xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นกองทุนดัง : ฟองสบู่-Fiscal Cliff หุ้นไทยไม่หวั่นยังขึ้นเอาๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ข่าวที่น่าตื่นเต้นในรอบสัปดาห์นี้คงหนีไม่พ้นเรื่องที่ “มาร์ค ฟาเบอร์” กูรูการลงทุนชื่อดัง ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับตลาดหุ้นไทยในปี 2556 ว่า ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นประมาณ 10-20% ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีกว่าการปรับขึ้นมากจนเกินไปที่ 50% เพราะหากโตในระดับดังกล่าวอาจนำไปสู่ปัญหาฟองสบู่ โดยสาเหตุที่ “มาร์ค ฟาเบอร์” คิดแบบนี้ก็คือมีสัญญาณเริ่มต้นของฟองสบู่ก่อนนั้น พิจารณาจากการเข้าไปลงทุนเก็งกำไรในหุ้นช่วงขาขึ้นของนักลงทุนกลุ่มหนึ่ง แต่ตลาดหุ้นไทยเวลานี้เป็นบวกจากการเปรียบเทียบกับภาวะตลาดในปี 2551 และ 2552 ซึ่งเป็นช่วงตลาดหุ้นดิ่งลงแรง โดยตอนนี้“มาร์ค ฟาเบอร์”ได้เริ่มลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นบ้างแล้ว แม้ที่ผ่านมาให้น้ำหนักการลงทุนในไทย

ทางด้าน“มนตรี ศรไพศาล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองว่าตลาดหุ้นไทยยังห่างไกลฟองสบู่ เพราะถ้าดูสินเชื่อเพื่อซื้อหุ้น (มาร์จิ้นโลน) ช่วงปี 2540 ตอนนั้นมีสัดส่วนรวมกันถึง 1.2-1.8 แสนล้านบาท เทียบมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) ของตลาดหุ้นในขณะนั้นซึ่งอยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท ถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ต่างจากปัจจุบันที่มาร์จิ้นโลนทั้งระบบมียอดรวมเพียง 4 หมื่นล้านบาท เทียบกับมาร์เกตแคปที่ 11 ล้านล้านบาท ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

นอกจากนี้ ถ้าดูอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ดี/อี) ของบริษัทจดทะเบียนทั้งระบบในช่วงก่อนปี 2540 ตอนนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 2.1 เท่า และหลังลอยตัวค่าเงินบาท ดี/อี ของบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้เพิ่มมาอยู่ที่ 5.1 เท่า เทียบกับปัจจุบันแล้วบริษัทจดทะเบียนทั้งระบบยังมีค่า ดี/อี เพียงแค่ 1.1 เท่า สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยยังจำบทเรียนในช่วงปี 2540 ได้อย่างดี จึงไม่มีการกู้เพื่อมาลงทุนที่มากเกินไป ดังนั้น ตราบใดที่อัตราการกู้ยืมไม่ได้มากก็ไม่น่ากระทบต่อเสถียรภาพ และความยั่งยืน

ข้ามฟากไปยังอีกซีกโลกกันบ้าง ข่าวที่ออกเหมือนจะสร้างความดีใจให้นักลงทุน แต่ก็ไม่ได้กระตุ้นอะไรมากนักคงหนีไม่พ้นเรื่อง QE 4 หรือ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ ครั้งที่ 4 ขณะเดียวกัน เฟดได้ประกาศใช้อัตราการว่างงานและภาวะเงินเฟ้อมาเป็นเงื่อนไขกำหนดแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต ถือเป็นมาตรการใหม่เอี่ยมที่ไม่เคยทำกันมาก่อน

“เบน เบอร์นันกี” ยังเตือนว่า รัฐสภาและทำเนียบขาวต้องเร่งหาทางคลี่คลายวิกฤตหน้าผาการคลังที่อาจดันเศรษฐกิจอเมริกากลับสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า แม้จะยังไม่ทันเกิดขึ้นจริง แต่แนวโน้มของภาวะหน้าผาการคลังก็ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาคธุรกิจ รวมทั้งการตัดสินใจจ้างงานแล้ว จากการสร้างบรรยากาศของความไม่แน่นอนและการมองโลกแง่ลบ

ขณะเดียวกัน กรีซเองเตรียมผลักดันร่างกฎหมายภาษีฉบับใหม่ โดยกำหนดว่า หากประชากรรายใดมีรายได้ต่อปีรวมแล้วมากกว่า 42,000 ยูโร (ราว 1.68 ล้านบาท) ก็จะต้องยอมจ่ายภาษีให้รัฐในสัดส่วนที่สูงถึง 42% ของรายได้ทั้งหมด ถือเป็นความพยายามล่าสุดของรัฐบาลกรีซในการหารายได้เพิ่มเติมเพื่อลดปัญหาการขาดดุลงบประมาณ และบรรเทาปัญหาหนี้สินของประเทศ โดยความพยายามในการผลักดันร่างกฎหมายฉบับใหม่ด้านภาษีของกรีซมีขึ้นในฐานะส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่รัฐบาลเอเธนส์ทำไว้กับบรรดาเจ้าหนี้ระหว่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินกู้ยืมก้อนใหม่จำนวน 49.1 พันล้านยูโร (ราว 1.97 ล้านล้านบาท) ที่กรีซจะได้รับภายในเดือนมีนาคม ปีหน้า โดยในจำนวนดังกล่าวกว่า 34.3 พันล้านยูโรจะได้รับภายในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ต่างพากันตั้งคำถามถึงความสำเร็จของรัฐบาลกรีซในการรีดภาษีจากประชาชนในครั้งนี้ว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด เนื่องจากในเวลานี้อัตราการว่างงานของประชาชนในประเทศพุ่งสูงแตะระดับ 26% ขณะที่มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนวัยทำงานมีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 7,200 ยูโร (ราว 108,252 บาท) ต่อปีเท่านั้น

กลับมาที่แวดวงกองทุนรวมกันดีกว่า ข่าวที่น่าสนใจนั้นก็คือ ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะออกหลักเกณฑ์การโฆษณา และการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโฆษณากองทุนรวม เพื่อให้นำไปใช้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน และมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่จำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนอย่างแท้จริง โดย ก.ล.ต.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวจนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2555

ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางการเงินทุกประเภท เนื้อหา และรูปแบบของโฆษณาจะต้องมีความเหมาะสม มีข้อมูลที่จำเป็น ครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ ไม่ชี้นำ หรือประกันผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน และมีคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนเพื่อให้ผู้ลงทุนตระหนักถึงความเสี่ยงนั้นด้วย

สำหรับการส่งเสริมการขายนั้น จะต้องไม่จูงใจ หรือเร่งรัดให้ผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนโดยไม่ได้คำนึงถึงข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็น มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับของสมนาคุณอย่างชัดเจน และไม่มีการจับฉลากชิงโชคเพื่อสุ่มหาผู้ที่ได้รับของสมนาคุณ ทั้งนี้ ในการโฆษณากองทุนรวมจะต้องไม่คิดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาจากกองทุนรวม ยกเว้นเป็นการโฆษณาที่ทำให้กองทุนรวม และผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน และห้ามคิดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการขายหน่วยลงทุนจากกองทุนรวม ซึ่งหลังจากนี้ก็คงต้องติดตามต่อว่าแนวทางและประกาศจะออกมาลักษณะใด

มาที่โค้งเกือบสุดท้ายกับคู่หูประหยัดภาษี กองทุน LTF-RMF สักหน่อย ช่วงนี้หลาย บลจ.ก็ส่งโปรดักต์ใหม่ๆ หลากหลายการลงทุนในรูปแบบของกองทุน RMF มาดูที่ บลจ.แรก คือ บลจ.กรุงไทย ส่ง“กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ บอนด์ เพื่อการเลี้ยงชีพ” (KT- BOND RMF )ที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุน (Feeder Fund) ที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ลงทุนในหน่วยลงทุนของ Templeton Global Bond Fund (กองทุนรวมหลัก) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน นโยบายกองทุนรวมหลัก เน้นสร้างรายได้ให้แก่กองทุนในหลากหลายรูปแบบ เช่น ดอกเบี้ยรับ กำไรจากการเพิ่มขึ้นของราคาตราสารหนี้ และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เปิดขายไอพีโอแล้วตั้งแต่วันนี้ถึง 25 ธันวาคม 2555

ส่วน บลจ.ซีไอเอ็มบี ส่ง“กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล พร็อพเพอร์ตี้ อินคัมเพื่อการเลี้ยงชีพ” (CIMB-PRINCIPAL iPROPRM) ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอจากรายได้ที่มาจากค่าเช่า โดยเปิดขายไอพีโอแล้วถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2555


กำลังโหลดความคิดเห็น