xs
xsm
sm
md
lg

มนุษย์หุ้น 2.0 : เรียนหุ้นจากหนัง “October Sky”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ มนุษย์หุ้น 2.0
โดยชัยภัทร เนื่องคำมา
www.cway-investment.com

วัยเด็กเป็นวัยที่เต็มไปด้วยความฝันและจินตนาการ บางครั้งเมื่อเราย้อนกลับไปนึกถึงสมัยเมื่อยังเด็กจะพบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราเคยฝันอยากจะเป็นมากมาย แต่เมื่อโตขึ้นต้นกล้าความฝันเหล่านั้นกลับหายไปตามกาลเวลา สุดท้ายประสบการณ์สอนให้เราจำยอม เลือกที่จะเป็นในสิ่งที่เราคิดว่าดี เหมาะสม ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเป็น อยากทำเสมอไป

ผมเองก็ยังไม่ได้ทำตามฝันในวัยเด็ก เพราะชีวิตมีหลายอย่างต้องรับผิดชอบ การเลือกทำตามความฝันที่ไม่ง่ายจะสำเร็จจึงเป็นสิ่งที่เกิดได้ในชีวิตจริงยาก แต่ผมก็ไม่เคยละทิ้งความฝันเหล่านั้น ผมเลือกจะเก็บในขวดโหลรอวันตกผลึก และรอเวลาที่เหมาะสม เพื่อที่จะได้มีโอกาสทำให้มันเป็นจริงต่อไป

พูดถึงเรื่องความฝันในวัยเด็กในบรรยากาศสัปดาห์วันเด็กแห่งชาติ ผมมีตัวอย่างหนังดีๆ ที่ให้แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตและด้านการลงทุนมาแนะนำกัน ชื่อเรื่องว่า “October Sky”
โฮเมอร์ กับการทดลองทำจรวด
October Sky เป็นหนังเก่าปี 1999 สมัยคุณ Jake Gyllenhaal ยังเป็นหนุ่มละอ่อน เรื่องนี้เก่าแต่คลาสิก เป็นเรื่องที่สร้างจากหนังสือ The Rocket Boys อัตชีวประวัติของ Homer Hickam นักวิศวกรอวกาศของนาซา (NASA) เนื้อหาเรื่องราวของกลุ่มเด็กหนุ่มไฮสกูลในเมืองโคลวูด เมืองที่เป็นแหล่งทำเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย

โคลวูดเป็นเมืองชนบทไกลปืนเที่ยงของรัฐที่ประชากรส่วนใหญ่หลายรุ่นต่างมีอาชีพทำเหมืองถ่านหินเป็นหลัก ผู้ชายเกือบทุกคนมีอาชีพเป็นกรรมกรในเหมืองถ่านหิน
โฮเมอร์ และพองเพื่อนกลุ่ม Rocket Boys
ด้วยความยากจนทำให้ไม่มีทางเลือกต้องเข้าไปทำอาชีพเสี่ยงตาย อันตรายจากการระเบิด การถล่ม และทำงานในสภาวะแวดล้อมเลวร้ายใต้ดิน เพื่อแลกกับค่าแรงมาเลี้ยงปากท้อง ยังไม่นับรวมสภาพแวดล้อมของเมืองที่เสียหายจากถ่านหิน การปนเปื้อนของสารตะกั่วในน้ำ ฝุ่นของถ่านหิน และอื่นๆ

ชาวเมืองจำนวนไม่น้อยป่วยเป็นมะเร็งและโรคทางเดินหายใจ สิ่งที่เกิดในโคลวูดทำให้ เด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ไม่ต้องการใช้ชีวิตแบบนี้อีกต่อไปลุกขึ้นทำตามความฝัน ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อจะออกไปยังเมืองแห่งนี้

โฮเมอร์ กับกลุ่มเพื่อนมีโอกาสได้เห็นการปล่อยจรวดดาวเทียมสปุตนิกของโซเวียตขึ้นสู่อวกาศ ทำให้เขามีแรงบันดาลใจอยากที่จะทำจรวดบ้าง ทำให้รวมกลุ่มกับผองเพื่อน โอเดล, ลี รอย และเควนติน เพื่อนร่วมโรงเรียนทำโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างจรวดแรงดันต่ำเข้าประกวด โดยมีครูไรลีย์ให้ความช่วยเหลือเรื่องหนังสือและตำราคณิตศาสตร์และฟิสิกส์
ครูไรลี่ย์
เขาลองผิดลองถูกหลายครั้งกับเพื่อน ทั้งเรื่องการประกอบระเบิด การออกแบบตัวจรวด การคำนวณการโคจรเพื่อให้ได้แรงขับดันมากๆ และทยานขึ้นไปในระดับความสูงที่ชนะแรงโน้มถ่วงโลก หลายครั้งผลการทดลองทำให้เกิดความเสียหาย เช่นทำให้รั่วบ้านระเบิดไฟไหม้ เกือบทำให้คนงานเหมืองได้รับบาดเจ็บ

จนพ่อออกสั่งห้ามให้เลิกทำจรวด โดยขนเอาอุปกรณ์ทดลองและวัสดุทำจรวดไปโยนทิ้ง แต่โฮเมอร์ และเพื่อนไม่ยอมแพ้ เขาขึ้นไปใช้ฐานปล่อยจรวดเป็นที่โล่งในภูเขา ต้องทนเดินไปไกลถึง 10 ไมล์เพื่อห่างไกลจากคนและบ้านเรือน

จนสุดท้ายเขาสามารถปล่อยจรวดขึ้นฟ้าได้เป็นครั้งแรก และทำให้ชาวเมืองหลายคนเริ่มที่จะเห็นแววของเด็กกลุ่มนี้ โดยเฉพาะพ่อของเขาที่เป็นผู้จัดการเหมือง ผู้ที่ต่อต้านความคิดการทำจรวดเพราะมองว่าเป็นเรื่องอันตราย และต้องการให้โฮเมอร์มารับงานต่อจากเขาในเหมือง

เมื่อผลงานออกมาเป็นรูปร่าง เป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง ครูไรลีย์สนับสนุนให้โฮเมอร์ กับกลุ่มเพื่อน ส่งโครงงานเข้าประกวดระดับโรงเรียน และระดับรัฐ จนชนะได้เข้าไปแข่งระดับประเทศ
พ่อผู้คัดค้านการทำจรวดของโฮมเมอร์ ต้องการให้เขาทำงานในเหมืองเหมือนกับตัวเองและบรรพบุรุษ
โฮเมอร์ตั้งใจมากเพราะเขาไม่ต้องการที่จะเป็นเพียงคนงานในเหมืองถ่านหิน สูดดมฝุ่นถ่านหินไปทั้งชีวิต เขาต้องการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยและไปเป็นวิศวกรทำจรวดให้นาซา ทางเดียวที่จะมีหวังคือการเอาชนะการแข่งขันเพื่อรับทุนการศึกษา (เนื่องจากครอบครัวโฮเมอร์ฐานะยากจน พี่ชายเขาเป็นนักกีฬาได้เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว พ่อจึงไม่มีเงินส่งให้ลูกอีกคนเรียนต่อ)

และแล้วเหมือนเรื่องจะจบด้วยดี แต่อุปสรรคมากมายก็เกิดขึ้นกับทีมร็อกเกตบอย เริ่มต้นจากพ่อของโฮเมอร์ล้มป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ ทางบ้านมีปัญหาเรื่องเงินอย่างหนัก ทำให้โฮเมอร์ต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานที่เหมืองเพื่อหาเงินเข้าบ้านแทนพ่อ แต่เขาก็ยังไม่ยอมแพ้ใช้เวลาว่างทำจรวดกับเพื่อนๆ ต่อ และเมื่อพ่ออาการดีขึ้น เขากลับเข้าเรียนต่อ พร้อมกับปฏิญาณกับพ่อว่าจะไม่มีวันกลับลงไปใต้ดินอีกต่อไป

การปล่อยจรวดครั้งสุดท้ายทำได้อย่างประทับใจชาวเมืองและได้ผลทดลองที่ดีเยี่ยม โดยจรวดของโฮเมอร์ขึ้นสู่ฟ้า พุ่งขึ้นสูงไปไกลหลายไมล์กินเวลาหลายสิบนาที ชาวเมืองต่างมองเห็นและเงยหน้าดูจรวดของเขาที่พุ่งขึ้นท้องฟ้าอย่างตั้งใจ

ทั้งคนงานในเหมือง เด็กนักเรียน หรือแม้แต่ครูไรลีย์ที่นอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล มันเป็นภาพที่สวยงาม ราวกับว่าจรวดนั้นคือสัญญาณของความหวัง การทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา ความกล้าจะเดินตามฝัน นำพาตัวเองออกจากสภาวะแวดล้อมเดิมๆ ที่เป็นอยู่ เป็นฉากที่ซึ้งมากฉากหนึ่งในหนังเรื่องนี้

แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นอีก เพราะวันนั้นตอนเย็นเกิดไฟไหม้ป่าขึ้น ตำรวจสงสัยว่าจรวดที่ตกเป็นสาเหตุให้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ จนเด็กๆ ในทีมต้องถูกจับไปสอบสวน ครูใหญ่ประกาศยกเลิกโครงการจรวด
ต้องพิสูจน์กับตำรวจว่า จรวดของเขาไม่ได้เป็นต้นเหตุของไฟป่า
แต่ด้วยความช่วยเหลือจากครูไรลีย์ และการคำนวณระยะทางตกจากการทดลองทำให้โฮเมอร์สามารถตามหาจรวดลูกสุดท้ายที่ปล่อยเจอในฝั่งตรงข้ามของบริเวณที่เกิดไฟป่า พวกเขารอดพ้นข้อกล่าวหา

แต่แล้วอุปสรรคก็เกิด เมื่อครูไรลีย์ ครูที่ให้การช่วยเหลือมาตลอดต้องล้มป่วยหนักและกำลังจะตายจากโรคมะเร็งที่ลุกลาม (ผลมาจากเหมืองถ่านหิน)
ส่งผลงานเข้าประกวด
สุดท้ายพวกเขาต้องพยายามกันอย่างหนักเพื่อจะเดินทางไปประกวดผลงานระดับประเทศ ด้วยทุนโรงเรียนที่จำกัด ทำให้โฮเมอร์ต้องเดินทางตัวคนเดียวไปประกวด เจออุปสรรคและการกลั่นแกล้ง สุดท้ายโฮเมอร์ก็เอาชนะได้ เขานำความภูมิใจมาสู่เมือง สู่โรงเรียน และครอบครัว แม้ครูไรลีย์จะไม่มีโอกาสได้เห็นความสำเร็จนั้น

ข้อคิดการลงทุนที่ได้จากหนัง

1. มีฝันมีเป้าหมาย

การที่เรายอมทำอะไรตามคนอื่น ใช้ชีวิตไปวันๆ ตามสภาพแวดล้อม ส่วนใหญ่เพราะขาดเป้าหมาย ขาดฝัน ขาดแรงกระตุ้นให้ก้าวเดินไป เรื่องนี้โฮเมอร์แสดงให้เราเห็นถึงเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของเขาชัดเจน ที่เขาฝันคือต้องทำให้ได้ เขาเริ่มต้นหาข้อมูลและศึกษา ตลอดจนเดินตามรอย ดร.วอน บรอน นักวิศวกรของนาซาผู้เป็นต้นแบบของเขา ตลอดจนหาทางเอาชนะการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อจะได้รับทุนและเข้าทำงานต่อใน NASA ทุกอย่างเริ่มต้นจากวันฟ้าใส วันที่เขาเงยหน้ามองจรวดปล่อยดาวเทียมสปุตนิกของโซเวียต

สิ่งสำคัญคือนักลงทุนต้องมีเป้าหมาย แน่นอนว่าทุกคนอยากไปถึงอิสรภาพทางการเงิน เมื่อมีฝันมีเป้าหมาย สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องวางแผน ต้องวางกลยุทธ์ที่จะเดินไปให้ถึง ต้องการทำกำไรสุทธิสะสมปีละกี่เปอร์เซ็นต์ ต้องการลงทุนในหุ้นกลุ่มไหน กระจายความเสี่ยงแบบใดถึงจะได้ผลตอบแทนแน่นอนตามเป้าหมาย (ทุกอย่างต้องมีกลยุทธ์ ไม่ใช่มั่วๆเสี่ยงดวงไปวันๆ ได้ๆ เสียๆ เหมือนแมลงเม่าทั่วไปในตลาด)

สิ่งคำคัญคือ เมื่อมีเป้าหมาย เมื่อลงมือทำต้องไม่ยอมแพ้ถอดใจไปเสียก่อน

2. ใจสู้ไม่ยอมแพ้

ในเรื่องจะเห็นว่าโฮเมอร์เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน พ่อทำงานเพียงคนเดียว ในขณะเดียวกันพี่ชายก็ต้องใช้เงินเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย โอกาสของโฮเมอร์ที่จะเรียนต่อหรือออกไปจากชีวิตกรรมกรเหมืองหลังจบไฮสกูลแทบจะเป็นศูนย์ ยิ่งเมื่อพ่อล้มป่วย ไม่สามารถทำงานหาเงินเข้าบ้านได้ โฮเมอร์ต้องรับภาระแทบทั้งหมด จนต้องออกจากโรงเรียน ทิ้งความฝันเข้าไปทำงานเสี่ยงตายในเหมือง

ข้อจำกัดในชีวิตนี้แหละครับคือแรงขับดันชั้นดีไม่ต่างกับดินปืนในจรวด มันจะสร้างพลัง สร้างแรงขับดันให้เราวิ่งล่าฝันไปอย่างไม่ยอมแพ้ เพราะการแพ้เท่ากับเราล้มเหลวและต้องยอมรับชะตากรรมที่เลวร้าย

ปราชญ์อินเดียคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า การจะประสบความสำเร็จเกิดจากความพร้อม ความมั่งมี ทำให้ทำอะไรก็สำเร็จโดยง่าย หรือไม่ความสำเร็จก็เกิดจากข้อจำกัดอุปสรรคมหาศาล ที่เป็นแรงกดดันให้คนพัฒนาตนเองให้ก้าวผ่านไป ถ้าเราไม่มี ไม่รวย ทุกอย่างไม่อำนวย เราต้องเรียนรู้จะเอาข้อจำกัดมาเป็นพลังให้ก้าวต่อไป

การลงทุนแล้วประสบความสำเร็จ มีกำไรต่อเนื่อง พอร์ตเติบโตในระยะยาวนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องผ่านอุปสรรค ผ่านความกดดันด้านจิตใจ ท้อแท้จากการขาดทุนต่างๆ นานามากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้าเราผ่านมาได้มันจะทำให้เราแข็งแกร่งและอยู่รอดในตลาดหุ้นต่อไปในระยะยาว

3. ลองผิดลองถูก เรียนรู้จากข้อผิดพลาด

การทำจรวดเป็นสิ่งที่ยาก และเป็นเรื่องใหม่สำหรับเด็กไฮสกูลย่านชานเมืองในยุคที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต สิ่งที่โฮเมอร์ กับกลุ่มเพื่อนทำคือการทดลอง ทดสอบเพื่อหาสิ่งที่เหมาะสม ทั้งสัดส่วนของดินระเบิดในการสร้างแรงขับ รูปทรงจรวดและต่างๆ แม้จะอันตราย แต่พวกเขาก็ควบคุมความเสี่ยงในการทดสอบด้วยการใช้การย่อส่วนขนาดเล็กในการทดลองก่อน กว่าจะสามารถปล่อยจรวดขึ้นฟ้าได้ใช้เวลาใช้ทรัพยากรในการลองผิดลองถูกแล้วจดบันทึกข้อผิดพลาดเพื่อปรับแก้และพัฒนาต่อ

ไม่ต่างอะไรจากการลงทุน สิ่งที่นักลงทุนต้องมีคือการเรียนรู้จากความผิดพลาด การได้ทดลองผิดลองถูกจนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง แม้จะยอมเสียเงินอบรมหลายพันหลายหมื่น แต่เชื่อเถอะครับถ้าเราไม่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง ไม่มีทางที่จะพัฒนาศักยภาพได้ เหมือนกับการฟังแต่ไม่ได้ยิน ถ้าลงมือทำเองเลือกหุ้นเอง ซื้อหุ้นเอง ขายหุ้นเอง ทำบ่อยๆ จะเกิดประสบการณ์และจะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดจนมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น

แน่นอนว่าการลองผิดลองถูก ความผิดพลาดอาจจะนำมาซึ่งการเจ็บตัว แต่ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องไปเกรงกลัวมัน สิ่งที่เราต้องทำคือ จำกัดความสูญเสีย (ไม่ต่างอะไรกับการทำจรวด) ในช่วงแรกถ้าเรายังไม่เก่ง ยังมือใหม่ ควรลดขนาดการลงทุนให้เหลือแค่ 10% ของเงินทุนทั้งหมด ทดลองเรียนรู้ ทดลองหาแนวทางระบบการลงทุนของตัวเองให้เจอก่อน ดีกว่าการไปทุ่มแทงใช้มาร์จิ้นเพื่อหวังรวย หวังได้เงินเยอะๆ เร็วๆ ทั้งที่เพิ่งเข้ามาในตลาดหุ้นได้ยังไม่ถึงปี แบบนั้นก็หนีไม่พ้นขาดทุน จิตตก หนีไปพึ่งศาสดา เข้าสู่วัฏจักรแมลงเม่า ไม่สามารถเรียนรู้หรือพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้

ดังนั้นอย่ากลัวความผิดพลาด คนฉลาดคือคนที่เรียนรู้จากมันและไม่ทำผิดพลาดเหมือนเดิมในครั้งที่สอง


กำลังโหลดความคิดเห็น