เมื่อเร็วๆนี้คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2556 เรื่อง "ไขปริศนากองทุนรวมไทย: ความหวังและความจริง" ซึ่งทีมงานASTVผู้จัดการ ได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังสัมนาในครั้งนี้ โดยจะข้อหยิบหัวข้อสัมนาบางส่วนที่เป็นประโยชน์มานำเสนอ เริ่มกันที่ ปัญหาอุตสหกรรมกองทุนรวมของไทย ต้องยอมรับว่าเอเชียมีข้อเสียเปรียบที่ไม่รู้จักใช้กองทุนรวม เป็นเครื่องมือในการเพิ่มรายได้ ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนในเอเชียโตไม่ถึง 13% ของโลก (ข้อมููลสิ้นปี 2011) โดยปัจจุบันขนาดของกองทุนรวมไทยมีสัดส่วนเพียง 20% ของ GDP ทั้งนี้ในช่วง 15 ปี (2542-2555) ตลาดทุนไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 11.54% ต่อปีซึ่งสูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆแต่เหตุใดนักลงทุนจึงนิยมลงทุนในตราสารหนี้มากกว่าตราสารทุน เนื่องจากคนไทยไม่ชอบความเสี่ยทางการเงิน และยังขาดความรู้ในการลงทุนทางการเงิน ขณะเดียวกันการซื้อกองทุนตราสารทุนนั้นมีขั้นตอนและมีผู้ขายมีเงื่อนไขมาก ขณะที่ผลประกอบการกองทุนรวมตราสารทุนค่อนข้างผันผวน
ส่วนปริศนาต่อมาคือ กองทุนรวมเพื่อการลดหย่อนภาษีกระตุ้นการออมระยะยาวได้จริงหรือ โดยกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 5% ในปี 2551 เป็น 12% ในปี 2554 โดยกองทุน LTF ซึ่งไม่ได้ส่งเสริมการออมเพื่อนเกษียณอายุกลับมีอัตราการขยายตัวมากกว่า RMF อย่างไรก็ตามทางนิด้ามองว่ารัฐบาลควรยืดมาตรการด้านลดหย่อนภาษีใน LTF ต่อไป เนื่องจากช่วยฝึกคนไทยให้คุ้นเคยลงทุนในตราสารทุน
ในส่วนของการมีช่องทางการจำหน่ายกระจุกตัวที่ธนาคารพาณิชย์เป็นปัญหาหรือไม่นั้น ทางนิด้ามองว่า ช่องทางการจำหน่ายหน่วยลงทุนส่วนใหญ่ของเอเชียรวมถึงไทยที่ผ่านธนาคารพาณิชย์ ยกเว้นเกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ซึ่งการมีบลจ.ที่เป็นธนาคารเป็นบริษัทแม่จึงไม่ใช่ปัญหา เพราะเป็นลักษณะเฉพาะของประเทศเอเชีย ทั้งนี้การที่ธนาคารพาณิชย์เน้นจำหน่ายตราสารหนี้มากกว่าตราสารทุนนั้น ส่งผลให้ไทยเสียโอกาสได้ประโยชน์จากการเติบโตของตลาดหุ้น
สำหรับปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคที่ส่งผลต่อตลาดกองทุนรวมไทยนั้นได้แก่ 1.ระดับผลผลิต( GDP ) 2.อัตราดอกเบี้ย (เงินฝากประจำ 3 เดือน เงินกู้ MLR) 3.ราคาหลักทรัพย์ (SET 50 Index) 4.ปัจจัยอื่นๆเช่นค่าเงินบาท ราคาทองคำ 5.เหตุการณ์เฉพาะเช่นการจัดตั้งกองทุนวายุภักดิ์ (พ.ย.46)
โดยผลการวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติพบว่า กองทุนรวมตราสารทุนมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่า GDP และมีการเคลื่อนไหวตอบสนองต่อัตราผลตอบแทนทั้งของตัวเองและของกองทุนตราสารหนี้ ส่วนกองทุนผสมมีแนวโน้มการเติบโตที่ช้ามาก กองทุนอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มเติบโตช้ากว่ากองทุนตราสารทุน ส่วนกองทุนประเภทอื่นๆมีแนวโน้มการเติบโตใกล้เคียงกองทุนตราสารทุน และกองทุนรวมที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมีแนวโน้มการเติบโตต่อรายได้สูงกว่ากองทุนประเภทอื่นๆอย่างชัดเจน
"ปัจจัยหลักที่มีผลต่อแนวโน้มการเติบโตกองทุนรวมคือ 1.รายได้ 2.อัตราผลตอบแทนมีผลต่อการเติบโตของกองทุนเกือบทุกประเภทและมีผลเชิงการทดแทนกันระหว่างกองทุนตราสารทุนและตราสารหนี้ตามอัตราผลตอบแทน"
สำหรับแนวโน้มอุตสหกรรมกองทุนรวมในปีนี้ ทางนิด้า มองว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวมมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 11.2 และ 13.0 ในปี 2556 และ 2557 ขณะที่อัตราการขยายตัวมีแนวโน้มลดลงจากปี 2555 (ขยายตัวร้อยละ 16.6) เนื่องจากอัตตราดอกเบี้บมีการปรับตัวลดลงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มช้าลง และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้
ทั้งนี้กองทุน LTF-RMF มีแนวโน้มการเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าแนวโน้มเฉลี่ย 2 เท่า ส่วนกองทุนตราสารทุนที่ไม่รวม LTF มีแนวโน้มการเติบโตช้ากว่ากองทุน LTF 3-4 เท่า กองทุน FIF มีแนวโน้มการเติบโตใกล้เคียงกับการเติบโตของกองทุนรวมโดยปกติ
นิด้า มองว่า การขยายตัวของตลาดกองทุนรวมส่วนสำคัญมาจากสิทธิประโยชน์ด้านการลดภาษี (LTF-RMF) และการเปลี่ยนผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้เป็นส่วนเกินทุนที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เนื่องจากผลการประมาณค่าทางเศรษฐมิติพบว่า ขนาดของตลาดกองทุนไทยมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราผลตอบแทนค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตามมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีมีผลต่อผลตอบแทนของตลาดกองทุนรวมไทยทั้งกองทุนรวมตราสารทุนและตราสารหนี้ ดังนั้นหากรัฐบาลจะส่งเสริมการขยายตัวของตลาดกองทุนรวมโดยเฉพาะตลาดกองทุนตราสารทุน มาตการยกเว้นภาษีเงินได้ยังคงมีความจำเป็น
นอกจากนี้การขยายตัวของตลาดกองทุนรวมไทย มีการเอนเอียงไปยังตลาดตราสารหนี้โดยเฉพาะกองทุนรวมประเภท Term Fund ซึ่งลักษณะทดแทนเงินฝากประจำธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการดูแลสัดส่วนของกองทุนรวมตราสารมทุนและตราสารหนี้ให้ใกล้เคียงกัน เหมือนกันในต่างประเทศ รัฐบาลควรมีมาตรการป้องกันการนับอัตราผลตอบแทนจากกองทุนประเภท Term Fund ในรูปแบบ capital gain
หากภาครัฐต้องการส่งเสริมให้ตลาดกองทุนรวมไทยมีสัดส่วนที่สูงขึ้นใกล้เคียงกับต่างประเทศเช่น เกาหลี จากการศึกษาพบว่า ควรคงมาตรการส่งเสริมทางภาษีไปจนถึงปี 2569
ผลการดำเนินงานของกองทุนรวม เก่งหรือเฮง
โดยผู้วิจัยมองว่า ผลการดำเนินงานโดยรวมของกองทุนรวมตราสารทุนที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงปี 2552-2554 มีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ โดยอัตราผลตอบแทนและอัตราผลตอบแทนปรับความเสี่ยงของกงอทนุรวมตราสารทุนมีแนวโน้มที่มีค่าต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนของ SET
ขณะที่กองทุนรวมตราสารทุนไม่สามารถรักษาผลการดำเนินงานให้มีความสม่ำเสมอได้ในช่วงระยะเวลาที่ทำการศึกษา แต่มีแนวโน้มที่ความสม่ำเสมอจะเพิ่มขึ้นหลังจากปี 2551
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินของกองทุนรวม ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนและรอบการซื้อขายไม่มีความสัมพันธ์กับผลการดำเนินงานของกองทุนรวม ส่วนปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับผลการดำเนินงานของกองทุนรวม คือ อายุของกองทุน สัดส่วนของเงินที่ลงทุนในตราสารทุนของกองทุน ส่วนปัจจัยที่มีความสัมพันธ์เชิงลบกับผลการดำเนินงานของกองทุนรวม คือสัดส่วนของกองทุนตราสารทุนต่อกองทุนทั้งหมดในบลจ.
ในส่วนของข้อเสนอแนะสำหรับนักลงทุน คือ ควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการเลือกกองทุนที่ได้ผลตอบแทนที่ดี นอกจากนี้นักลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนและมีความสามารถในการเลือกกองทุนรวม สามารถลงทุนในกองทุนแบบ Active ได้ ขณะที่นักลงทุนมือใหม่ควรเลือกลงทุนในกองทุนแบบ Passive และในการเลือกกองทุนควรพิจารณาอายุของกองทุน สัดส่วนของเงินที่ลงทุนในตราสารทุน รวมถึงสัดส่วนของกองทุนรวมตราสารทุนในบลจ.อีกด้วย
ข้อเสนอแนะสำหรับบลจ.นั้นนิด้า ระบุว่า ควรปรับปรุงผลการดำเนินงาน ประสิทธิภาพการดำเนินงาน และความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงาน ขณะที่ผู้จัดการกองทุนไม่ควรมีกองทุนรวมที่อยู่ภายใต้การจัดการมากเกินไป และไม่ควรสร้างมูลค่าเพิ่มโดยเพิ่มรอบการซื้อขายในการลงทุน เพราะรอบการซื้อขายที่ไม่สูงไม่มีความสัมพันธ์กับผลการดำเนินงาน
ข้อเสนอแนะสำหรับอุตสหกรรมกองทุนรวม ควรมีสื่อกลางมากขึ้นในการให้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมแก่ผู้ลงทุนในด้านต่างๆที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และนักวางแผนทางการเงินที่เป็นอิสระ มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือนักลงทุนที่ไม่มีประสบการณ์