผู้นำ ประเด็นจริงๆ ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับบัญชีงบดุลการเงินอย่างนั้นอย่างนี้ –มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความริเริ่มทางการเมืองต่างหาก

ในปี 1990 เมื่อตอนที่ เฮลมุท โคห์ล (Helmut Kohl) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีขณะนั้น ตัดสินใจที่จะผลักดันให้เกิดการรวมประเทศระหว่างเยอรมันตะวันตกกับตะวันออก เขาไม่ได้ใช้เวลาอะไรนักหนาเพื่อตรวจดูงบดุลบัญชีอันน่าเศร้าของเยอรมันตะวันออกหรอก เขาเคลื่อนไปข้างหน้าในทางการเมือง และปล่อยให้เศรษฐกิจเดินตามการนำของการเมือง ถ้าหากต้องการที่จะช่วยชีวิตสกุลเงินยูโร, ยุโรป, และเศรษฐกิจโลกแล้ว แมร์เคิลก็ต้องกระทำอย่างเดียวกัน นั่นคือ ตัดสินใจไปเลยว่าเธอจะก้าวกระโดดไปสู่การมีองคาพยพใหม่ทางการเมืองขึ้นในโลก ซึ่งก็คือ สหภาพยุโรปที่รวมตัวกันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกว่าเดิมมากมายมหาศาล

หากจะต้องมีการตรวจสอบงบดุลบัญชีอย่างระมัดระวัง และชั่งน้ำหนักระหว่างความเห็นของฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายค้านเสียก่อน จึงจะก้าวไปสู่สหภาพดังกล่าวนี้ได้แล้ว มันก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และเราควรที่บอกลากันตั้งแต่ตอนนี้เลย บอกลาไม่เพียงสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่ยังสกุลเงินยูโรอย่างที่เรารู้จักอีกด้วย

ดังที่ เคลาดิโอ ลันดี (Claudio Landi) คอมเมนเตเตอร์ชาวอิตาลีได้ชี้เอาไว้ เวลานี้ในตลาดการเงินกำลังปรากฏความคิดเห็นกันขึ้นมาว่า มันไม่ใช่อิตาลีและกรีซที่จะต้องถูกขับไล่ออกจากเขตยูโรโซนหรอก เนื่องจากในตอนนี้แม้กระทั่งพันธบัตรรัฐบาลฝรั่งเศสก็ยังกำลังต้องจ่ายอัตราผลตอบแทน (ยีลด์ yield) สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามรอยเส้นทางสู่วิกฤตของหลายๆ ประเทศก่อนหน้านี้ จึงอาจจะเป็นการดีกว่าที่เยอรมนีนั่นแหละที่จะต้องถูกบังคับให้กลับไปพลิกฟื้นคืนชีพสกุลเงินดอยช์มาร์กอันแสนรักของตนเองขึ้นมาใหม่ และออกไปเสียจากเขตยูโรโซน

ฝรั่งเศสอาจจะกลายเป็นเมืองหลวงของเขตยูโรโซนเมดิเตอร์เรเนียน โดยอาจจะมีอิตาลีและสเปนเข้าร่วม ขณะที่เยอรมนีอาจจะหวนกลับไปรื้อฟื้นรากเหง้าแห่งความเป็นปรัสเซียของตน ด้วยการกลายเป็นศูนย์กลางของสันนิบาตภาคเหนือ ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเป็นการจับมือกับฮอลแลนด์และพวกกลุ่มประเทศนอร์ดิก สภาพเช่นนี้เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจรื้อฟื้นการแข่งขันช่วงชิงกันระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีขึ้นมาใหม่ โดยที่การแย่งชิงกันนี้เองคือหัวใจของสงคราม 3 ครั้งในช่วงระหว่างปี 1871 ถึง 1945 นี่คือประวัติศาสตร์ที่ทั้งเยอรมนีและส่วนอื่นๆ ของยุโรปควรที่จะรู้สึกหวาดผวาอย่างแท้จริง และด้วยความหวั่นกลัวนี้เอง เยอรมนีจึงควรที่จะเสาะแสวงหาความทะเยอทะยานบางอย่างบางประการของชาวคาทอลิกเฉกเช่น อาเดเนาเออร์ และ โคห์ล

อย่างไรก็ดี ตรงนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสี่ยงอันใหญ่โตที่สุด เยอรมนีในยุคของโคห์ลได้รับความยินยอมจากพวกหุ้นส่วนยุโรปให้ทำการรวมชาติได้ โดยที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนด้วยการยกเลิกสกุลเงินดอยช์มาร์ก ที่เป็นสกุลเงินตราที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรปและแข็งแกร่งที่สุดสกุลหนึ่งของโลก และหันมาสนับสนุนสกุลเงินตราสกุลใหม่ที่ยังไม่เคยผ่านการทดสอบเลย นั่นก็คือ ยูโร ส่วนเยอรมนีในยุคของอาเดเนาเออร์ได้รับความยินยอมจากฝ่ายอเมริกันให้ดำเนินการผลักดันให้ยุโรปร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนในรูปของการให้คำมั่นสัญญาอย่างแน่วแน่มั่นคงว่าจะยืนหยัดต่อต้านภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ในเวลานั้น

แล้วประเทศอื่นๆ ในยุโรปและในโลกเวลานี้ จะได้อะไรตอบแทนจากการยินยอมให้จัดตั้งสหภาพทางการเมืองในยุโรปที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและมีเยอรมนีเป็นศูนย์กลางขึ้นมา มีความเป็นไปได้ว่าสหภาพทางการเมืองเช่นนี้จะกลายเป็นระบบเศรษฐกิจและเป็นสกุลเงินตราที่เข้มแข็งที่สุดของโลกไปโดยเกือบอัตโนมัติทีเดียว และในทางพฤตินัยแล้ว ย่อมกลายเป็นการท้าทายคุกคามดุลยภาพทางการเมืองและทางการเงินเก่าๆ เดิมๆ มากมาย

แน่นอนทีเดียวว่า ในโลกที่กำลังบังเกิดมหาอำนาจใหม่ๆ และทะเยอทะยานขึ้นมาจำนวนมาก –ตั้งแต่จีนไปจนถึงอินเดีย, บราซิล, และอินโดนีเซีย-- สหรัฐอเมริกาซึ่งขนาดเศรษฐกิจไม่น่าที่จะหวนกลับไปยิ่งใหญ่ในระดับครึ่งหนึ่งของจีดีพีของทั่วโลกได้อีกต่อไปแล้ว ย่อมสามารถที่จะพึ่งพาอาศัยการสนับสนุนของยุโรปได้ ทว่านี่เป็นเรื่องที่จะต้องมีการจัดทำเป็นโครงการและวางแผนการขึ้นมา ซึ่งจวบจนถึงเวลานี้เรายังไม่เห็นว่ามีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้

ขณะเดียวกัน ถ้าหากไม่ได้มีใครต้องการที่จะเสี่ยงให้เกิดความปั่นป่วนโกลาหลทางเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากการพังครืนของสกุลเงินยูโรแล้ว หนทางเดียวที่มีอยู่ก็น่าที่จะเป็นการมุ่งหน้าไปสู่สหภาพทางการเมือง เกี่ยวกับเรื่องนี้ นอกเหนือจากประเด็นในด้านภาวะความลังเลของสาธารณชน และการต่อรองผลประโยชน์อย่างเป็นทางการกับพวกหุ้นส่วนยุโรปอื่นๆ แมร์เคิลก็กำลังผลักดันสถานการณ์ให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายต่างๆ ในทางการเมืองของเธอได้อย่างทรงประสิทธิภาพและอย่างเหี้ยมเกรียมอยู่แล้ว

ในทางปฏิบัติเธอได้บังคับให้แบร์ลุสโกนีต้องยอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้ง มาริโอ มอนติ (Mario Monti) ผู้สามารถพูดภาษาเยอรมันได้ ให้ขึ้นเป็นทายาทต่อจากเขา ทว่าความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ได้กระทำมายังคงไม่เพียงพอที่จะทำให้อิตาลียืนอยู่บนขาของตนเองได้ เมื่อมันยังไม่เพียงพอ มาถึงตอนนี้แมร์เคิลก็จะต้องเร่งรีบเคลื่อนไหวไปสู่สหภาพทางการเมืองที่ใหญ่โตยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้ว อิตาลี --ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีแบร์ลุสโกนี-- ก็จะต้องล้มคะมำ และลากดึงเอาส่วนอื่นๆ ของยุโรปเซถลาตามไปด้วย

เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่เธออาจจะต้องการระยะเวลาเพิ่มเติมเพื่อรวบรวมความสนับสนุนในบ้านเกิดให้ใหญ่โตแน่นแฟ้นมากขึ้น แต่เธอก็จะต้องยินยอมปล่อยให้อีซีบีสามารถพิมพ์แบงก์เพื่อขับไสพวกเก็งกำไรให้ถอยห่าง เธอจะต้องขอความร่วมมือกับฝรั่งเศสและอิตาลี เพื่อสร้างระบบการคลังส่วนกลางขึ้นมา ซึ่งอาจจะอยู่ร่วมกันไปกับระบบภาษีที่ยังอยู่ในลักษณะระดับชาติและระดับท้องถิ่น และเธอจะต้องเริ่มต้นดำเนินการเพื่อให้อัตลักษณ์ของสหภาพยุโรป อยู่เหนืออัตลักษณ์แห่งชาติแบบเดิมๆ

มีแต่เช่นนี้เท่านั้นจึงจะสามารถช่วยชีวิตยุโรปและพยุงส่วนอื่นๆ ของโลกให้รอดพ้นจากความเสี่ยงที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกทีของการถลำดิ่งลงไปในวิกฤตเป็นครั้งที่สองและจมลึกยิ่งกว่าเดิม แต่ถ้าหากเธอไม่ทำแล้ว เยอรมนีก็น่าที่จะถูกประณามกันในตอนนี้ว่ามัวแต่ลังเลรีรอ เฉกเช่นเดียวกับที่เยอรมนีได้ถูกประณามในอดีตที่เร่งรีบขยายอำนาจเหนือยุโรป

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นคอลัมนิสต์เขียนให้กับ อิล โซเล 24 โอเร (Il Sole 24 Ore) หนังสือพิมพ์รายวันในอิตาลี สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมล์ได้ที่ fsisci@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น