xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่น-กองทุนดัง -ย้อนรอยอดีตผู้จัดการกองทุนฉาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โศภนา เจนบวร
หากนับย้อนไปเมื่อวันที่ 21 กรกฎคม 2554 คอลัมน์นิตส์ท่านหนึ่งได้เปิดเผยถึงข้อมูลกลโกงของผู้จัดการกองทุนรายหนึ่งผ่านหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง ส่งผลให้เกิดคำถามขึ้นมากมายในแวดวงกองทุนรวม ไม่เว้นแม้แต่สื่อมวลชนสายกองทุนรวม ที่ต้องเช็ครายละเอียดพร้อมกับสืบหาความจริงว่าผู้จัดการกองทุนที่ถูกกล่าวอ้างถึงนั้นคือใคร ขณะเดียวกันในช่วงเวลานั้นมีคำถามเกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นทางเว็บไซต์ผ่านบลจ. รวมถึงเว็บบบอร์ดที่เกี่ยวกับการลงทุนถึงความโปร่งใส่ในการบริหารกองทุนและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

โดยเหตุการเกิดขึ้นหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจยึดอุปกรณ์ซื้อขายหุ้นของผู้จัดการกองทุนภายในบลจ.ไทยพาณิชย์ และต่อมารายชื่อของผู้จัดการกองทุนดังกล่าวก็เปิดเผยต่อสาธารณะนั้นก็คือ นางสาวโศภนา เจนบวร ซึ่งทำการซื้อหลักทรัพย์ดักหน้าการซื้อของกองทุนรวม และถือว่าเป็นกระทำการทุจริตต่อหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 311 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์

ซึ่งทางก.ล.ต.เองออกมาเปิดเผยว่า ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2552 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2553 ซึ่งขณะนั้น โศภนา ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ถึงเดือนมีนาคม 2554 โศภนา ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ โดยทั้งสองช่วงเวลาดังกล่าว โศภนา ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้จัดการกองทุนและกำกับดูแลกองทุนรวมส่วนตราสารทุนของทั้งสอง บลจ. ได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ โดยอาศัยประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลแผนการลงทุนของกองทุนรวมที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ. ดำเนินการให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะดักหน้าการซื้อของกองทุนรวม เพื่อแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยใช้บัญชีของบุคคล 2 ราย ซึ่งได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากพระสุเทพ อาภสฺสโร (แป้นไผ่) และนางวัจฉละ พิสิฏฐ์ศักดิ์

ย้อนรอยก.ล.ต.ลงดาบอดีตผู้บริหารและผู้จัดการกองทุน

14 กุมภาพันธ์ 2549 ก.ล.ต. ได้ดำเนินการกับอดีตผู้จัดการกองทุนรวมและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กรณีที่มีการลงทุนให้กับกองทุนรวมอย่างไม่เหมาะสม ประกอบด้วย

1.นายสุชาติ เตชะโพธิ์ไทร อดีตรองกรรมการผู้จัดการ ประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุน และผู้จัดการกองทุนรวม ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนอยุธยาเจเอฟ จำกัด (AJF) ที่ขาดความระมัดระวังและรอบคอบในการตัดสินใจลงทุนในตั๋วแลกเงินของบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI ซึ่งเป็นผลให้นายสุชาติจะถูก ก.ล.ต. ปฏิเสธการให้ความเห็นชอบเป็นบุคลากรในตลาดทุนเป็นเวลา 6 เดือน

2.บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม AJF ที่มีความบกพร่องในระบบการปฏิบัติงาน ซึ่งคณะกรรมการเปรียบเทียบมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับเป็นจำนวนเงิน 323,437.50 บาท จากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 28-29 กรกฎาคม 2548 และวันที่ 4 สิงหาคม 2548 พบว่านายสุชาติ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุน และผู้จัดการกองทุนรวมของ AJF ได้ลงทุนในตั๋วแลกเงิน PICNI เพื่อกองทุนรวมอยุธยาตราสาร 1/49 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2548 ด้วยการรับซื้อตั๋วแลกเงินดังกล่าวจากกองทุนรวมอีก 2 กอง ภายใต้การจัดการของ AJF ที่มีผู้ถือหน่วยลงทุนรายหนึ่งถือหน่วยลงทุนร้อยละ 99.99 ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมด

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ปรากฏข่าวต่อสาธารณชนอย่างชัดเจนว่า ก.ล.ต.ได้มีคำสั่งให้ PICNI แก้ไขงบการเงิน และจัดให้มีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) แต่นายสุชาติยังคงใช้งบการเงินปี 2547 ของ PICNI ที่ยังไม่ได้แก้ไขในการทบทวนฐานะทางการเงินของบริษัท ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ข้อมูลที่ไม่เพียงพอ ไม่เหมาะสมและเชื่อถือไม่ได้ และยังปรากฏว่าภายหลังการตัดสินใจลงทุนเพียง 1 วัน ที่ประชุมคณะกรรมการลงทุนของ AJF ซึ่งมีนายสุชาติเป็นประธานก็ได้มีมติให้ผู้จัดการกองทุนเข้าพบผู้บริหารระดับสูงของ PICNI โดยเร็วที่สุด เพื่อประเมินฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของ PICNI

ดังนั้น การลงทุนดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความระมัดระวังและรอบคอบในการใช้ข้อมูล การกระทำของนายสุชาติข้างต้นถือว่ามีความบกพร่องในหน้าที่ คือไม่ได้ใช้ข้อมูลที่เพียงพอและมีหลักฐานที่สามารถอ้างอิงได้ อันเป็นการกระทำผิดมาตรฐานการปฏิบัติงานของผู้จัดการกองทุนรวม ตามที่กำหนดในประกาศที่ สน. 43/2544 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้จัดการกองทุนรวม ลงวันที่ 28 กันยายน 2544 ข้อ 9 (2) ก.ล.ต. จึงเห็นสมควรให้มีการลงโทษสั่งพักนายสุชาติจากการเป็นผู้จัดการกองทุนรวมเป็นเวลา 6 เดือน

แต่เนื่องจากก่อนการพิจารณาของ ก.ล.ต.จะแล้วเสร็จ นายสุชาติได้ขอคืนการได้รับความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนรวม มีผลตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2548 ดังนั้น ก.ล.ต. จึงได้บันทึกพฤติกรรมดังกล่าวไว้เป็นประวัติ ซึ่งหากนายสุชาติจะยื่นขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในตลาดทุน ก.ล.ต.ก็จะปฏิเสธไม่ให้ความเห็นชอบเป็นเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2549

ภายหลังจากที่ ก.ล.ต.ได้เข้าตรวจสอบระบบการปฏิบัติงานภายในของบริษัทในเวลาต่อมาพบว่า ได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปโดยเหมาะสมแล้ว อนึ่ง ปัจจุบัน PICNI ได้ชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงินให้แก่กองทุนรวมอยุธยาตราสาร 1/49 ครบถ้วนแล้ว

13 มีนาคม 2550 ก.ล.ต.สั่งภาคทัณฑ์อดีตผู้จัดการกองทุนและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บลจ.ยูโอบี และเปรียบเทียบปรับ บลจ.ยูโอบี

ก.ล.ต.ลงโทษภาคทัณฑ์นางสาวณัฐชยา เจริญธนกฤต อดีตผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และนายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ไทย) จำกัด เป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2550 และเปรียบเทียบปรับ บลจ.ยูโอบี เป็นเงิน 1,159,375 บาท หลังตรวจพบว่า มีการช่วยเหลือให้เจ้าของเดิมของอสังหาริมทรัพย์ในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง เฟิสท์ สตาร์ ใช้นอมินีถือหน่วยลงทุนแทนตนในการหลีกเลี่ยงเกณฑ์การถือหน่วยไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่ออกและเสนอขายแล้วทั้งหมด เพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

สืบเนื่องจากการตรวจสอบกองทุนรวม เฟิสท์ สตาร์ (ปัจจุบันเลิกกองไปแล้ว) ซึ่งเป็นกองทุนภายใต้การจัดการของ บลจ.ยูโอบี ก.ล.ต.พบพฤติกรรมการใช้บุคคลอื่นถือหน่วยลงทุนแทนเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เดิม เพื่อหลีกเลี่ยงถือหน่วยลงทุนเกินกว่าหนึ่งในสาม ซึ่งเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนประกาศที่เกี่ยวข้อง โดย ก.ล.ต.ตรวจพบพฤติกรรมดังนี้

1.ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายของกองทุนดังกล่าวนำหน่วยลงทุนของตนไปจดจำนำกับธนาคารพาณิชย์เพื่อเป็นประกันหนี้วงเงินสินเชื่อทุกลักษณะหนี้ให้กับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เดิม และแม้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหน่วยลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุนรายใหม่ทุกรายก็ยังคงจำนำหน่วยลงทุนของตนเพื่อเป็นประกันหนี้สินให้กับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เดิมต่อไปอีก และ

2.ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายมีหนังสือมอบอำนาจและหนังสือยินยอมให้โอนเงินปันผลทั้งหมดให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์เดิม และเงินดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกนำไปชำระคืนภาระหนี้ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เดิม

ก.ล.ต.จึงลงโทษโดยภาคทัณฑ์นางสาวณัฐชยา ผู้จัดการกองทุนในขณะนั้น และนายวนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี เป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2550

นอกจากนี้คณะกรรมการเปรียบเทียบยังได้ปรับ บลจ.ยูโอบี เนื่องจากระบบการตรวจสอบเพื่อป้องกันปัญหานี้ยังไม่เพียงพอ เป็นจำนวนเงิน 1,159,375 บาท และ ก.ล.ต.ได้สั่งการให้บริษัทแก้ไขระบบงานดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบในเวลาต่อมาพบว่าบริษัทได้แก้ไขให้เป็นไปโดยเหมาะสมแล้ว

และสุดท้ายเมื่อวันที่14 กุมภาพันธ์ 2555 ก.ล.ต. ได้พิจารณาลงโทษเพิกถอนนายมาริศวน์ ท่าราบ (ชื่อเดิมนายมาริษ ท่าราบ) และนายบุริม ชมภูพล จากการเป็นผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ โดยกำหนดระยะเวลารับพิจารณาคำขอความเห็นชอบครั้งต่อไปเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 เนื่องจากพบว่าปฏิบัติงานบกพร่องอย่างร้ายแรงในการจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที ยู โดม เรสซิเดนท์เชียล คอมเพล็กซ์ (TU-PF) เป็นเหตุให้กองทุนดังกล่าวและผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับความเสียหายอย่างมาก

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่านายมาริศวน์ และนายบุริม ซึ่งทำหน้าที่ผู้จัดการกองทุน ที ยู โดม ในช่วงปี 2549-2552 และ 2551-2552 ตามลำดับ ทำการปกปิดอำพรางการทำธุรกรรมซึ่งขัดกับกฎหมายและเงื่อนไขการลงทุนที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุน ไม่วิเคราะห์ต้นทุนและประโยชน์ที่ได้รับของแต่ละทางเลือกก่อนตัดสินใจปรับเปลี่ยนแบบการก่อสร้าง คัดเลือกบริษัทเข้ามาดำเนินงานก่อสร้างอย่างไม่โปร่งใส ไม่ตรวจตราทรัพย์สินให้ครบถ้วนก่อนรับมอบจากผู้ให้เช่า รวมทั้งไม่จัดให้มีเอกสารหลักฐานหรือสัญญาเพื่อให้สามารถตรวจสอบความเหมาะสมของการทำธุรกรรมและเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับกองทุน

นอกจากนี้ ยังพบว่านายมาริศวน์ ได้อนุมัติการจ่ายเงินของกองทุนอย่างไม่สมเหตุผล และเงินดังกล่าวถูกโอนต่อให้แก่นายบุริม ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุน โดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนเหตุในการรับเงิน การกระทำดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง และมีการบริหารจัดการกองทุนที่หละหลวม ซึ่งผิดวิสัยของผู้ประกอบวิชาชีพพึงกระทำเป็นอย่างมาก และทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของกองทุนเป็นอย่างมาก

โดยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2554 บริษัทจัดการได้พิจารณาจ่ายเงินชดเชยความเสียหายเนื่องจากการกระทำข้างต้นให้แก่กองทุน ที ยู โดม เป็นเงิน 100 ล้านบาทแล้ว

ก.ล.ต. จึงได้ลงโทษนายมาริศวน์ และนายบุริม โดยการเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน และจะรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ซึ่งรวมถึงกรรมการและผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ ครั้งต่อไปเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 นอกจากนี้ ก.ล.ต. จะพิจารณาดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับบุคคลทั้งสองต่อไป

รายละเอียดข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า ขณะเกิดเหตุนายมาริศวน์ทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทจัดการ พร้อมกับทำหน้าที่ผู้จัดการกองทุน ที ยู โดม ด้วย และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551 บริษัทจัดการได้แต่งตั้งนายบุริมเป็นผู้จัดการกองทุน ที ยู โดม เพิ่มอีก 1 คน โดยในการบริหารจัดการกองทุน ที ยู โดม นายมาริศวน์ เป็นผู้สั่งการและเป็นผู้ลงนามในเอกสารต่าง ๆ ที่มีผลผูกพันกองทุนดังกล่าว และมีนายบุริมเป็นผู้ช่วยดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการกองทุน ที ยู โดม ซึ่งบุคคลทั้งสองได้ทำให้เกิดความเสียหายแก่กองทุนดังกล่าว

สำหรับกลโกงในรูปแบบต่างๆเกี่ยวกับกองทุนคลิกอ่านได้ที่นี่ http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9540000093056


กำลังโหลดความคิดเห็น